วันอังคาร, สิงหาคม ๒๖, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : รายงานไม่ประจำวัน

เช้ามาอีกเช้าฟ้าเทฝนเช่นเช้าก่อนๆ ดั่งเดียวกับตะวันที่หลบหน้าไปเกือบทุกเช้า ราวกับจะไม่มีอะไรใหม่สดให้เชยชม นอกเสียจากใบไม้ใบหญ้าเขียวสด ผมยังไม่ทันหลับ เวลาเช้าก็มาทักทายพร้อมโทรศัพท์นัดหมายงาน ผมมัวอ่านหนังสือ ‘รอบบ้านทั้งสี่ทิศ’ ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เสียเพลิน ฝนหล่นกระทบหลังคาไหลลื่นลงชายบ้าน ชวนให้คิดเห็นเป็นบรรยากาศแบบฝนแปดแดดสี่ของทางภาคใต้ ใช่แล้ว เดือนกว่ามานี้ เมืองริมฝั่งน้ำโขงแห่งนี้มีอารมณ์ฟ้าฝนแดดร้อนอบอ้าวแบบทางใต้เสียราวกับเส้นรุ้งเส้นแวงเปลี่ยนตำแหน่ง อากาศเช่นนี้ทำให้คร้านเสียเกือบทุกอย่าง รวมถึงนัดพูดคุยกึ่งสัมภาษณ์กับปราชญ์เจียงฮายท่านหนึ่งก็อยากจะเลื่อนออกไป
ผมออกเดินไปท่ารถเมล์ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านพักไปกว่าสองกิโลเมตร รถมอเตอร์ไซล์หมดน้ำมันและครั้นจะปลุกใครสักคนให้ไปส่งก็น่าละอาย -เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับผม รวมทั้งการตื่นขึ้นมาสูดอากาศสดชื่นหลังคืนฝนตกหรือคืนไหนก็แล้วแต่ ไอฝนต้องผิวทางและซอกซอยดูอวลอายลอยขึ้นสู่ฟ้าอย่างเนิบช้า ตะวันค่อยๆส่องแดดข้ามโขงมาสู่เมือง เกล็ดทรายรายทางพราวยิ้มรับยามเช้า เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นประจำวันหรอก ผมจึงเดินมุ่งหน้าสะพายย่ามและกระเป๋ากล้องถ่ายรูปด้วยเหงื่อชุ่มกายไปขึ้นรถเชียงของ-เชียงราย หลังจากกินอาหารเช้าและเติมกาแฟให้ร่างกายที่ร้านหน้าตลาดสด รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นอีกมากแม้จะไม่ได้นอนมาทั้งคืน ผมนั่งสังเกตรอบเมืองทั้งสี่ทิศอีกครั้ง ชีวิตต่างดำเนินไปตามทางราวกับสายโขงไหลสู่ทะเล หากเราไม่สังเกตให้ดี บางทีเราอาจจะสูญเสียภาพบางอย่างไป บางทีเราอาจไม่รู้เลยว่า ท่ามกลางรายงานข่าวจากแดนไกลอันมากมาย ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง คนข้างตัวหรือรอบบ้านเราก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน...
ขณะที่อาซิ้มเจ้าของตึกเช่าใกล้ท่ารถเรียกเก็บเงินแม่ค้าขายปลาบนทางเท้าของเทศบาลและได้โต้คารมกับลูกค้าของแม่ค้าปลาอยู่นั้น ผมก็กระโจนขึ้นรถเมล์มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ใกล้ลุ่มน้ำกก ผมคิดดูแล้วระหว่างเรากับสภาพอากาศใครเปลี่ยนไปกันแน่ ไม่มีรายงานประจำวันการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ให้เห็นชัดเลย หากเราไม่สังเกตด้วยตนเอง
ระหว่างทางขณะที่รถวิ่งผ่านหน้าฐานทหารพรานเกิดเสียงดังคล้ายปืนหรือระเบิดของบางสิ่งบางอย่างขึ้น รถเมล์หยุดกึกลงทันที หญิงวัยทำงานสองคนโผตื่นจากหลับด้วยตกใจ คนอื่นๆก็ลุกมองซ้ายขวาเช่นกัน ผมลงจากรถพร้อมกับลูกน้องรถ ปรากฏว่ายางรถล้อหลังเส้นในด้านขวาเกิดระเบิดขึ้น รถยังไปต่อได้และมาเปลี่ยนยางสำรองที่ร้านใกล้สามแยกแห่งหนึ่ง ผมลองนึกเล่นๆ และเผลอพูดกับคนขับออกไปว่า หากเป็นภาคใต้เกิดเสียงระเบิดเช่นนี้ขึ้นจะรู้สึกอย่างไร และผู้สื่อข่าวจะรายงานข่าวอย่างไร?
เรื่องราวระหว่างทางทั้งหมดที่เล่ามานี้ ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายการเดินทางในวันนี้ของผมเลย ผมนัดหมายกับพี่กวีที่เคารพเพื่อมาหาปราชญ์เจียงฮาย ด้วยเหตุผลเรื่องแม่น้ำโขง เราไปหาคุณชรินทร์ แจ่มจิตต์ ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งผลิตมากว่าสิบปีแล้ว หลังจากนั้นจึงพากันไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารริมบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่ง สักพักหลังจากทักทายและถามถึงที่มาที่ไปกันดีแล้ว คุณชรินทร์ก็ระเบิดคำถามตรงมายังเรา-นักศึกษาน้อยเรื่องแม่น้ำโขงว่า รู้ไหมคำว่า แม่น้ำของหรือแม่ของในคำของคนเมืองหรือยวน-ลาวมาจากอะไร
เราทั้งสองตอบไปแทบจะทันทีว่า ไม่แน่ใจ มีหลายที่มา แกบอกว่า หนึ่งจากภาษาที่เขาเรียกว่า ขรนทีน่าจะมีที่มาจากคำเขียนตัวเมืองซึ่งจารึกไว้บนหินที่หนองกระแสหรือทะเลสาบเฮ่อไห่เป็นตัว ‘กะละ’ ซึ่งหากลากหางใส่ก็อ่านว่า กะลอมหรือกรอม หรือขอมได้ด้วย นั่นหมายถึงแม่น้ำของคือแม่น้ำที่ไหลจากทะเลสาบที่มีตัวจารึกว่า ขอม หรือแม่น้ำของคนขอม และขอมนี้แกว่าคือขอมซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ทางใต้ลงมาถูกเรียกว่า กรอมหรือขอมทั้งหมด ขอมมีทั้งขอมดำและขอมอื่นๆ เป็นไปได้ว่า อาณาบริเวณของขอมแต่ก่อนกว้างไกลจากเหนือคือทะเลสาบเฮ่อไห่จนลงใต้ถึงเขมรปัจจุบัน
ข้อมูลเรื่องเล่าความก่อนเกิดเหล่านี้ทำให้ผมตาตื่นทั้งๆที่ยังไม่ได้หลับได้นอนมาเลย แทบจะมองเห็นคำว่า กะละอยู่ตรงหน้า ทั้งๆที่ผมเคยไปเที่ยวทะเลสาบแห่งนี้มาแล้ว ทว่าก็ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน ประการที่สองแกเล่าอีกว่า ในสมัยสุวรรณโคมคำนั้นมีท่าหนึ่งชื่อท่าสวนดอก มีการกรองดอกไว้บูชากันทั้งหมู่บ้าน ท่าสวนดอกนี้คือตำแหน่งแห่งที่ผู้รู้หลายคนระบุว่าอยู่ตรงข้ามเมืองสุวรรณโคมคำ คำว่ากรองในภาษาน่าจะเพี้ยนต่อมาว่า ของ หมายถึงแม่น้ำที่ผ่านเมืองกรองดอกหรือของดอก การอธิบายความหมายประการหลังนี้ไม่แน่ชัดนักต้องศึกษาต่อ แต่ผมว่าในทางการศึกษาแล้ว ยิ่งคำอธิบายความหมายแม่น้ำของหรือโขงยิ่งมากยิ่งเพิ่มความขลังให้แม่น้ำสายนี้
ว่าก็ว่าเถอะเรื่องเกือบทุกเรื่องยิ่งเล่ายิ่งรายงานยิ่งเพิ่มความหมาย และความหมายเหล่านั้นก็ยิ่งห่างจากครั้งแรกที่มันเป็น แม้ผมจะนั่งคิดสืบค้นความหมายมาบนรถถึงเรื่องราวประจำวันนี้ มันก็ยิ่งไกลออกไป และเช่นเดียวกันยิ่งเราสืบค้นเรื่องราวใกล้ตัวเช่นเรื่องแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองมันก็ยิ่งลึกไปไกลจนไม่รู้ที่มาแท้จริงเช่นกัน
เหตุใดหนอเราจึงไม่รู้เท่าทันอะไรเลย เราแทบจะไม่เท่าทันการเปลี่ยนไปของเรื่องราวรอบบ้าน เรื่องในเมือง เรื่องของสถานการณ์ประเทศ แล้วผมจะเขียนรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้อย่างไรดี ยิ่งคิดตามผมยิ่งตาค้างจนกระทั่งฝนตกลงมาในย่ำค่ำแล้วจึงหลับตาลง...
นพรัตน์ ละมุล : เขียน

วันอังคาร, กรกฎาคม ๐๘, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : พญานาคเท่ากับพระเจ้า



“หากวันนี้ไม่มีพระเจ้า ก็คงถึงเวลาแล้วที่เราจะสร้างพระองค์ขึ้นมาใหม่”

วอลแตร์


ใช่แล้ว เคยมีผู้สื่อข่าวฝรั่งถามข้าพเจ้าว่า พญานาคมีจริงไหม


ข้าพเจ้าจึงถามกลับไปว่า แล้วพระเจ้าของคุณมีจริงไหม ถ้าพระเจ้าของคุณมีจริง พญานาคก็มีจริง เหตุที่ข้าพเจ้าถามกลับและตอบเช่นนี้ เพราะให้ค่าในการอธิบายเรื่องราวเหนือธรรมชาติในนามพระเจ้าและในนามพญานาคาว่าเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจหรือเหนือธรรมชาติการรับรู้แบบปกติของมนุษย์ว่า มันเป็นสิ่งเดียวกัน


คำถามเดียวกันนี้ หากข้าพเจ้าถามฝรั่งซึ่งไม่เชื่อในพระเจ้าล่ะ คำตอบและแง่คำการสนทนาจะแตกต่างออกไป


ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้พบปะกับเพื่อนฝรั่งคนใหม่ เขาเป็นช่างศิลป์แต้มเรือนร่างที่เรียกกันว่า แทตทู ดูภายนอกแล้วเขาเป็นพวกสักลายที่ดูน่ากลัวกระทั่งไม่น่าคบเลย เขาเองบอกข้าพเจ้าขณะกำลังนั่งออกแบบลายสักอยู่ริมระเบียงริมโขงว่า เขาไม่กล้าที่จะเดินทางไปในดินแดนแปลกถิ่นมากนัก เขากังวลต่อผู้คนที่เห็นลายสักทั่วตัวของเขา นี่เป็นครั้งที่สองที่เดินทางมาเมืองไทย หมายถึงครั้งที่สองของเมืองริมโขงแห่งนี้ด้วย สำหรับเขาแล้วลายสักเป็นงานศิลปะ


ข้าพเจ้าบอกว่า ในประเทศลุ่มน้ำโขงมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่สักลายตามต้นขา ต้นแขนก็มี เช่น คนลื้อ คนขมุ แต่เป็นการสักในการแสดงความเชื่อ หรือความขลังของคนสัก แต่การสักของคนรุ่นใหม่เป็นแฟชั่น เขาบอกว่าในทางความเชื่อของทั้งคาทอลิกและคริสเตียนแล้ว การสักเป็นมนต์ตราของคนนอกศาสนา พอดีว่าเขาไม่มีศาสนาจึงสักได้ และในข้อเท็จจริง การสักลวดลายแบบดั้งเดิมมีมานานแล้ว ก่อนความเชื่อแบบคริสต์จะเข้ามาสู่ยุโรป เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบมนุษย์โบราณอายุเกือบห้าพันปีบนยอดเขาน้ำแข็ง และที่สำคัญบนเนื้อหนังของเขามีลายสักด้วย


เขายืนยันว่า นี่คือจิตวิญญาณที่สูญหายไปหลังจากคริสต์ศาสนาเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ คนยุโรปเดิมก็เชื่อในจิตวิญญาณที่มีอยู่ในต้นไม้ ก้อนหิน ในป่า ในแม่น้ำ และเป็นพื้นฐานให้คนเคารพธรรมชาติและอาศัยธรรมชาติอยู่ร่วมเพื่อจะสลายไปรวมกับธรรมชาติอีกครั้ง


สำหรับเพื่อนชาวออสเตรียคนนี้แล้ว เขายืนยันว่าสสารต่างๆ ก็มีมิติของจิตวิญญาณด้วย


ข้าพเจ้าบอกว่า ความเชื่อที่คุณเล่ามา มันตรงกับความเชื่อเรื่องผีของคนในลุ่มแม่น้ำโขงเช่น ความเชื่อต่อพญานาค สะท้อนถึงการเคารพในธรรมชาติต่อแม่น้ำสายนี้ เราตั้งคำถามกันต่อว่า แล้วเหตุใด ความเชื่อแบบคริสต์จึงทำให้ความเคารพในความเชื่ออื่นๆ หายไป เขาบอกว่า คริสต์เป็นความเชื่อแบบเอกเทวนิยม จึงไม่มีพื้นที่ให้ผู้นิยมเทวาอื่นๆ หรือผีอื่นๆ แน่นอนว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เราต้องยำเกรงพระเจ้า เราต้องรักพระเจ้า พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่ง ฉะนั้นผู้คนจึงหลงลืมและถูกกระทำให้รักพระเจ้า จนกระทั่งสรรพสิ่งอื่นๆ ไม่มีคุณค่าควรรัก เพราะมันไม่ใช่พระเจ้า นอกจากนี้เรายังแลกเปลี่ยนกันอีกว่า ทัศนะเรื่องมนุษยนิยมและแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบกลไกในยุคใหม่ยิ่งทำให้พื้นที่วัฒนธรรมเดิมหายไปสิ้น รวมทั้งเป็นต้นธารของการทำลายโลกอย่างขนานใหญ่


พระเจ้าไม่มีความสำคัญอีกต่อไป แม้องค์เดียวกัน รากฐานเดียวกันยังทำให้คนรบรากันได้


พระเจ้าของใครก็ของมันแต่ละคนไป การตีความคัมภีร์ก็แตกแขนงเป็นหลายนิกายแยกย่อยมากมาย ถึงที่สุดหลักเหตุผลต่างๆ ในการตีความหมายต่อคัมภีร์หรือหนังสือเล่มหนึ่งก็เข้าไม่ถึงความจริง เหตุผลมากมายสุมรวมกองกันอย่างซับซ้อน


เราเห็นร่วมกันว่า ความสัมพันธ์ของคนกับโลกธรรมชาติแบบเรียบง่ายหายไป โครงสร้างการปกครองของคนกับคน ทั้งในทางการเมืองและศาสนาเป็นปัญหาร่วมสำคัญ อีกทั้งระบบทุนนิยมยิ่งผลักไสให้ไปสู่ความวิบัติ


แล้วเราจะมีทางออกใหม่? ข้าพเจ้าถามเขา


เขาบอกว่า ปฏิเสธทุกอย่างแล้วเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์ตนเองกับธรรมชาติรอบตัวใหม่ หรือไม่ก็กลับไปหาพญานาคของคุณ บางคนก็อาจจะกลับไปหาพระเจ้าที่ให้ค่าป่าไม้ ภูเขาหิมะและธรรมชาติอื่นๆ ของโลก พร้อมๆ กับที่ให้ค่าของคนเท่ากันด้วย เขาเองจะกลับไปศึกษาลายสักโบราณ ความเชื่อต่างๆ ก่อนคริสต์ศาสนาจะเข้ามา


เขาบอกอย่างดีใจว่า ปีก่อนนักโบราณคดีเพิ่งค้นพบพีรามิดที่บอสเนียซึ่งมีอายุมากกว่าพีรามิดในอียิปต์ มันอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา บางทีเราอาจจะพบ...


ดูเหมือนวันนั้น เราสรุปได้เพียงว่า พญานาคก็เท่ากับพระเจ้า และก็ไม่ควรลืมว่า พระเจ้าไม่ควรรวมศูนย์ความเชื่อเพียงองค์เดียว พญานาคก็เช่นกัน ควรแบ่งปันความหลากหลายให้ทั่วกันในแต่ละความเชื่อ อย่างไรก็ดี ไม่ควรลืมความเป็นคนกับโลกธรรมชาติที่รู้กันอยู่ว่า ใกล้จะระเบิดด้วยความร้อนออกมาแล้วในศตวรรษที่ 21


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

วันเสาร์, กรกฎาคม ๐๕, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : ในเนื้อนามนั้น


มีเมืองหนึ่งในอดีตอยู่ทางเหนือเวียงเชียงของขึ้นไปตามลำน้ำโขงชื่อว่า “เมืองกาน” สันนิษฐานว่า เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ของเวียงเชียงของในอดีต ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านเมืองกาญจน์” นามบ้านเกี่ยวเนื่องกับตำนานแม่น้ำโขงเรื่องปู่ระหึ่ง ซึ่งเล่ากันว่าเป็นบรรพบุรุษร่างยักษ์ของคนแถบแม่น้ำโขงที่เชียงของ ดอยต่างๆ คือขี้ไถของปู่ระหึ่ง และในวันที่ปู่ระหึ่งแบกไม้คานเอาถ่านไปขายทางเหนือ ไม้คานก็ได้หักลงที่บ้านเมืองกาน (คนยวนออกเสียงคานเป็นกาน) บ้านนี้จึงได้ชื่อตามไม้กาน (คาน) ต่อมาเมื่ออำนาจรัฐสมัยใหม่สามารถเข้ามาจัดระเบียบการปกครองเมืองชายแดนได้จึงเปลี่ยนชื่อเสียเพราะพริ้งให้ใหม่ว่า “เมืองกาญจน์”

ชื่อนามมีส่วนสำคัญในการเชื่อมระหว่างจิตมนุษย์กับวัตถุ หรือพื้นที่ตัวตนในทางวัตถุ การให้ความหมายชื่อนามจึงมีความสำคัญทั้งในระดับการสื่อสารทางสังคมและในระดับของความเชื่อทางวัฒนธรรม ดูชื่อตัวอย่างของวัตถุที่ปลุกเสกขายกันสนั่นเมืองจนข้ามแดนไปประเทศในแหลมมาลายูอย่าง “จตุคามรามเทพ” หรือชื่อที่สลักใต้รูปปั้นในวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมชาติ มีว่า “ขัตุคามรามเทพ” ชื่ออะไรที่แท้จริงและประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ดูจะไม่สำคัญไปกว่ากระบวนการให้ความหมายและการผลิตซ้ำเพื่อการค้า

กระบวนการสร้างความหมายจึงมีความสำคัญ ชื่อบ้านนามเมืองเองก็มีการให้ความหมาย และเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่อยู่สามลักษณะคร่าวๆ คือ 1)การให้ชื่อความหมายตามสภาพกายภาพ ระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในนิเวศนั้นๆ ของคนในพื้นที่ 2)การให้ชื่อความหมายอิงเหตุการณ์ที่เกิดในอดีต ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสัตว์ หรือธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ลัทธิความเชื่อ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ชื่อเมืองใหญ่จะอิงประวัติศาสตร์ของกษัตริย์แห่งเมืองนั้นๆ เช่น นครศรีธรรมราช ได้ชื่อมาจาก พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช 3)การให้ชื่อความหมายโดยนัยการเมืองปัจจุบัน เปลี่ยนคำใหม่เพื่อการจัดการรวบรวมมวลชนให้อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น การเปลี่ยนจากสยามมาเป็นไทย รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อเมืองหลายเมืองในสมัยต่างๆของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น กุดลิง เป็นวานรนิวาส ในจังหวัดสกลนคร รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อบ้านในยุคสงครามเย็น เช่น บ้านที่มีชื่อ ใหม่พัฒนา, สันติสุข, ร่วมใจ, เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ

การตั้งชื่อจากการอิงอยู่กับนิเวศมาสู่วัฒนธรรมความเชื่อและก้าวสู่การอิงอำนาจในการเมืองการพัฒนาคงไม่สำคัญเท่ากับการใช้ประโยชน์และผลผลิตซ้ำๆ ของมันทางสังคม การเปลี่ยนชื่อประเทศไทยกลับสู่ประเทศสยามจึงไม่ใช่แนวทางอย่างสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาประเทศท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน หากไม่รองรับด้วยวัฒนธรรมการใช้ รวมทั้งมีการใช้คำเหล่านี้แตกต่างกันไปในหลายนัยยะ การไม่สัมพันธ์กับความจริงเชิงประจักษ์ต่อพื้นที่ทางนิเวศแล้วชื่อนั้นก็อาจจะไม่ขลังก็ได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแม้จะเขียนและให้ความหมายดีเลิศเช่นไร หากการนำไปใช้จริงไม่เกิด และไม่เข้ากับนิเวศหรือบริบทสังคมวัฒนธรรม มันก็คือของขลังที่อยู่บนหิ้งนั่นแล

มีชื่อประเทศใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ใช่ว่า คนบ้านเมืองกาน (กาญจน์) จะอยู่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงเพราะถ้อยคำนั้น หากไม่ทำให้ชื่อเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่คนบ้านนั้นสามารถมีส่วนในการสร้างแล้วนำไปใช้ในชีวิตส่วนตัว ในแง่นี้ประสบการณ์ตรงของคนที่ใช้วัตถุปลุกเสกชื่อดังจึงดูเป็นจริงและเข้าถึงง่ายกว่าจนบอกเล่ากันปากต่อปาก และมากปากเสียงขึ้นด้วยสื่อการตลาด ต่อมาจากชื่อความหมายเดิมก็หล่นหายไป ในความรู้สึก เหลือเพียงถ้อยพลังของแต่ละรุ่นซึ่งมุ่งเน้นสู่ความร่ำรวย

เพราะในระหว่างการนำชื่อความหมายไปใช้และผลิตซ้ำด้วยศรัทธาการตลาด ระหว่างทางก็มีการหล่นหายไปจากของเดิมและมีการสร้างความหมายใหม่อยู่เรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไรที่เราจะเท่าทันเนื้อในนามนั้นที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเข้าใจเนื้อแท้ในทางวัตถุชิ้นนั้นด้วย
ในแง่หนึ่งปรากฏการณ์เสื้อเหลือง เรื่อยมาจนถึงองค์จตุคามรามเทพ มันขับเน้นให้เห็นพลังทางสังคมที่อยู่ในยุควิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ กับสงครามไม่มีชื่อในภาคใต้ มันอยู่ที่ว่า แล้วจะนำพลังทางสังคมนี้ไปใช้อย่างไร

นี่ล่ะ คือสิ่งที่องค์จตุคามรามเทพเผยให้เห็น คือความหมายทางความเชื่อศรัทธาอันผูกติดกับการตลาด ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราหรือเศรษฐกิจก็ต้องการศรัทธาความเชื่อแบบเดียวกับเทพเจ้าจตุคามรามเทพมาหมุนให้ไหลผลิตซ้ำต่อไปได้ เพราะรากฐานของเงินคือไสยศาตร์ของการให้ค่าความหมายและอำนาจ การโดนแย่งซีนของกษัตริย์จันทรภาณุ, องค์จตุคามรามเทพ, และขุนพันธ์ จากเงินตรา สุดท้ายจะเหลือเพียงปัจเจกชนกับปาฏิหารย์ในความร่ำรวยโดยโดดเดี่ยว และที่สุดแล้วทุกอย่างมาจากดินก็กลับสู่ดิน ส่วนถ้อยคำความหมายยังคงโลดแล่นต่อไปกับมนุษย์และพร้อมจะกลับมาผสมพันธุ์กับความหมายใหม่ ๆ อีกครั้ง คงเป็นวันเดียวเท่านั้นที่ความหมายแห่งนามและพลังอำนาจของคำจะหายไปคือวันที่มนุษย์สูญสิ้นพันธุ์!

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมองเห็นและใช้ถ้อยคำหรือความหมาย/สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของมนุษย์ด้วยกันเองอย่างรู้เท่าทันได้อย่างไร? แล้วมนุษย์จะไม่แพ้ภัยตัวเอง สงสัยข้าพเจ้าต้องย้อนอดีตกลับไปถามปู่ระหึ่ง เผื่อว่าปู่จะมอบพระให้สักรุ่นที่มองเห็นจิตใจตัวเองและมนุษย์ทั้งมวล!


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ในแผ่นดินพญานาคา : ทองคำ! โอ้… พญานาคาช่วยด้วย!


สามตอนที่ผ่านมาของการพูดถึงในแผ่นดินพญานาคา มีเสียงพรายกระซิบจากเพื่อนๆ และบรรณาธิการว่า ติดท่าทีของเรื่องเล่าแบบวรรณกรรมมากไป (นี่หมายรวมคอลัมน์ส่วนใหญ่ของสานแสงอรุณในปัจจุบันด้วย) น่าจะอรรถาธิบายแบบท่าทีวิชาการบ้าง (นี่ดีน่ะที่ท่านบรรณาธิการยังให้โอกาสอธิบาย) ว่าในแผ่นดินพญานาคานั้นพูดถึงอะไรกันแน่ มันคือเรื่องผีงมงาย อภินิหาร เรื่องเล่าเชิงคติชน ท่องเที่ยวไปตามลำน้ำโขง หรือว่ามันคืออะหยั่ง แล้วมันเกี่ยวกับดุลยภาพในความงามของชีวิตอย่างไร?
ข้าพเจ้าก็เห็นเช่นนั่นเองแล จึงเริ่มพรรณนาแบบวิชาการในพลันนี้แหล่ะ เอาละน่ะ ข้าพเจ้าจะเริ่มแปลงหินในแม่น้ำโขงให้เป็น "ทองคำ" ณ บัดนี้แล้ว
ฝรั่งเขาว่าไว้ว่า ในทางปรัชญา “ก้อนหิน” สามารถเล่นแร่แปรธาตุเป็นทองคำได้ "ก้อนหินของนักปรัชญา" จึงน่าจะไม่ต่างกับก้อนหินธรรมชาติในลำน้ำโขงแห่งพญานาคา นี่พูดแบบจริงจังแล้วน่ะ เพราะอีกฉายาหนึ่งของแม่น้ำโขงถูกกล่าวขานกันว่า "แม่น้ำทองคำ" และในภูมิศาสตร์กายภาพของแม่น้ำสายนี้แล้วมีการร่อนทองกันหลายพื้นที่มาแต่ครั้งอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ -เชียงแสน เชียงของ บ่อแก้ว จนถึงหลวงพระบาง อีกในความหมายหนึ่งของถ้อยคำนี้คือแม่น้ำที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างมหาศาล มีแร่ธาตุมีค่ามากมาย เช่น ในแขวงบ่อแก้วของลาว ด้วยความมีค่าเช่นทองคำเยี่ยงนี้ทำให้เป็นที่หมายปองของคนต่างถิ่นในการเข้าครอบครองอาณาบริเวณของลุ่มน้ำโขงตลอดมา ตั้งแต่ยุคการคลั่งไคล้แม่น้ำโขงของฝรั่งเศส ส่งนักสำรวจมาผจญภัยขีดแผ่นที่แล้วเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม แม้กระทั่งในยุคการพัฒนาสมัยใหม่ด้วยมุมมองความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับวิทยาศาสตร์กลไกผสมพันธุ์กันจนแพร่กระจายไปทั่วไม่เว้นแต่ในหัวของคนท้องถิ่น เกิดการยื้อแย่งทรัพยากรเพื่อขูดรีดต้นทุนนำสู่กำไรสูงสุดทางการค้า "ก้อนหิน" กลางแม่น้ำโขงถูกมองว่าเป็นหินโสโกรกต้องกำจัดทิ้งเพื่อเปิดทางการค้าการลงทุน ก้อนความคิดต่อหินเช่นนี้ฝังอยู่ในสมองของทั้งนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงทุนนิยมอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสังคมนิยมผู้ตื่นจากหลับมาเปิดตลาดเสรีกึ่งควบคุมเช่นจีน
เหตุใดคนต่างถิ่นและคนยุคใหม่แห่งแม่น้ำโขงจึงมองว่า "ก้อนหิน" เป็นเพียงหินโสโกรกต้องระเบิดทิ้ง แม่น้ำเป็นเพียงเส้นทางการค้าและการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า การสำรวจและการวิจัยส่วนใหญ่มักมุ่งหมายสู่การนับกำไรขาดทุนเป็นตัวเลข มองเห็นเพียงคุณค่าทางเศรษฐศาตร์เพียงอย่างเดียว และเป็นเศรษฐศาสตร์ที่บิดเบือนเสียด้วย แล้วทำไมคนพื้นถิ่นดั้งเดิมอีกทั้งผู้คนที่ยังใกล้ชิดหาอยู่หากินกับแม่น้ำของ(โขง) มองว่า "ก้อนหิน" เป็นบ้านของปลา เป็นวังของพญานาค และแม่น้ำทั้งสายเป็นแม่ (ไม่งั้นจะเรียกว่า "แม่" นำหน้าน้ำไปทำไม?)
เหตุใด อุ้ยเสาร์ ระวังศรี -พรานปลาแห่งคอนผีหลงของเมืองเชียงของ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการหาปลามากว่าครึ่งศตวรรษ จึงกล่าวว่า "หากระเบิดแก่งในแม่น้ำของ(โขง)ออกไปก็มีค่าเท่ากับการที่เราฆ่าแม่ของเราเอง!" ถ้อยคำเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสุนทรพจน์ของหัวหน้าเผ่าอินเดียแดง ในมลรัฐวอชิงตัน ที่ว่า "…โลกคือแม่ของเรา ความวิบัติใดๆที่เกิดขึ้นกับโลก ก็จะเกิดขึ้นกับเราด้วย หากมนุษย์ถ่มน้ำลายรดแผ่นดินก็เท่ากับมนุษย์ถ่มน้ำลายรดตัวเอง…"
ความแตกต่างของรากความคิดเช่นนี้อธิบายได้ว่าอย่างไร? ทางหนึ่งว่าก้อนหินเป็นทองคำแห่งชีวิต ทางหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ข้าพเจ้าจะลองแปลความดูตามสติปัญญาอันน้อยนิด โดยจะเริ่มเล่นแร่แปรธาตุจากเรื่องลึกลับเพราะศาสตร์ชนิดนี้มักถูกมองเป็นไสยศาสตร์เช่นเดียวกับที่หลายผู้คนมองแม่น้ำโขงว่า "ลึกลับ"
มุมมองของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่เชื่อว่า แม่น้ำโขงมีผู้สร้างคือพญานาค รวมตลอดไปทั้งแม่น้ำสาขาก็เชื่อว่า นาคเป็นผู้ขุดควักแม่น้ำขึ้น รวมทั้งเหล่าพลนาคทั้งหลายเป็นผู้ช่วยสร้างบ้านแปงเมือง กล่าวกันในทางมนุษยวิทยาแล้วนาคคือคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีส่วนในการผสมผสานวัฒนธรรมกับผู้มาอพยพมาใหม่ พญานาคในความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงมักอาศัยอยู่ในวังน้ำลึก โดยในทางนิเวศแล้วที่ซึ่งมีวังน้ำลึกวนไหลเชี่ยวจะมีแก่งหินขนาดใหญ่อยู่ด้วย และยังเชื่อกันอีกว่าก้อนหินใหญ่เหล่านั้นคือที่อยู่ของพญานาคด้วย คนลุ่มน้ำโขงจึงมีประเพณีการไหว้ผีน้ำ เพื่อระลึกคุณของน้ำและธรรมชาติ ผีน้ำหรือนาคนั้นกล่าวได้ว่าเป็นความเชื่อของชาวน้ำหรือในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ ก็มีพวกที่เรียกว่า นาควารี ความเชื่อต่อน้ำหรือนาคนี้เป็นความเชื่อส่วนใหญ่ของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในอุษาคเนย์ก็ว่าได้ (บางแห่งว่าพญานาคาเป้นเทพเจ้าแห่งฟ้า)
กล่าวโดยสรุปแล้วพญานาคมักมีสถานภาพในการอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา เป็นผู้เชื่อมระหว่างโลกและจักรวาลผ่านบันไดสายรุ้ง เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ของแผ่นดินเช่นงูใหญ่ (ในความเชื่อของอินเดีย กรีก อียิปต์และทางวิทยาศาสตร์มักสันนิฐานว่า เป็นงูใหญ่) ในทางพุทธศาสนาแล้วนาคเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพระพุทธศาสนา แต่โดยพื้นฐานแล้ว นาคคืองู หรือเงือก หรือผีเงือกของคนเมืองเหนือ(โยน) มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับนาค นาคเกี่ยวเนื่องกับการสร้างและการทำลายด้วย เป็นภาวะที่เหนือธรรมชาติ แม้จะโดยพื้นฐานแล้วน่าจะเริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องงู
คำอธิบายถึงพญานาคมีส่วนคล้ายและเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของน้ำ ด้วยน้ำในทางสสารแล้ว (ในทางวิทยาศาสตร์คือ H2O ไม่มีจิตวิญญาณ แต่ในทางการเล่นแร่แปรธาตุแล้ว สสารมีจิตวิญญาณด้วย) มีอยู่หลายสถานะ และข้าพเจ้าเห็นว่าน้ำเป็นแบบอย่างรูปธรรมของความคิดวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม คือได้พูดถึงจิตวิญญาณและจินตนาการไปพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปรของสสาร ปฏิบัติการของน้ำมีอยู่ทั้งของเหลว ไอ ของแข็ง มีทั้งการส่งผ่านจากสิ่งที่มองเห็นไปสู่สิ่งที่มองไม่เห็น จากหยาบไปสู่ละเอียดอ่อนและจากละเอียดอ่อนกลายเป็นสสารที่หยาบ กล่าวได้ว่า การมองน้ำเป็นนาคคือการพูดถึงองค์รวมของชีวิตธรรมชาติจักรวาลในฐานะองค์ระบบขนาดมหึมา เป็นการพูดถึงน้ำในฐานะสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับนาค ก้อนหิน และธรรมชาติ
การมองธรรมชาติ โลกและจักรวาลของคนลุ่มน้ำโขงเดิมจึงไม่ใช่การมองว่า โลก ธรรมชาติเป็นกลไก แยกย่อยแบ่งซอยแบบวิทยาศาสตร์กลไกที่ตายแล้ว แต่มองเห็นถึงเอกภาพในความหลากหลายของโลกผ่านความเชื่อเรื่องนาค กล่าวคือ “ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวคือทั้งหมด (All is One and One is All)” และนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายผ่านกระบวนการของถ้อยคำที่ว่า “ก้อนหิน” มาประกอบสร้างเป็นทั้งหมด เป็นทองคำในทางปรัชญา เป็นชีวิตดั่งแม่น้ำโขงของอุ้ยเสาร์ เป็นโลก เป็นธรรมชาติ และเป็นจักรวาลของเรื่องเล่าชิ้นนี้หรือชิ้นหนึ่งใดก่อนหน้า...
เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องถามข้าพเจ้าอีกหรอกว่า พญานาคมีจริงหรือไม่? ข้าพเจ้าเพียงแค่จะบอกว่า การพูดถึงในแผ่นดินพญานาคาเป็นการพูดถึงระบบทั้งหมดของโลก แผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ และจักรวาลอันมหึมา ในฐานะสิ่งมีชีวิต กายภาพ จิตวิญญาณ เช่นเดียวกับมนุษย์ ข้าพเจ้าเพียงอยากมองเห็นดุลยภาพของเม็ดทรายเล็กๆ ก้อนหนึ่ง ใบหญ้าเขียวสดใบหนึ่ง พร้อมกับที่มองเห็นป่าทั้งป่าและโลกทั้งโลกในพร้อมกัน! ทันทีทันใด! และต่อเนื่อง...
โอ้… พญานาคช่วยด้วย! ข้าพเจ้าหวังมากไปหรือเปล่า?


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

อ้างอิง
ส. พลายน้อย. 2539. พญานาค. กรุงเทพฯ : น้ำฝน. สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2546. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มติชน
Peter Marshall. 2001. Philosopher's Stone The Wedding of Alchemy and Ecology (“Resurgence”July-August 2001). สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง. ก้อนหินของนักปรัชญา : การแต่งงานของนิเวศวิทยากับการเล่นแร่แปรธาตุ. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม ๐๓, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : รอยยิ้มของพญานาค

เดือนเพ็ญลอยเด่นแทรกอยู่ระหว่างหมู่เมฆยามเย็น ละอองฝนปลายฤดูยังไม่ขาดสาย ลมหนาวมาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านริมฝั่งโขงช้ากว่าปีกลาย เสียงน้ำไหลถะถั่งแรงจนดูราวกับว่าจะพัดเอาเงาจันทร์กลืนจมหายไปใต้บาดาล คุณรู้ว่า หากมองให้ลึกจากแผ่นจันทร์บนผิวน้ำสู่ห้วงลึกอันสุดหยั่งถึงในฤดูกาลนี้ ตั้งใจสดับฟังเสียงน้ำและเสียงผู้คนกับธรรมชาติโดยรอบ คุณอาจจะได้ยินเหล่าพญานาคเริ่มขึ้นมารับเครื่องบูชาในคืน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑…
ภาพและเสียงเช่นนี้มีน้อยคนในปัจจุบันที่จะสัมผัสรู้ ถูกมองว่าเป็นเรื่องเก่าคร่ำครึ แทบจะหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เลย หากจะอธิบายในทางเรื่องเล่า มันก็เป็นได้แค่บุคลาธิษฐานหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกมากมายที่ชักชวนครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ไปนั่งดูแม่น้ำโขงในเขตโพนพิสัย จ।หนองคาย ทุกวันเพ็ญเดือน ๑๑
คุณว่าเขาจะเห็นภาพเหล่านี้ไหม หรือว่าเขาไปดูอะไรกัน?

คุณนั่งอยู่ตรงบันไดท่าน้ำใต้พุ่มต้นเสี้ยว ในขณะที่ความงามแสนประหลาดเหลือจะกล่าวของพริ้วแผ่นน้ำกระทบแสงจันทร์ คุณเห็นนกปีกขาวไม่ทราบสัญชาติบินตัดลำโขงจากฟากฝั่งหนึ่งมาสู่อีกฟากหนึ่ง แทบจะเป็นวินาทีเดียวกันกับที่ปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายตัดลำน้ำซึ่งไหลเชี่ยวมาสู่ฝั่งที่คุณนั่งอยู่ แน่นอน คุณไม่สามารถระบุสัญชาติของปลาตัวนั้นได้…

ในห้วงยามเดียวกันนี้ บ้านห้วยลึกซึ่งอยู่ริมฝั่งโขง ในเขตอ।เวียงแก่น จ.เชียงรายก็ได้เริ่มพิธีจุดเรือไฟบก(จิเฮือไฟบก) เพื่อบูชาคุณบิดามารดา เสียงเพลงรำฟ้อนดังมาจากเครื่องขยายเสียง บั้งไฟดอกถูกจุดปะทุเป็นยวงไฟสู่ฟ้ามืดแล้วตกลงมาสลายลงดิน เด็กหนุ่มรำฟ้อนรอบดอกไฟนั้น… ผู้คนสองฟากฝั่งมาร่วมแข่งเรือและจุดเรือไฟบกร่วมกัน มันเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานหลายสิบร้อยปีแล้ว ที่สองฝั่งไม่เคยถูกแยกออกจากกัน

คืนพรุ่งนี้คือพิธีจุดเรือไฟน้ำ (จิเฮือไฟน้ำ) ลูกหลานที่ห่างบ้านไปนานได้กลับมาพร้อมหน้า คนต่างถิ่นก็ได้เข้ามาร่วมงานด้วย ชายเฒ่าผู้อาวุโสคนหนึ่งเล่าว่า มีเจ้าพญาแห่งกาเผือกคู่ผัวเมียทำรังอยู่บนต้นมะเดื่อริมฝั่งน้ำฟักไข่อยู่ ๕ ฟอง ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด ไข่แต่ละฟองก็ได้ไหลออกจากรังจนหมด ฟองที่หนึ่งมาตกยังท่าน้ำของพญาแห่งไก่ชื่อ กุกุสันโท แล้วได้เก็บไข่ไปฟักแทน ไข่ฟองที่สองไหลมายังท่าน้ำของพญานาคชื่อโกนาคะมะโน ได้ฟักแทนเช่นกัน ฟองที่สามไหลมาจนพญาแห่งเต่าชื่อกัดสะโปได้เก็บไปฟักแทน ฟองที่สี่ได้พญาแห่งวัวชื่อโคตะโมฟักแทน ส่วนฟองที่ห้าไหลมายังท่าน้ำของพญาสิงห์ชื่อราชสีห์ ท่านจึงนำไปฟักเช่นกัน จากนั้นไข่ทั้งห้าฟองได้ฟักออกมาเป็นมนุษย์ จนออกบวชเป็นพระฤาษีธรรมโพธิสัตว์ แล้วทั้งห้ารูปก็ได้ออกตามหาบิดามารดา แล้วได้มาเจอกันพร้อมหน้า สนทนากันโดยเหตุบังเอิญ ทำให้บิดามารดาผู้อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต้องลงมาเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง

ก่อนจะกลับสู่สรวงสวรรค์ ลูกทั้งห้าจึงได้ขอให้พญากาเผือกประทับรอยเท้าบนหินเพื่อไว้เคารพบูชาในยามระลึกถึง พญากาเผือกจึงได้สั่งลูกว่า เมื่อยามวันเพ็ญเดือน ๑๑ ของทุกปีให้จุดไฟใส่ถ้วยหรือจานวางลงบนเรือไม้ที่แกะสลัก แล้วไหลไปตามลำน้ำ กล่าวจบจึงหายตัวไป…

เรื่องเล่าถึงประเพณีไหลเรือไฟมีแตกต่างกันแต่ละพื้นถิ่นของคนลาวหรือคนสองฟากฝั่งลำน้ำโขง บางความเห็นกล่าวว่า เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพญาพรหม บวงสรวงพระธาตุจุฬามณี ตลอดถึงการระลึกคุณแม่น้ำ และการบูชาพระพุทธเจ้า เรื่องราวเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนการคลุกเคล้ากันทางความเชื่อระหว่างผี ฮินดูและพุทธ ทว่าโดยพื้นฐานแล้วคือการเคารพธรรมชาติซึ่งไม่ได้แยกระหว่างผีหรือพุทธ

เสียงสายน้ำที่ไหลกราดเกรี้ยวเชี่ยวแรง จนขอนไม้ใหญ่เมื่อได้พลัดหลงลงไปกลางน้ำโขงแล้วดูเลื่อนลอยไร้เรี่ยวแรง ดูเหมือนว่า สายน้ำไม่น่าจะทนุถนอมฟองไข่แห่งชีวิตให้ผ่านพ้นขวบวัยสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ได้ ทว่าวิถีแห่งการแบ่งปัน เอื้ออาทร (แม้กระทั่งเด็กกำพร้าก็สามารถดำรงอยู่ได้) ในความหลากแรงของสายน้ำก็ยังความอุดมสมบูรณ์ตามมาด้วย คุณพอจะรู้ใช่ไหม ว่าเรากำลังกล่าวถึงอะไรที่มากกว่าการไหลเรือไฟ หรือการชมบั้งไฟพญานาค หรือมันเป็นอะไรที่มากกว่าปลาหรือนกปีกขาวตัวนั้น…

ก่อนลาจากท่าน้ำริมฝั่งโขง ในคืนพระจันทร์เต็มดวง แม้บางส่วนเสี้ยวจะค่อยๆ ถูกเมฆกลืนหายไป จนราวกับว่าอีกไม่นานดวงแสงจันทร์จะหลบหายไปหลังม่านเมฆ ในขณะที่ฝนกำลังโปรยสายลงมาอีกครั้ง ฤดูฝนแสนยาวนานของปีนี้ทำท่าว่าจะทำให้บ้านเมืองทันสมัยในทางใต้จมอยู่หลายวัน ทว่าสำหรับชาวประมงแล้วพวกเขารู้ว่าหลังจากน้ำลดลงในฤดูหนาวที่จะมาถึงนั้น ย่อมมีฝูงปลาจำนวนมากมายให้เลี้ยงดูชีวิต เพราะแม่น้ำที่คุณมองเห็นนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงร่องแผ่นดินที่มีแม่น้ำไหลผ่านสองฝั่ง ทว่าแม่น้ำมีความหมายมากกว่านั้น…

คุณมองลงไปยังผืนน้ำกว้าง ที่ซึ่งไม่มีดอกไฟโผล่ขึ้นมาจากใต้บาดาล แล้วยกมือพนมขึ้นกล่าวคำขมาและระลึกคุณแม่น้ำเบื้องหน้าซึ่งดูราวกับว่าพญานาคเผยยิ้มรับคุณ!
นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ในแผ่นดินพญานาคา : ผีเงือกของเด็กๆ



ทุก ๆ สิ้นเดือนหรือกลางเดือนจะมีเรื่องราวแปลกพิลึก ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และทีวีอยู่เสมอ ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมก็มีเรื่องพญานาคมาโผล่ที่สมุทรปราการ ในรูปของยอดมะพร้าวมีลักษณะใบและเรือนยอดคล้ายพญานาค แน่นอน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวสำคัญของหนังสือพิมพ์หัวสี และที่แน่ยิ่งกว่านั้นคือมันถูกตีค่าความหมายเป็นตัวเลขหวย!

ผมเดินทางไปหลวงพระบางอีกครั้งเมื่อปลายหน้าร้อนปีนี้ ได้ฟังเรื่องราวพญานาคจากปากของเด็กๆ แห่งบ้านเชียงแมน คนหลวงพระบางและคนลุ่มน้ำโขงบางแห่งเรียกพญานาคในชื่อว่า ‘ผีเงือก’ ฟังดูแล้วมันก็มีเหตุผลที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

ผมกับเพื่อนข้ามจากฝั่งหลวงพระบางไปยังฝั่งเชียงแมนในเวลาบ่ายแล้ว คนลาวบางคนเรียกว่า ฝั่งไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2484 ยุคสงครามอินโดจีนไทยได้เข้ามายึดพื้นที่นี้คืนจากฝรั่งเศสและตั้งให้เป็นจังหวัดล้านช้าง เราขึ้นฝั่งแล้วสับสนกับทางเดินเก่าที่ไปยังพระธาตุจอมเพชรเล็กน้อย เพราะมีการปรับปรุงถนนและคูน้ำใหม่ เดินผ่านชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ทำเกษตรริมฝั่งและหาปลาส่งไปขายฝั่งหลวงพระบางมาจนถึงเชิงบันไดก่อนขึ้นภู โต๊ะขายปี้หรือบัตรรอเราอยู่แล้ว บัตรนี้ออกโดยนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านและจะนำเงินไปบำรุงพระธาตุกับชุมชน เด็กสามคนเสนอขายดอกไม้เพื่อการไหว้พระธาตุหลังจากซื้อบัตรแล้ว เมื่อเราปฏิเสธพวกเด็กๆก็ยังเดินตามขึ้นมา พระธาตุจอมเพชรตั้งอยู่บนไหล่ภูนางซึ่งมีบันไดทางขึ้นน้อยกว่าบันไดขึ้นพระธาตุจอมพูสี แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตกได้พอควรหากบวกรวมกับแดดบ่ายที่ตั้งดวงตะวันอยู่เหนือภู

เมื่อเลยบันไดขั้นสุดท้าย ผมมองเห็นวิหารเก่าเพียงแวบหนึ่งแล้วหันกลับมามองหลวงพระบาง ในมุมจากอีกฟากฝั่ง แสงบ่ายขับเน้นให้เห็นพระธาตุจอมพูสีงามเด่นอยู่มุมขวา ปากน้ำคานอยู่ซ้ายมือ กลางภาพคือบ้านเรือนของคนหลวงพระบาง มีดอกซอมพอหรือหางนกยูงเหลืองแดงแต้มสลับกับต้นมะพร้าวอยู่ริมฝั่ง เรือข้ามฟากตัดข้ามแผ่นน้ำเป็นร่องคลื่นดูคล้ายงูกำลังว่ายอยู่กลางลำโขง

“อ้าย… ดอกไม้บ่..” เด็กชายที่ตามเรามาถามผม ผมหันกลับไปถามพวกเราอีกต่อหนึ่งก็ไม่เห็นใครสนใจจึงนิ่งเงียบ แต่พวกเขาก็ยังไม่ละ ผมเห็นหญิงชราสองคนเดินออกมาจากวิหารจึงเข้าไปทักทาย เพื่อเปลี่ยนจุดสนใจ แม่ใหญ่ทั้งสองบอกว่า มานมัสการธาตุนี้ทุกสัปดาห์ แกเป็นคนฟากหลวงพระบาง ผมถามว่า ทำไมมาไกลถึงฝั่งเชียงแมน แกบอกว่า มันสงบดี วัดล่องคูนที่อยู่ข้างล่างก็มีที่ให้นั่งสมาธิ เงียบไม่ค่อยมีคนมารบกวน ผมคิดเอาเองว่า คนที่มารบกวนน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวเช่นผมนี้แหละ คุยกันสักพักแกก็ขอตัวกลับ

หลังจากนั้น เด็กชายก็เข้ามาคะยั้นคะยอผมอีกครั้ง ผมจึงซื้อดอกไม้หนึ่งกรวย แล้วชวนพวกเขาคุย ผมถามโน้นถามนี้สารพัด พวกเขาก็ตอบแบบประหยัดคำอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อผมถามว่า ที่หลวงพระบางมีผีเงือกไหม เด็กหญิงคนหนึ่งที่ดูเหนียมอายที่สุดได้แย่งเด็กชายคนนั้นว่า ผีเงือกมีจริงและชอบกินคน โดยเฉพาะเด็กๆ ผมอดอมยิ้มไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ยิ้มหัวเรื่องผีเงือก แต่ยิ้มรับเรื่องผีเงือกที่ปลิวร่วงมาจากปากเด็กเหล่านั้น และดูสีหน้าพวกเด็กๆ จริงจังกับเรื่องนี้มาก

พวกเด็กๆ บอกว่า ผีเงือกอยู่ที่ปากน้ำคานแต่ถูกปราบไปแล้ว เดี๋ยวนี้มีที่ปากน้ำอูและลึกลงไปข้างใน ผีเงือกมาจากจีนตามน้ำอูและน้ำโขง เด็กๆ เวลาเล่นน้ำต้องระมัดระวัง ผีเงือกจะเอาไปอยู่เมืองของมัน… เมื่อผมถามว่า รู้ได้อย่างไร พวกเขาบอกว่า พ่อแม่เล่าให้ฟัง

“มีจริงหรือ?” ผมลองถามดู

“จริงแน่ๆ คนที่ไปหาปลาในน้ำของ เคยพบกันเสมอ…” พวกเด็กๆยืนยัน

หลังจากนั้นผมจึงชวนเด็กๆ และพวกเราไปชมวัดล่องคูนและเที่ยวถ้ำสักรินซึ่งลงจากไหล่ภูไปไม่ไกลนัก เด็กชายก็มาสะกิดผมว่า ไม่ไปไหวพระหรือ? ผมบอกว่า ใช่สิ เราไปไหว้ด้วยกันไหม เด็กชายยื่นดอกไม้ที่ขายแล้วให้ผม ผมไม่รับบอกว่าให้เธอไปไหว้พระด้วยกันกับผม เผื่อว่าเราจะได้เจอกันอีก เด็กชายไม่ยอม ผมจึงเข้าไปคนเดียวโดยไม่ได้นำดอกไม้มาด้วย แล้วรีบเดินตามคนอื่นๆ ซึ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว

พวกเด็กๆ นำทางเราไปชมวัดและเที่ยวถ้ำอันฉ่ำเย็น ซึ่งมีพระถูกขโมยไปแล้วบางส่วนจึงทำให้ถ้ำต้องมีประตูเหล็กและมีคนดูแลกุญแจ แน่นอน ก่อนเข้าเราต้องจ่ายค่าบัตรอีกเหมือนเก่า เด็กๆ แย่งกันร้องเพลงสมัยใหม่ของไทยและเล่าเรื่องถ้ำ ความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องผีเงือกที่เล่าแล้วเล่าอีกให้ฟัง แม้ในตอนที่ผมปวดท้องเข้าห้องน้ำเด็กชายก็ยังเป็นคนนำทางที่ดีมาส่งผมถึงห้องปลดทุกข์ เมื่อเราออกจากถ้ำมาแล้ว ผมเพิ่งสังเกตเห็นหญิงฝรั่งนั่งสมาธิอยู่ในวิหารปากทางเข้าถ้ำจึงไม่กล้าเข้าไปในวิหาร กลัวจะไปรบกวนสมาธิของผู้แสวงหาจึงเลี่ยงมาด้านนอก แล้วชวนเด็กคุยเรื่องชื่อวัด ชื่อถ้ำ และแน่นอน ผมถามตำแหน่งที่อยู่ของผีเงือกหรือพญานาคอีกครั้ง

“อ้าย… เงินยี่สิบบาทค่าไกด์” เด็กชายยื่นมือมาหาผม พร้อมถามเรื่องเงินค่านำทาง ผมตกใจมากว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกไปว่า เงินอยู่ในกระเป๋านั่นแหละ ดอกไม้นั้นก็เอาไปขายใหม่ได้น่ะ เด็กๆ พร้อมใจกันบอกว่า จะไม่เล่าเรื่องผีเงือกหรือเรื่องอะไรให้ฟังอีก อย่างนี้ไปกับฝรั่งดีกว่า…

เมื่อผมข้ามมาฝั่งหลวงพระบาง นั่งชมพระอาทิตย์ตกดินจากบนพูสีแล้วกลับมานอนนึกย้อนถึงเด็กทั้งสามคน ตื่นเช้ามาหนึ่งในกลุ่มของพวกเราตั้งใจไปตักบาตร แต่ลืมเตรียมของไปจากตลาดเช้าซึ่งก็เป็นความสะเพร่าของผมที่ลืมเตือนก่อนว่า น่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้า เมื่อไปถึงบริเวณหน้าวัดที่ตักบาตรก็โดนแม่ค้าขายข้าวเหนียวและข้าวของสำหรับตักบาตรรุมแย่งกันขายของ คนนี้ว่าอย่าง คนนั้นดึงให้ไปอีกอย่าง คนเฒ่าคนแก่ที่กำลังนั่งรอขบวนพระก็ส่งเสียงมาบอกว่า ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องตักหรอก ซึ่งมันตรงกับใจของพวกเราพอดีเลยว่า หากมากเกินกว่านี้ก็ไม่ได้บุญจึงไม่ต้องตักบาตร…

เมื่อมานึกใคร่ครวญดูดีๆ แล้ว ในหลายๆ ครั้งคนเราทำบุญหรือเซ่นไหว้อะไรสักอย่างก็เพื่อผลตอบแทนบางอย่าง ไม่หวังเป็นตัวเงินก็หวังสุขภายในใจ แท้ที่จริงแล้วพื้นที่ความเชื่อภายในตัวเราต่างถูกอธิบายด้วยชุดเหตุผลอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่า สิ่งนั้นมันจะมีเหตุผล หรือเหนือเหตุผลหรือไม่ ผีเงือกของเด็กๆ อาจจะมีค่าเท่ากับเงินเช่นเดียวกับพญานาคของชาวบ้านที่สมุทรปราการ ทว่าเงินต่างๆ เหล่านั้นก็มีค่าเท่ากับบุญซึ่งในที่สุดแล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน มันขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อในพระ ในผีเงือก ในพญานาคอย่างไรและเพื่ออะไรอีกทีหนึ่ง

นี้คือคำอธิบายที่ผมคิดได้ในตอนนี้ว่า เงินกับผีนั้นมีค่าไม่ต่างกัน และผมกับเด็กๆ เหล่านั้นก็ไม่ต่างกัน เราต่างเป็นมนุษย์บนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกันกับคุณทุกคน…


*[1] น้ำของหรือแม่น้ำโขง

นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ทักทายกันอีกครั้ง

ก่อนอื่นต้องทักทายกันด้วยคำว่า สวัสดีทุกๆ คน
หายไปนานมาก ต้องขอโทษด้วย ว่างเว้นจากภาระอื่นๆ แล้ว
จึงเริ่มบันทึกกันใหม่ มีงานเขียนของ นพรัตน์ ละมุล ซึ่งเคยนำลงในคอลัมน์
"ในแผ่นดินพญานาคา" ในนิตยสารสานแสงอรุณ
เห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาทยอยลงใน blog นี้ ให้ได้ช่วยอ่านกันจ้า
ส่วนเรื่องสารคดีอื่นๆ จะนำลงตามมาเรื่อยๆ
ขอบคุณที่ติดตาม
naga-bookcoffee

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม ๑๘, ๒๕๕๐

เรื่องไม่เป็นข่าว

หมายเหตุ : ขอพักยกจากสารคดีมาอ่านเรื่องสั้นกันเถอะ
...................................................................

ราวกับว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้เรียกให้ผมออกไปจากถ้ำอันเงียบสงบ
ผมจึงปิดพัดลมที่ส่ายใบหน้าให้ความเย็น แต่ด้านหลังมอเตอร์ของมันร้อนแทบจะไหม้ มันไม่รู้หรอก ผมจะออกไปไหน ทว่าก็ถึงเวลาเสียทีที่ต้องออกไป ประตูปิดลงอย่างกังวล กล้าๆ กลัวๆ ที่จะปล่อยให้ใครสักคนไปเผชิญหน้ากับโลกร้อนภายนอก ข้างในอกผมเย็นเยียบขณะลากเท้าสะพายย่ามไปสู่ประตูลิฟต์ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเรียกร้องหาผม? บางทีผมคงคิดเอาเอง มันจะนำพาผมไปสู่อะไรสักอย่าง หรืออาจจะเติมเต็มกระเพาะอันร้อนรนให้เย็นสงบลง
ซอยแห่งภูโพรงสี่เหลี่ยมสูงทอดไปยังจรดถนนใหญ่ ทักทายกันที่นั่นเหมือนผู้คนทั่วไปซึ่งใช้สายตามองเห็นกันแต่ไม่รู้จักกันเลย ร้านขายก๋วยเตี๋ยวสามร้านกับผู้ขายยืนโด่เด่เดียวดายตรงริมถนน สามแยกของโลกซอยนี้ร้อนมาทั้งวัน ร้านขายหมูปิ้งซึ่งไฟถ่านคุย่างหมูจนเยิ้มหยดส่งคาร์บอนไดอ็อกไซด์ขึ้นไปรวมกับหมู่เมฆและตรึงท้องฟ้า ร้านส้มตำแกล้มปีกไก่ทอดเร่งไฟแก๊สจนน้ำมันเดือดปุดแตกไอ เหมือนกับเหงื่อของแม่ค้าชราทั้งสอง
น่าจะมีร้านโลตัสกับร้านเซเว่นเพียงสองแห่งเท่านั้นที่อากาศเย็นตลอดวันคืน หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ามีความเยือกแข็งบรรจุมาแล้วตั้งแต่แรกครั้งสร้างโลก ทั้งสองร้านตั้งเผชิญหน้ากันจนราวกับอาการของคนควันออกหู ผมคะเนไม่ได้ว่าหนังสือพิมพ์ร้านไหนจะมีเสน่หากว่ากัน แม้มันจะเป็นฉบับเดียวกัน ข่าวเดียวกันก็เถอะ นอกเสียว่าใครจะยิ้มให้ก่อน อย่างน้อยจะได้ทำให้อากาศภายนอกเย็นลงอีกนิด
ฉับพลันฝนก็ตก ไม่มีลมพายุนำพามาก่อน ราวกับความร้อนของแผ่นโลกซึ่งกำลังลุกไหม้ท้าทาย มันจึงตกลงมาให้สาสม เพื่อต้องการดับไฟนรก นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่อีกด้านของสิ่งหนึ่งก็อยู่อีกด้านของสิ่งหนึ่ง แต่ทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนกับผมที่ร้อนอกขึ้นมา เมื่อพบว่า ทั้งร้านโลตัสและร้านเซเว่นไม่มีหนังสือพิมพ์ที่จะล้วงเอาเงินในกระเป๋าอันน้อยนิดของผมได้
ผมถูกความเย็นแบบขั้วโลกเหนือ-ใต้ของร้านสะดวกซื้อทั้งสอง ผลักให้มายืนมองสายฝนเย็นฉ่ำคลุกเคล้าไอร้อนบนถนน ยวดยานเพ่งไฟตาแดงเหลืองแล่นย่ำน้ำกระจายสาดใส่รถเข็นแม่ค้าชรา ทั้งสองยืนนิ่งราวกับประหลาดใจที่ฝนตกลงมา หรืออาจเป็นไปได้ว่า หลังจากลุกลนเอาแผ่นพลาสติกปิดอาหารแล้วก็รอคอยลูกค้าอย่างใจเย็น
แม่ค้าชราร่างเล็กบางวิ่งเข้ามาใต้ชายคาอาคารที่ผมยืนอยู่
“แดดร้อนมาก แล้วฝนก็ตกลงมาอีก...”
แกคงจะพูดกับผม หรือไม่ก็ระบายไฟคับอกออกมาบ้าง
“ร้อนแล้งจัด แล้วตกหนักจนท่วม...” แกว่าต่อ
เมื่อมองดูทั่วทั้งบรรยากาศของปากซอยและริมถนนใหญ่ใกล้ๆแล้ว มีร้านค้าขายอาหารอยู่แปดร้าน แต่มีคนที่อาจจะเป็นลูกค้าได้เพียงผมคนเดียว ไม่แน่แกอาจจะพูดกับผม
ผมไม่กล้าเอ่ยอะไรออกไปกลัวความวังเวงในสายฝนบริเวณนั้นจะทำให้ความสับสนวุ่นวายเข้าสิงสู่ แกกล่าวต่อว่า “...อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ฝนตกแล้วน้ำท่วม น้ำท่วมแล้วฝนแล้งยาวนาน ในปีเดียวเท่านั้นเอง...”
สุดวรรคนี้แบบไม่เว้น แกก็จู่โจมผม
“อยู่บ้านไหน?”
แกคงหมายถึงว่ามาจากจังหวัดไหน อาจเป็นเพราะลักษณะมนุษย์ถ้ำแบบผมที่ออกมาจากโพรงเมื่อไรก็ต้องมีย่ามเวทมนต์เป็นเพื่อน ราวกับแกได้กลิ่นชนบทในย่ามผม
“พักอยู่ข้างในนั้น...” ผมบอก แล้วชี้ไปยังโพรงชั้น 5
“แม่ใหญ่อยู่ไส?” ผมรุกคืนบ้าง
แกพูดภาษากลางอย่างชัดเจนจนได้กลิ่นปลาแดกออกมาจากไรฟัน
“ซอยเกล้า...”
แกเงียบไปนาน ราวกับนิ่งมองสายฝน ขณะรถเครื่องสกูตเตอร์เข้ามาเทียบหน้ารถเข็นของแก แม่ค้าชราอีกคนหายไปในม่านฝนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ เหลือเพียงรถสองคันจอดเทียบกันคอยต้อนรับลูกค้าแทน
“จะเปลี่ยนแปลงจากหน้าไหนไปหน้าไหน จะหน้ามือเป็นหลังตีน จะประชาธิปไตยหรือรัฐประหาร เฮาก็เป็นหนี้เหมือนเดิม จนหมดไม่เหลืออะไร...” เหมือนว่าเสียงแหบสั่นพร่านั้นออกมาเอง โดยที่แกไม่ได้เปิดปากขยับฟัน ยิ่งใบหน้ายังเฉย นิ่งมองรถเข็นถูกพายุกระหน่ำราวกับโลกต้องการให้น้ำท่วมในวันนี้
ทีแรกผมนึกว่าผู้ชายร่างเล็กลงจากสกูตเตอร์มาซื้อของ ทว่าผมนึกผิดกลับด้าน หลังจากถอดเสื้อกันฝนออก เขากลายร่างเป็นผู้หญิงที่มีใบหน้าแห้งแล้ง แม่ค้าที่คุยอยู่กับผมก้าวออกไปอย่างช้าๆ ราวกับไม่รู้สึกดีใจที่รถเข็นขายของสามารถเรียกลูกค้าเองได้ โดยที่แกไม่ต้องเสียน้ำลายสักหยด
ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า บางทีหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคงเพรียกหาให้ผมออกจากถ้ำ เพื่อมาพบสิ่งมหัศจรรย์ วัตถุขายตัวเองได้โดยไม่มีผู้ขาย บางทีข่าวในหนังสือพิมพ์ก็ขายตัวเองได้โดยไม่มีคำอธิบายหรือไม่มีตัวอักษร เรื่องนี้ก็เช่นกันมันขายของมันเอง เปล่งบารมีของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศหรือสภาพการเมือง...
แม้ค้าชราคนที่คุยกับผมเก็บร่มแล้วเข็นรถฝ่ากำแพงฝนออกไปบนถนน ขณะหญิงใบหน้าแห้งแล้งภายใต้แว่นตาใสขอบทอง เดินเข้ามาชายคาอาคารที่ผมยืนอยู่ แกตรงเข้าไปภายในร้านของชำที่ดูรกร้างใกล้ร้านโลตัส แล้วดึงเก้าอี้ตัวหนึ่งออกมานั่ง พร้อมงัดเอากระเป๋าดีดปังขึ้นมาวางบนโต๊ะ ล้วงเงินขึ้นนับ ต่อมาจึงดึงสมุดรายการขึ้นมาจด แล้วเพ่งสายตาราวกับดวงไฟส่องทางไปยังท้องถนน พร้อมคำรำพึง “ขาดอีกสี่คน มันไปไหนกันหมด เดี๋ยวจ่ายดอกบานแน่”
ผมไม่ทันสังเกตว่าหลังม่านฝนเหล่านั้น พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวและคนอื่นๆ ก็หายไปแล้ว ผมรู้สึกราวกับโลกภายในของผมจับแข็งลงอย่างฉับพลัน มีบางอย่างที่มากกว่ากวักมือให้ผมเดินตากฝนลุยน้ำเปียกโชกไปสั่งก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ กินคลายหนาวเหน็บ ยังร้านฝั่งตรงข้าม และมีเสียงหนึ่งไล่กรรโชกมากับสายลมฝน
“ขายของไปก็ได้แต่ดอกเบี้ย... ดอกฟ้า! ดอกฝนก็จะถล่มลงมาซ้ำเติมกันหรือไงวะ?!”
ผมเหลียวกลับไปมอง ไม่เห็นใครเลยนอกจากรถเข็นเปล่ากับหมูปิ้ง ราวกับเสียงนั้นโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน หรืออาจจะมาจากท่อน้ำเน่าแห่งสำนักข่าวใต้ดิน ผมไม่สามารถเลี้ยวซ้ายหรือขวา ได้แต่ยืนนิ่งแข็งตากฝนอยู่กลางถนน แสงไฟรถส่องทางตรงมาพร้อมแตรแผดก้อง

ขณะเสียวสันหลังวูบราวกับฟ้าจะถล่มลงมาในทันที

'รัตน์ คำพร : เขียน

แนะนำหนังสือ



รวมเรื่อง
(โคตร)
สั้น
“ภาพร่าง
ของความหลับ”


คุณชอบอ่านหนังสือประเภทไหน? เบาบางอย่างไร้สาระ หวานปนเศร้า
อย่างงานเกาหลี หรืองานประเภท “ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนทุบหัว”

อย่างที่นักเขียนชาวเยอรมัน นาม ฟรันซ์ คาฟกา กล่าว

ถ้าหากตัวเลือกของคุณเป็นอย่างที่คาฟกากล่าวแล้วละก็หนังสือ
“ภาพร่างของความหลับ” ผลงานเล่มแรกของนักเขียนหนุ่ม
“สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ “ ก็ไม่น่าทำให้คุณพลาดได้
“ภาพร่างของความหลับ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 62 เรื่อง

ที่จะพาคุณเปิดโลกทัศน์ ความคิดและมุมมองใหม่ๆ
อย่างที่ไม่มีอ้างอิงและไม่สามารถอ้างอิงได้จากในตำราที่คุณเรียนมา
ฉะนั้น...

อย่าหวาดกลัวถ้าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนโดนทุบหัว...
อย่างแรง!

“ภาพร่างของความหลับ”
สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ : เขียน
สำนักพิมพ์ง่ายงาม : พิมพ์ครั้งแรก
จำนวน 192 หน้า ขนาดพ๊อกเก็ตบุ๊ค ปก 4 สี กระดาษปก ปอนด์วาดเขียน 100 แกรม ราคา 150 บาท

สายส่งศึกษิต 022-259-536-40
สั่งซื้อโดยตรง : ngaingam_art@lycos.com
หรือติดต่อ 087-7178055

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน (2)



















สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................


กินปลาริมโขงสีมรกตแล้วเที่ยวชมปราสาทวัดพู

ที่ด่านวังเตา เรามีเจ้าหน้าที่ลาวในโครงการฯ เอารถแวนสี่ประตูขับเคลื่อนสี่ล้อมารอรับเรา น้องพันเป็นคนขับและไกด์ในตัว น้องเมี่ยงเป็นผู้ช่วยบริการ รถสีเลือดหมูรับของและคนขึ้นรถพร้อมแล้วจึงแล่นสู่ทิศตะวันออก สู่ภูมิประเทศที่มิต่างกันเลยกับสภาพพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
ทุ่งนาหน้าแล้งเหลืองแต้มแดงใบไม้ น้ำตาลดำของต้นไม้และพื้นดิน เต็งรังสลับทุ่งนาและบ้านเรือน ออกห่างจากด่านวังเตา บ้านยิ่งบางตาและมาหนาแน่นอีกครั้งบริเวณแอ่งที่ลุ่ม คาดว่าเมืองปลายทางค้างแรมคืนนี้คือเมืองโขง ว่ากันว่า เมืองนี้เป็นดงปลา มีวังปลามากมาย ดอนในแม่น้ำโขงอีกหลายจนเรียกขานกันว่า
สี่พันดอน
ทว่ายามนี้เที่ยงคลายไปจนบ่ายแล้ว เราขอแวะกินข้าวเที่ยงริมโขงและไปชมปราสาทวัดพูเสียก่อน เราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งญีปุ่นเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการสร้าง มองจากบนสะพานเห็นแม่น้ำสีเขียวมรกตราวกับน้ำทะเล แต้มด้วยดอนทรายสีเหลืองนวลที่ดูคล้ายชายทะเลแถบอันดามัน ทำให้พวกเรา-คนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า นี่แม่นแม่น้ำของบ่?
เท่าที่ผมเดินทางล่องเหนือใต้ตามลำน้ำโขงมา หากใช้สีสันบอกวรรคตอนของความยาวแม่น้ำโขง 4,909 กม. พอจะให้แสงสีได้ว่า แม่น้ำโขงในธิเบตมาจนถึงจีน-ยูนนานมีสีขาวจากการละลายของหิมาลัย จากเมืองหลินซาง-ยูนนานถึงเชียงรุ่งมีสีขุ่นเหลืองจาง และจากเชี่ยงรุ่งเข้าพรมแดนพม่า-ลาว และเขตไทย-ลาว ที่เชียงของถึงหลวงพระบาง แม่น้ำโขงมีสีกาแฟจาง เรื่อยมาจนถึงแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นแดนไทยอีสาน-ลาว มีสีปูน และมามีสีเขียวมรกตในเขตลาวใต้
จุดเริ่มต้นน่าจะบริเวณก่อนแม่น้ำจะเข้าสู่เขตสี่พันดอนนี่แหล่ะ เขียวมรกตดังน้ำทะเล แล้วไปสู่กัมพูชา เวียตนามนั้นคือสีน้ำเงินทะเล นี่ขนาดสีสันพื้นผิวในฤดูกาลหน้าแล้งเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอจะกล่าวได้ว่า แม่น้ำโขงมีสีหลากหลาย แล้วจะไม่ให้เราแปลกใจได้อย่างไร?
เราหยุดรถที่ตลาดดาวเรืองในเมืองปากเซ เมืองใหญ่ในแขวงจำปาศักดิ์ และน่าจะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตลาวใต้ สำรวจตลาดและตระเตรียมถ่านแบตเตอรี่ถ่ายรูป รวมทั้งมองหาหนังสือกับแผนที่ของลาวใต้ ทว่าเราได้เพียงถ่านแบตเตอรี่ แผนที่และหนังสือไม่มีให้เห็นแม้จะเป็นภาคภาษาลาวหรืออังกฤษ
อากาศร้อนระเหิดเกาะอยู่ทั่วมวลอากาศ แขวงจำปาศักดิ์ –ลาวใต้จัดว่าอยู่ในเขตร้อนกว่าลาวเหนือที่มีอากาศบนดอยเย็นสบายตลอดปี แต่ก็มีพื้นที่ดอยสูงในลาวใต้เหมือนกัน เช่น ปากซองที่หนาวเย็นหมดปี จนสามารถปลูกกาแฟอาราบีก้าได้รสอร่อยขึ้นชื่อไปไกล
น้องพันบอกเราว่าจะไปกินข้าวกันที่แคมโขงตรงบั๊คบรรทุกรถและคนข้ามฟาก รถออกจากปากเซแล้วจึงแล่นลงใต้ ไปยังจำปาศักดิ์ รถจอดนิ่งริมตลิ่งใกล้บั๊คแล้วตามน้องพันไปเรือนแพริมโขง น้ำสีเขียวมรกตพลิ้วโชยลมเย็นมาเหนือผลึกเหลว ทำให้คลายร้อนจากการเบียดแน่นมาในรถทั้งคนและข้าวของได้
เรือนแพโยกโยนเบาๆตามความแรงของเครื่องยนต์บั๊ครับส่งคนและยนต์ไปอีกฟาก กลางโขงมีดอนใหญ่เขียวสด ไกลออกไปแก่งหินผาอยู่ทางทิศเหนือ เบื้องบนไกลมองเห็นภูเกล้าอยู่สูงสุดตระหง่าน เด่นราวกับแม่หญิงสูงศักดิ์เกล้าผม นี่แหล่ะ ที่บางคนเรียกเทือกเขาเบื้องตะวันตกนี้ว่า “ลึงคะบรรพต”
รายการอาหารที่เราสั่งมีปลาทั้งหมด มาเมืองหลวงของปลาแล้วไม่กินปลาก็ดูเหมือนยังเดินทางมาไม่ถึง ปลาทอด ลาบ ก้อย ปั้นข้าวเหนียวและแกล้มด้วยส้มตำปลาแดกครบขวบปี อีกทั้งมีแอ็บขี้ปลามาตบท้าย ใครบางคนว่า แม้อากาศภายนอกจะร้อน แต่เรือนอาหารบนน้ำเย็นสบาย หากได้เหล้าดีของจำปาศักดิ์อีกสักจิบก็ทำให้อาหารรสแซ่บขึ้นเยอะ แล้วก็มีหญิงสาวชาวปากเซซึ่งนำลูกทัวร์มาเที่ยวเล่นกินข้าวในร้านเดียวกัน ได้เข้ามานำเสนอเหล้าพูเกล้ามีรูปตราพูเกล้าอยู่ที่ขวดขนาดเล็ก เธอบอกว่า เหล้าพูเกล้าได้ผสมสมุนไพรอายุวัฒนะจากยอดพูเกล้ากันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งน้ำที่ใช้ในการกลั่นเหล้าข้าเหนียวนี้ได้มาจากบ่อน้ำศักดิ์บนยอดพูเกล้าเช่นกัน ดื่มแล้วแก้เจ็บเอว แก้ปวดเมื่อยจากการนั่งรถมานานได้ดีเลยแหล่ะ
เราซื้อดื่มที่โต๊ะอาหารหนึ่งขวดแล้วซื้อติดเป้ไว้อีกขวด เพราะเป็นเหล้าท้องถิ่นสมชื่อ ส่วนเธอก็ไม่ใช่ว่าจะได้อะไรจากการแนะนำ เพียงแต่เห็นเราเป็นคนต่างถิ่นและอยากให้เราได้รู้จักเมืองมรดกโลกแห่งจำปาสัก มีอะไรดีๆ หลายอย่าง บอกตามตรง ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่า ปราสาทหินวัดพูที่เรากำลังจะข้ามฟากไปชมนี้ถูกตีตราเป็นมรดกโลกไปแล้ว
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร ทำให้ทัศนียภาพการมองภาพข้ามโขงไปสู่ภูใหญ่นั้นเปลี่ยนไป
พี่ตุ่นบอกว่า กลุ่มปราสาทหินที่นี้มีอายุมากกว่าอังกอร์วัดของกัมพูชาเสียอีก ผมไม่ค่อยเชื่อนักในวินาทีแรก ผมจึงท้วงไปว่า มันขึ้นอยู่กับมุมมองและทฤษฎีที่ใช้อธิบายและพิสูจน์หลักฐาน อย่างไรก็ตาม ผมว่าการมีอายุมากน้อยกว่ากันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญสำหรับผมคือคนท้องถิ่นในอาณาบริเวณนี้คิดเห็นหรือมองปราสาทหินแห่งนี้อย่างไร รวมทั้งเขาได้เรียนรู้ปัญญาอะไรจากปราสาทหินที่จะเดินทางต่อไปในอนาคต?
ผมกับพี่ตุ่นถกประวัติศาสตร์กันพอเป็นพลังหล่อลื่นให้อยากไปชม ผมจึงตัดบทก่อนอิ่มหนำจากอาหารปลาว่า เราไปดูกันเลยจะดีกว่า
เราข้ามฝั่งด้วยบั๊คหรือแพติดยนต์ไปอีกฟาก แล้วผ่านบ้านโพนแพงที่มีบ้านเรือนไม้ยกพื้นสูงสวยงาม สลับกับตึกรูปทรงฝรั่งครั้งอาณานิคม รอบรั้วบ้านมีหมากไม้ร่มรื่น มะม่วง กล้วย สลับกับแปลงผัก แคมโขงริมน้ำปลูกข้าวโพดแลผักกาด เสียดายไม่ได้หยุดชม ว่ากันถึงที่สุดหากได้เดินชมหรือมาอยู่แล้วน่าจะรู้อะไรมากกว่านี้ บางทีอาจจะพบปริศนากลุ่มปราสาทหินเชิงภูใกล้หมู่บ้านนี้ก็ได้
แม่หญิงผู้บรรยายในพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นเล่าว่า กลุ่มเทวะสถานวัดพูแม่นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดูของชาวขอม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพูเกล้า มีโขดหินธรรมชาติอยู่ยอดสุดที่เราเห็นจากไกลๆ เหมือนรูปเกล้าผมมวยไว้นสุด หรือที่ทางล้านนาเรียกว่าจิกและชาวฮินดูให้การสักการะว่าเป็นศิวะลึงคะอันเป็นเทพเจ้าสูงสุด และคำว่า “ลึงคะบรรพตหรือลึงคะปาระวะตะ” ก็น่าจะมาจากรูปทรงของภูเขาแห่งนี้
ผมเพิ่งทราบบัดนั้นเองว่า ตรงบริเวณที่เราเลียบน้ำโขงและอยากจะแวะพักลงสำรวจคือเมืองโบราณที่อยู่มาคู่กับเทวะสถานโบราณแห่งนี้ ว่ากันว่ามีอายุการสร้างก่อนนครวัดของกัมพูชา ซึ่งมีของเก่าโบราณถูกค้นพบมากมายแม้หลายอย่างจะสูญหายไปกับสายน้ำโขงบ้างแล้ว และนับจากปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาได้มีโครงการค้นคว้าวัตถุโบราณของลาวร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานฝรั่งเศส ได้สำรวจทางพื้นดิน และภาพถ่ายทางอากาศ สร้างแผนที่เมืองโบราณได้ชัดเจนที่สุด
ดูเธอจะบรรยายด้วยความเร็วที่มากกว่าลักษณะปกติของหญิงลาวทั่วไปที่จะค่อยย่างเยื้องเว้าชัดไม่รีบเร่ง แต่อาจเป็นได้ว่ามีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นรออยู่จึงทำให้เธอต้องรีบเร่งเล่าหลักฐานต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้สัดส่วนกับเวลาอายุของเมืองโบราณที่ว่า น่าจะสร้างตั้งแต่ท้ายคริตศตวรรษที่ 5 หรือพุทธศตวรรษที่ 10 ตัวเมืองมีเนื้อที่ 2 X 1.8 ก.ม. อ้อมล้อมด้วยคูกำแพงดินสองชั้น ในศิลาจารึกของกษัตริย์ชื่อ เทวะมิกะ พบที่บ้านพระนอนเหนือในปัจุบัน กล่าวว่า ท้ายพุทธศตวรรษที่ 11
ดินแดนแห่งนี้ได้เป็นนครหลวงของพระเจ้ามเหนทระวระมัน ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปปกครองเขตซำบรไปรกุก ห่างจากเมืองโบราณนี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 240 ก.ม. โดยมีเส้นทางโบราณจากปราสาทวัดพูไปทางนั้นจนถึงเขตกัมพูชาในปัจจุบัน นักวิชาการและนักค้นคว้าหลายท่านสันนิษฐานว่า เมืองโบราณที่ปราสาทวัดพูนี้น่าจะคือนครเศรษฐาปุระ(เสดถาปุระ)
พอออกมาจากพิพิธภัณฑ์อากาศร้อนก็เข้ามาจู่โจมในพลัน น้องพันและน้องเมี่ยงบอกผมว่า จำปาศักดิ์น่าจะมาเยี่ยมยามในช่วงเดือนมกราคมคือช่วงปลายหนาว นอกจากอากาศเย็นสบายแล้วยังมีงานประเพณีอื่นๆ ด้วย
เมื่อเราไปถึงประตูทางเข้าใกล้สระน้ำหรือบารายก็สะดุดตากับโครงหน้าของคุณยายที่ขายดอกไม้และธูปเทียนบูชาในร้านมุงคาเป็นอย่างมาก มีลักษณะค่อนไปทางขอม หรือไม่ก็ชวา มาลายูเป็นอย่างมาก เราแวะซื้อน้ำและดอกไม้บูชาแล้วเดินไปตามทางเดินสู่ปราสาทประธาน
ผมแอบถามชาวบ้านว่า สระน้ำด้านหน้าชื่อว่าอะไร พวกเขาบอกว่า หนองสระ ไว้อาบน้ำชำระกายก่อนขึ้นไปบูชาพระ
เราเดินมุ่งสู่ทิศตะวันตก ปราสาทหินวัดพูหันหน้าไปทางทิศตะวันออกราวกับสร้างเป็นเทวะสถานให้พระศิวะไว้ชมแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก แน่นอนว่า ตามธรรมเนียมของขอม-ฮินดูแล้ว การสร้างปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกก็เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าสูงสุดไว้บนพื้นพิภพ หากหันไปทางทิศตะวันตกก็น่าจะมีอยู่ไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นคือปราสาทนครวัด บ้างว่าพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 สร้างขึ้นด้วยการจำลองภูมิจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร และเพื่อเป็นที่ประทับหลังความตายของพระองค์ เพราะพระองค์คือส่วนหนึ่งขององค์วิษณุหรือพระนารายณ์ (นี่คือการตีความของฝรั่ง แต่เขาพระสุเมรุน่าจะเป็นที่อยู่ของพระอินทร์)
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเดินเลยโรงท้าวและโรงนางซึ่งเป็นปราสาทที่พักก่อนเข้าไปบูชาศิวะแล้วเดินขึ้นบันไดไปจนถึงตัวระเบียงชั้นแรก ด้านซ้ายเป็นเส้นทางโบราณและโรงวัวอุสุพะลาด ด้วยทางเดินยังไม่บูรณะ ยังมีส่วนที่ดูเหมือนกำลังจะทรุดและส่วนที่บันไดขึ้นต่อไม่ได้ ต้องอ้อมซ้ายขวาไปทางใหม่ที่น่าจะตัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว
เมื่อหันกลับมาดูแม่น้ำโขงจากใต้ต้นจำปาลาวที่เบ่งบานขาวนวลและตกร่วงลงส่งกลิ่นหอมเกลื่อนกล่น ผมรู้สึกว่าพอจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์ระหว่างปราสาทกับแม่น้ำโขง หรือระหว่างภูเขาสูงสุดกับแม่น้ำ...
ตอนนี้ตอบได้อย่างไม่เต็มคำว่า คนนั่นแหล่ะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภูเขากับแม่น้ำ จากศิลาจารึกเมื่อศตวรรษที่ 5 และ 6 กับที่พี่ตุ่น เคยเล่าให้ผมฟังว่า ภูหินแห่งนี้เคยมีการสร้างปราสาทไว้ก่อนแล้วและร่วมสมัยกับเมืองโบราณ ทว่าพุพังและหายสาปสูญไปแล้ว จนต่อมาได้สร้างปราสาทครอบทับของเก่าจนได้ชื่อปราสาทหินวัดพูในปัจจุบันนี้ คาดว่าเริ่มสร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อเติมบางส่วนในศตวรรษที่ 16 และ 17
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวว่า ปราสาทหินวัดพูแห่งนี้หรือลึงคบรรพตเป็นแม่ของปราสาทเขาพระวิหาร และเป็นท่านยายของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน ปัจจุบันปราสาทหินวัดพูได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ขององค์กรยูเนสโก ในวันที่ 25 ธ.ค. 25525 เป็นมรดกโลกแห่งที่สองของลาว นำก้นหลวงพระบางมาติดๆ
ไม่แน่ใจว่า ยูเนสโกนี้เป็นเครือญาติฝ่ายไหนของปราสาทจึงสามารถจดทะเบียนอะไรต่อมิอะไรว่าเป็นมรดกของโลกหรือของใครได้เสมอ หรืออาจจะเป็นญาติทางการท่องเที่ยวในกระแสหมู่บ้านโลกสมัยใหม่
ผมเดินตกหลังสุดของคณะเพราะมัวแต่มองนั้นพิจนี้ รวมทั้งการเก็บภาพสังเกตสังกาหน้าตาหินโบราณและหน้าตาของยายขายดอกไม้บูชาบางคน มันทำให้ผมหวนคิดถึงการเดินขึ้นบูโรพุทโธ ในชวา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมค่อยๆขึ้นสู่ระเบียงปราสาทประธาน แล้วมองกลับลงมาเบื้องล่างผ่านกิ่งก้านและดอกจำปาสู่มหาขรนที –แม่น้ำของ
ในวาบหนึ่ง ผมมองได้เห็นเสี้ยวจักรวาลความคิดของผู้สร้างปราสาทย้อนมาในปัจจุบัน ปราสาทวัดพูและพูเกล้าเปรียบได้เขาพระสุเมรุในทิศตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำโขงในทิศตะวันออกเปรียบดั่งนทีสีทันดรมหาสมุทร ซึ่งก็ตรงกับชื่อที่น่าจะเพี้ยนมาแล้วในปัจจุบัน ทว่าตรงกับลักษณะทางภูมิศาตร์ของถิ่นนี้มากกว่า คือสี่พันดอน (จึงติดปากชาวบ้านมากกว่า) หรือสีทันดร โดยไม่ต้องขุดคูน้ำล้อมรอบอีก
นี่คือโครงความคิดของคนขอมในอดีตโดยการนำเรื่องเล่าของเทพเจ้าฮินดูจากอินเดียมาปรับใช้ในสภาพภูมิศาสตร์ของคนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ครูตี๋หนึ่งในผู้รู้เรื่องแม่น้ำโขงและได้เดินทางไปลาวด้วยกันครั้งนี้ กล่าวว่า ลักษณะที่ตั้งของเมืองโบราณในเขตริมฝั่งแม่น้ำโขงมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้อยู่หลายที่ เช่น เวียงเก่าเชียงแสน, เชียงของ, เชียงทอง-หลวงพระบาง, และปราสาทหินวัดพู คือหากมองจากอีกฟากฝั่งจะมีเมืองอยู่บนที่ราบเชิงภู เบื้องหลังเมืองโอบอ้อมทั้งซ้ายขวาด้วยภูใหญ่หรือน้อย หรือจะเป็นภูเดียวโดดๆ
ผมคิดต่ออีกว่า ส่วนใหญ่บนภูสูงจะเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในน้ำจะเป็นที่อยู่ของผีเงือกหรือนาค กลางๆ คือคนผู้ทำมาหากินกับป่าภูและแม่น้ำ ผมว่าการสร้างปราสาทหินวัดพูหรือนครวัด นครธม ไม่น่าจะอยู่ๆแล้วสร้างขึ้นมาลอยๆ เอาตอนชุดความเชื่อหรือเรื่องเล่าแบบฮินดูเข้ามาในลุ่มน้ำโขง
นี่หมายความว่าคงจะไม่ใช่อารยธรรมอินเดียเข้ามาแล้วคนจึงคิดสร้างตามโคตรเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น รามายณะ ทว่าน่าจะมีการรวมกันเป็นชุมชนหาอยู่หากินกันในบริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารในป่าภูแลแม่น้ำมาหลายช่วงชีวิตคน แล้วพัฒนามาเป็นรัฐเล็กๆ หรือนครรัฐที่ดูแลกันเองและติดต่อกับคนภายนอก มีการเคารพผีบนภูสูง เช่น คนลัวะ ละว้า หรือมิละกุ ตำมิละ และเคารพผีเงือกผีน้ำมาก่อน
หลังจากนั้นเรื่องเล่าของผีป่าภูและผีน้ำถูกครอบทับผสมผสานกับจักรวาลความคิดแบบฮินดู แล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้นและบางสิ่งก็สลายตัวไปตามกาล... ไม่รู้ทำไมพอเข้าใกล้เขตปราสาทประธานผมจึงยิ่งคิดในท่าทีขรึมเคร่ง หรือว่าภาวะภายในนำพาไปให้เข้ากับศาสนะสถาน แต่เมื่อเห็นนางอัปสรและนายทวารยืนอยู่ตรงทางเข้าปราสาท ผมจึงอดยิ้มและหัวเราะอยู่ในใจไม่ได้ เพราะนางอัปสรโดนช่างแกะสลักไม่ยอมใส่เสื้อทรงให้ บางทีสาวสายเดี่ยวยุคใหม่ก็น่าจะมากลายเป็นนางอัปสรได้เช่นกัน หรือว่าการเปลือยเป็นวัฒนธรรมล้ำสมัยไม่ตกยุคอย่างยิ่ง
ในที่สุด ผมก็มาถึงปราสาทประธานปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก่อจากดินกี่สามองค์ ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาเป็นพุทธศาสนะสถาน รูปหน้าขององค์พระดูคล้ายใบหน้าของคนลาวทั่วไป ส่วนด้านหลังของสิมหรือปราสาทประธานนี้มีการแกะสลักรูปพระศิวะอยู่กลาง พระพรหมอยู่ขวา ด้านซ้ายพระวิษณุ ไว้กับผาหิน ส่วนเหนือขึ้นไปทางด้านหลังซ้ายเป็นบ่อน้ำทรง ซึ่งว่ากันว่าน้ำศักดิ์สิทธ์จะไหลจากบ่อนี้ลงสู่รางรินแล้วไหลสู่ศิวะลึงคะในองค์ปราสาทประธานแล้วไหลลงสู่เบื้องล่างปราสาท และที่เราเห็นรูผาหินมากมาย สันนิษฐานว่า จะเป็นน้ำทรงอันศักดิ์สิทธิ์ไหลไปจนสุดปราสาทเบื้องล่าง บางทีอาจจะไหลต่อไปจนถึงบาราย และในที่สุดอาจจะเป็นแม่น้ำโขง...
'รัตน์ คำพร :เขียน

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน




สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................

“ลาวใต้น่าจะร้อนน่ะ ในช่วงต้นแล้งนี้ คงไม่ต้องเตรียมเสื้อผ้าหนาๆ ไปหรอก”
ใครคนหนึ่งในบ้านบอกผม
“ไม่แน่น่ะ อยู่ใกล้แม่น้ำโขง และต้องนอนบนเกาะดอน
เตรียมแขนยาวสักตัวก็ดี เผื่อยามเช้าอาจจะเย็น”
ผมคาดเดาตามพื้นฐานทางภูมิศาสตร์
เมื่อลมร้อนเริ่มมาเยือนเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ใกล้ลาวเหนือ
เราจึงออกเดินทางด้วยรถยนต์ตรงไปยังด่านช่องแม็ก-อุบลราชธานี
จากชายแดนเมืองเหนือสู่ชายแดนอีสานกว่าพันกิโลเมตร
ในช่วงสี่ห้าปีมานี้
ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวเล่นเมืองลาวอยู่ทุกปี บางปีไปเยี่ยมเยือนถึงสองสามครั้ง
อย่างน้อยที่สุดก็ปีละครั้งที่ได้ไปพัวพัน
ไม่ด้วยการงานหรือก็ด้วยมิตรภาพของอ้ายน้องผองเพื่อน ทั้งเชื้อเชิญและคิดฮอดจึงไปหา
อาจเป็นด้วยว่า ผมได้ย้ายตัวเองมาอาศัยอยู่เมืองเชียงของชายแดนลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง
นั่งจิบกาแฟทอดสายตาข้ามแม่น้ำก็เห็นอยู่ใกล้กันเหลือเกินกว่าจะรู้สึกว่ามันคือคนละประเทศ
จะให้นั่งมองซื่อๆก็กระไรอยู่ เพราะแม่น้ำโขงไม่เคยบอกผมเลยว่า
เป็นเส้นพรมแดนขวางกั้น
ฉะนั้นจึงไหลไปหากัน

จะอย่างไรก็แล้วแต่ อาจด้วยตำแหน่งของเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
อยู่ใกล้กับแขวงบ่อแก้ว หรือลาวตอนเหนือ ผมจึงได้ไปเยี่ยมยามลาวเหนือเสียส่วนใหญ่
ทว่าไม่เคยเลยสักครั้งที่ได้ไปเยือนลาวใต้
นอกเสียจากเมื่อเจ็ดปีก่อนได้ข้ามแดนชั่วคราวด่านช่องแม็ก-วังเตาไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
จำได้ว่า มีกล้วยไม้ป่า และของป่าที่ชาวบ้านนำมาขายมากหลาย นอกจากนั้น
ผมไม่เหลืออะไรไว้ในความทรงจำเลย

น่าจะเป็นการดี หากการเดินทางไม่มีภาพประทับฝังรากไว้ในนามอคติหรืออื่นใด
เพราะเราจะได้เติมเต็มภาพบันดาลใจใหม่ๆ ลงไป
และเป็นการง่ายดีที่จะได้รู้จักในสิ่งที่ใหม่ยิ่งขึ้น การไม่จำบางครั้งก็งาม...
แต่ในบางบทตอนของชีวิตอาจจะทำให้เราสะดุดผาความผิดซ้ำซาก
การเดินทางของผมจึงมีทั้งเลือกรับและปฏิเสธอยู่ภายใน
ผมไปไหนต่อไหนเพื่อจัดการภาวะภายในเป็นเบื้องต้น

มีเรื่องที่ทั้งอยากจำและอยากลืมอยู่ในท่าทีเดียวกันเสมอมาเมื่อประสบกับนายด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว
แม้ไทย-ลาวและสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะปลอดการทำวีซ่ามาแล้วเป็นปี
แต่ค่าประทับตราเข้า-ออกประเทศยังต้องจ่ายอยู่ดี ในอัตราที่ไม่แน่นอน
บ้างว่าเป็นค่าล่วงเวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่บางครั้งวันธรรมดาในบางด่านก็ต้องจ่าย
และก็มีอีกเหมือนกัน บางทีก็ไม่มีการเก็บเงินค่าประทับตรา เราจึงคำนวณไม่ได้ว่า
จะต้องจ่ายเท่าไรไว้ล่วงหน้า
เช่นเดียวกันกับตารางเวลาการเดินรถหรือการนัดหมาย
อาจขึ้นอยู่กับจำนวนคนและสภาพภูมิประเทศทำให้บางคนอาจหงุดหงิดง่ายหากติดอารมณ์นักบริหารจัดการแบบเส้นตรง

เราจ่ายคนละสิบบาท รวมสี่คนก็เป็นสี่สิบบาทในคราแรก ทว่าหูของเราคงเพี้ยน
เจ้าหน้าที่ย้ำอีกครั้งว่า คนละห้าสิบบาท กลายเป็นสองร้อยบาท
อันที่จริงแล้วผมไม่ติดใจอะไรหรอก
ทว่าทำให้หวนคิดถึงครั้งหนึ่งที่เคยนั่งเรือจากเชียงของไปหลวงพระบาง
ระหว่างแขวงบ่อแก้วเข้าเขตแขวงอุดมไซ
นักท่องเที่ยวผ่านไปโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านแดนของแขวงภายในลาว
แต่คนลาวต้องจ่ายค่าผ่านแดนเพิ่มจากค่าเรือ หากจะผ่านแดนไปยังอีกแขวง แน่นอนว่า
นี้คือภาพจำลองของการปะทะกันของโลกภายนอกที่เสรีกับโลกภายในของคนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ติดที่
ทว่าในแง่หนึ่งก็ทำให้คนท้องถิ่นได้อยู่สืบสานรากฐานของเมืองไว้ได้
แต่คำถามสำคัญที่น่าสนใจว่า
แล้วคนลาวท้องถิ่นจะอยู่ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ปีหน้าลาวก็จะเปิดการค้าเสรีกับองค์การการค้าโลก
(WTO)

ไม่ต้องคิดมากหรอก มันเป็นคำถามที่คนไทยท้องถิ่นต่างๆ
เองก็ยังปรับสู้กันอยู่อย่างเหนื่อยอ่อน อีกอย่างที่ผมหวนคิดแทนคนลาว
เพราะว่าในกลุ่มของเราครานี้ มีคนลาวร่วมทางอยู่ด้วย สองในนั้นชัดเจนว่า
เป็นคนยวนหรือลาวเฉียง (ล้านนา) อีกหนึ่งเป็นลาวอีสาน-อุบลราชธานี
คำเว้าจาก็คือกันกับลาวใต้
ส่วนอีกหนึ่งคือผู้เชื้อเชิญเราและสนับสนุนเราในการเดินทางคือผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมศักยภาพแม่หญิงและชุมชน(กลุ่มท้อนเงิน)
พี่ตุ่น-มณฑา อัจริยกุล ซึ่งโครงการความร่วมมือกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
(องค์การมหาชน)ของรัฐบาลไทยกับสหพันธ์แม่หญิงลาวในเรื่องการออมเงินมาหลายปี
พี่ตุ่นน่าจะเรียกว่าเป็นคนลาวไปแล้วเหมือนกัน
ส่วนผมนั้น
ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นใคร ระบุได้เพียงว่า
เป็นผู้มาอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงและเกิดบนแผ่นดินใหญ่แห่งอุษาคเนย์ตรงตอนกลางของแหลมมาลายู
ผมจึงนำก้น (ตาม) ลาว (เขา) ไปเที่ยวเมืองลาวเด้อ...

วารี

ในตอนที่ผมอายุห้าขวบ ผมจำไม่ได้แล้วว่า ผมอยากเป็นอะไร พวกผู้ใหญ่ชอบถามคำถามแบบนี้กันดีนัก ผมแกล้งตอบไปว่า อยากเป็นคนคีบถั่วเขียวใส่ขวดปากแคบ ทั้งๆ ที่จำได้ว่า สมัยนั้นแม่และพ่อของผมเป็นคนรินน้ำใส่แก้ว และลุงข้างบ้านหน้าตาคล้ายพวกแขกอินเดียเป็นคนคีบถั่วทุกชนิดใส่กระทะ
ผมชื่อวารี แม่ผมชื่ออารี ส่วนพ่อผมชื่อนที ชื่อของผมจึงได้นัยมาจากพ่อและเล่นคำให้พ้องกับแม่
ส่วนตาของผม จำได้ว่า ทำงานธนาคาร ยายเป็นครู
ทุกคนต่างยินดีที่ผมโตขึ้นทุกวัน และจะเป็นผู้ใหญ่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง พวกเขาหวังว่าผมจะโตขึ้นมาเหมือนแม่ หรือไม่อย่างน้อยก็เหมือนพ่อ
ในตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น พ่อเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเป็นคนรินน้ำใส่แก้ว อีกอย่างหนึ่ง พ่อบอกว่า ต้องแสวงหาความก้าวหน้าและรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น พ่อจึงลาออกจากงานเดิม มาเป็นนักเลือกตั้ง งานนี้ได้แรงแอบหนุนจากตาซึ่งเป็นนายธนาคารมีชื่อในเวลานั้น และการเลือกตั้งในยุคนั้นเป็นงานที่นิยมกันอย่างมากในประเทศของเรา
พ่อมีหน้าที่ไปเลือกตั้งในทุกวัน โดยการกากบาทในช่องบนกระดาษที่เจ้านายเตรียมไว้ หากเพื่อนร่วมงานทุกคนกาได้ตรงในช่องเดียวกันก็จะประสบความสำเร็จในหน้าที่ของแต่ละวัน ทว่าหากกากบาทได้ไม่ตรงกัน ทุกคนก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่
การกากบาทให้ได้ตรงกันของทุกคนเป็นเรื่องใหญ่โตมากในแต่ละวัน นายจะนั่งหงุดหงิดอยู่หลังโต๊ะกากบาทหากวันนั้นทำงานไม่สำเร็จ แต่หากสำเร็จตรงกันหลายครั้ง พ่อก็จะได้โบนัสมาเลี้ยงข้าวและซื้อของฝากให้ผมกับแม่
พ่อออกจากบ้านในทุกเช้าเพื่อไปเลือกตั้ง
แม่ออกจากบ้านไปทุกเช้าเพื่อรินน้ำใส่แก้ว
นานๆ ครั้ง ผมจึงมีโอกาสไปที่ทำงานของพ่อกับแม่ ส่วนใหญ่แล้วผมจะสนใจการทำงานของพ่อมากกว่า เพราะคนเยอะดี อีกทั้งมีความตื่นเต้นในที่ทำงานมากกว่า และผมคิดว่าโตขึ้นผมอยากเป็นนักเลือกตั้งเช่นเดียวกับพ่อ
อยู่มาวันหนึ่ง มีเพื่อนของพ่อคนหนึ่งเกิดคร้านที่จะกากบาทหรือเบื่ออะไรขึ้นมาสักอย่าง แกไม่ยอมกากบาทในช่องกระดาษ แต่แกเล่นฉีกกระดาษออกเป็นผุยผงแทน ไม่สนใจนายที่นั่งอยู่หลังโต๊ะ พ่อบอกอีกว่า หลังจากนั้นความสำเร็จของงานจึงเปลี่ยนระบบใหม่ ป้องกันคนที่กาไม่ตรงกับคนอื่นๆ ได้น้อยที่สุดเช่นเพื่อนของพ่อจะกระทำการเช่นนั้นได้อีก และเขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะถูกไล่ออกหายไปจากบริษัท
ต่อมา เจ้านายจึงเพิ่มพนักงานขึ้นมาอีกแผนก ไว้ทำหน้าที่ฉีกกระดาษสำหรับกากบาท
หน้าที่ของพวกเขาคือ เมื่อแผนกของพ่อเลือกกากบาทในช่องแล้ว แผนกใหม่นี้ก็ทำการฉีกให้เป็นผงฝุ่นในทันที ราวกับการเล่นเกมก่อกองทรายของเด็กๆ ที่ริมชายหาด
พ่อผมกากบาทเสร็จ เพื่อนพ่ออีกคนในแผนกใหม่ (ความจริงแล้วคือแผนกเก่าแต่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว) ก็ฉีกมันเสีย
หลังจากนั้นผมจึงไม่อยากเป็นนักเลือกตั้งเช่นพ่ออีกเลย เพราะผมไม่รู้ว่าจะกากบาทไปทำไม เมื่อรู้อยู่ว่า มันจะโดนฉีก หรือหากไม่โดนฉีก อีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ต้องไปกาใหม่อีกครั้ง มันเป็นการกระทำที่ไม่มีวันจะสิ้นสุดได้
เมื่อผมเรียนจบจึงตั้งใจสมัครงานแบบเดียวกับแม่ แต่คนล่ะบริษัทกัน
นั่นคือการรินน้ำใส่แก้ว ผมดีใจมากที่เรียนจบมาแล้วได้งานในทันที
พ่อกับแม่ก็ดีใจและอวยพรให้ผมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่วนตากับยายไม่มีโอกาสได้ยินดีกับผม เพราะทั้งสองหายตัวไปจากโลกเสียก่อน ไม่มีใครรู้เลยว่าตากับยายหายไปไหน ราวกับการระเหยหายของหยาดน้ำ
ดูไปแล้ว งานที่ผมทำก็ไม่มีอะไรยากเลย เพราะผมเห็นแม่ทำมาตั้งแต่เล็กๆ
ก็แค่ขัดถูแก้วและเหยือก แล้วรินน้ำลงแก้วให้เท่ากัน หลังจากนั้นจึงเทกลับลงในเหยือก แล้วทำอย่างนี้ไปจนจบวัน หมดไปอีกวัน ผมก็เริ่มต้นงานในเช้าวันใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน กระทั่งผมพัฒนาการรินน้ำลงแก้วในท่วงท่าแปลกใหม่ซึ่งน้ำไม่หกลงพื้นเลยสักหยดเดียว
ผมได้เป็นพนักงานดีเด่นภายในปีแรก ปีนั้นผมได้โบนัสมากที่สุดในบริษัท
โลกของผมจะไปได้สวยแล้วเชียว ถ้าหากว่า พ่อกับแม่ของผมไม่หายตัวไปเสียก่อนเวลาอันควร
ทั้งสองหายตัวไปเช่นเดียวกับตาและยาย เช่นเดียวกับผู้คนที่หายไปก่อนหน้า บนโลกอันแสนโง่เง่านี้
วันนั้น ผมพยายามทำความเข้าใจต่อการหายไปของชีวิตคนเราทั้งวัน พร้อมกับที่รินน้ำลงแก้วไปด้วย ผมทำได้ดีเช่นเดิม แม้จะมีเรื่องรบกวนใจมากมาย เพราะผมพัฒนาการแยกแยะระหว่างมืออาชีพในงานกับเรื่องส่วนตัวได้เด็ดขาด
มีอยู่เพียงสิ่งเดียวในตอนบ่ายของวันนั้นที่รบกวนผม คือการหายไปของผมจะเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วผมก็นึกย้อนถึงเพื่อนของพ่อที่อยู่ๆ เขาก็ฉีกกระดาษกากบาทขึ้นมา เขาคงจะค้นพบการหายไปของใครคนหนึ่ง หรือบางทีเขาอาจจะค้นพบการหายตัวตนไปของเขาในขณะทำงาน
เช่นนี้แล้ว ผมจึงเอาน้ำในเหยือกชูขึ้นสูงแล้วเทลงราดรดตัวเอง และกล่าวว่า
ผมไม่อยากเป็นอะไรอีก
ผมไม่อยากเป็นอะไรเลยจริงๆ นอกจากเป็นผมเอง-วารี.

เรื่องสั้น : 'รัตน์ คำพร

ยุคสมัยของเรา



เสียงไก่ขันทำให้หลายคนตื่นนอน
ฉันล้มตัวลงหลับฝันเอาตอนใกล้รุ่ง
พระอาทิตย์มาเช้าเสมอ
ฉันก็หลับช้าเช่นเก่าก่อน
เรามิเคยได้สบตากัน
เมื่อฉันตื่นพระอาทิตย์ก็หลับหลังด้านความมืด
เมื่อฉันเต้นรำอยู่กลางค่ำคืน
พระอาทิตย์เริ่มพลิกตัว -อีกไม่นานคงจะตื่น
อีกไม่นานฉันก็จะหลับ
เราไม่เคยได้ยินเสียงไก่ขันอีกเลย


'รัตน์ คำพร : เขียน

อันเนื่องจากการเผชิญกับกระจกมนุษย์?

เมื่อผมเผชิญหน้ากับกระจกบานนั้น ผมจึงสำรวจใบหน้าของตนเองและมองเข้าไปในดวงตาของผู้ที่ยืนอยู่ในกระจก ยิ่งมองลึกลงไปยิ่งเห็นว่า เขาก็เป็นคน เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผม นี่ผมมองแวบเดียวแล้วรู้ได้อย่างไรว่า เขาเป็นคนเช่นเดียวกับผม หะแรกเพราะผมรู้ว่า มันคือวัตถุที่ชื่อกระจกเงา และมันสะท้อนตัวผมให้เป็นเขาอยู่ในแผ่นใสสะท้อนนั้น ผมยิ้มอย่างที่ผมยิ้มอยู่เป็นประจำ (ผมคาดว่าผมจะยิ้มแบบนี้เป็นส่วนใหญ่แม้ยามที่ไม่มีกระจกคอยส่อง) เขาก็ยิ้มอย่างที่ผมยิ้มอยู่นั่นแหล่ะ เหตุที่ผมมองเห็นภาพสะท้อนได้ชัดเจน ด้วยแสงในห้องน้ำของผมก็สว่างจ้า ผมจึงเข้าใจเอาว่า กระจกบานนั้นบอกความจริงกับผม แม้ผมจะแปรงฟัน เขาก็แปรงฟัน แต่เมื่อผมละจากกระจกมา ผมไม่รู้อีกว่าเขาละจากกระจกมาหรือไม่ หรือเขายังยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น (อันที่จริงคุณก็รู้ได้เองแล้วว่าผมก็คือเขาและเขาก็คือผม) การเผชิญหน้ากับวัตถุที่เราจับต้องได้และหมายรู้อีกว่าเราคุ้นเคยกับมัน เราจะรู้สึกไม่แปลกแยกจากมัน คล้ายจะเป็นหนึ่งเดียวกับมัน ทว่าหากสืบสาวเข้าไปในจิตใจแล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า มันสะท้อนตัวมันหรือตัวเราออกมา หรือว่า เราเองที่ไปมองจับจ้องต้องเห็นมันและวาดสะท้อนตัวตนในจิตใจขึ้นมาเอง

ในยามทารกแสนเลือนราง (หากยังจดจำได้) ผมไม่รู้ว่า ผมจำใบหน้าแรกเริ่มของผมเองในกระจกได้หรือไม่ และผมเองเริ่มสำนึกว่าเป็นผมด้วยกระจกเงาใสบานหนึ่ง หรือว่าผมสำนึกว่าเป็นผมเพราะแสงสะท้อนจากปากคำเรียกขานของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ใบหญ้า ดอกไม้ สายฝน แดดออก เสียงนก แต่ผมเข้าใจว่า ผมต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านี้แน่นอน และผมต้องตอบสนองความหิว การปวดคันจากฉี่หรือคราบฉี่ตามซอกหลืบ ผมน่าจะสะท้อนออกมาด้วยการร้องไห้ อาจถือได้ว่าการร้องไห้คือเงาสะท้อนแรกของการเป็นคนของผม

กล่าวโดยสั้นๆ ผมรู้สึกเป็นพื้นฐานจากอะไรว่า คนเรามีร้องไห้ มีหิว มีปวด มีอยาก แน่นอน มันค่อยๆ รู้สึกรู้สามาตามวัย แต่วัยมันอิงแอบกับผู้คนและรูปแบบโครงสร้างของกระจกที่ต่างสร้างขึ้นมาเชื่อมโยงแก่กันและกัน อย่างไรก็ตาม ในคืนวันหนึ่งกระจกในห้องน้ำผมเกิดร้าวขึ้นมาเป็นเส้นข่ายร้าวแต่ไม่แตกกระจาย ประกอบกับหลอดไฟเกิดเสียขึ้นมา มันติดดับสว่างวาบแล้วมืดแล้วสว่าง ผมเข้าไปในห้องน้ำหลังจากการหลับสบาย ผมจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร ผมจะเจอเขาที่เป็นผมอยู่อีกไหม

คิดก็คิดไปเถอะ แล้วหากกระจกแตกกระจายต่อหน้าที่ผมยืนอยู่ในภาวะนั้นล่ะ ผมต้องใช้อะไรในการเผชิญหน้ากับมัน อย่างน้อยๆ ก็สติ การควบคุมตัวเอง หรือความหวัง? หรืออดีตประวัติศาสตร์ว่า ผมยังคงอยู่ แต่ที่แตกกระจัดกระจายซ่านกระเซ็นไปนั้น คือเงาร่างที่สร้างขึ้นมาจากตัวผม? อย่างน้อยๆ ผมคงต้องเอามือลูบใบหน้าตัวเอง สำรวจใบหน้าแห่งวันเวลาอีกครั้ง ด้วยที่แล้วมาความเร็วลวงเล่นให้โลดโผนกระโจนไปในความสะดวกสะบาย ในภาพฝันว่าตนเป็นแบบนั้น แบบนี้ แบบโน้น แบบนู้น มันฉาบฉายดึงจิตให้ไหลไปเร็วมาก กับรูปแบบอันหลากไหล ผมจะเผชิญหน้ากับตัวเองได้อย่างไรว่า ตัวผมยังเป็นของผมอีกหรือไม่ และจำเป็นไหมที่ตัวผมต้องเป็นของผม

นี่ผมถามสติน่ะ หากผมพลัดตกลงใบในวงกตแห่งกระจกแตกร้อยเป็นเยื่อร้าวต่อกันเป็นแผ่นตั้งและแผ่นนอน เหนือหัวก็มี เบื้องล่างก็มี ผมจะหวังว่าอันไหนจริง อันไหนลวง (หรือผมเป็นใครคนไหนกันแน่ ผมยังเป็นเขาหรือเขายังเป็นผม หรือผมมีเธอ มีหล่อน มีมัน มีใครอีกหลายคนในกระจกนั้น หรือว่ามีแต่ผมคนเดียว) นี่ผมกำลังจะหมายถึงการเผชิญหน้ากับกระจกที่เป็นตัวอักษรเรียงร้อยกระจัดกระจายกันเป็นหนังสืออยู่ใช่ไหม? หรือการเผชิญหน้ากับผู้คนอันมีพระเจ้าหลากหลายองค์ซึ่งใบหน้าอาจจะเหมือนกัน แต่ที่สุดแล้วเป็นองค์เดียวกัน หรือว่ามันไม่ใช่ใบหน้าที่เคยซ้ำกันเลย ทว่าไม่สามารถคาดหวังอะไรได้อีก?

การเผชิญหน้ากับการอ่านแบบนี้ มันเป็นเรื่องของรสนิยม หรือตัวใครตัวมันอย่างที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน มันไม่สามารถเป็นทางให้เราออกจากวงล้อมของกระจกร้าวอันกระจัดกระจายได้ เพราะในรูปแบบของเราก็มีเนื้อหา และในเนื้อหาก็คงอยู่ได้ด้วยรูปแบบด้วย (เราที่ว่า ผมหมายถึงเมื่อผมรู้ว่าในโลกนี้ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียว ผมรู้ว่ามีคนอีกหลายคนอยู่ร่วมในโลกกระจกใบนี้) ยิ่งมากวันเข้าการเดินทางของมนุษย์ยิ่งสร้างความลวงเข้าสุมทับกันเป็นปราสาทราชวัง ทำให้เราเฉื่อยชา ต่อความชั่ววูบ ความสบาย ความด่วนได้ และในที่สุดเราจะหวังอะไรได้อีก

เมื่อเราเอาแบบการอ่านตามแบบอย่างที่เคยอ่านกันมา แล้วเราจะอ่านอย่างสดใหม่ เช่นวัยละอ่อนแรกรุ่นได้อย่างไร? เราจะเรียกว่าได้ความรู้หรืออย่างไร? เมื่อมันซ้อนทับกั้นด้วยกระจกสะท้อนอยู่มากมาย แล้วเราจะอ่านด้วยตนเองได้อย่างไร แล้วเราจะเผชิญหน้ากับตัวตนได้อย่างไร เพราะตัวตนของเราถูกปะติดสร้างต่อมาจากคนหลายรุ่นหลายสมัย ดูเหมือนเราไร้เรี่ยวแรงในการอ่านอย่างอิสระเสียแล้ว และเราจะเอาพละกำลัง เอาความหวังอย่างมีอิสระภาพไปสร้างถ้อยคำและศาสนาขึ้นมาเองได้อย่างไร?

ผมหวังของผมคนเดียวว่า สติจะคืนกลับมาให้ผมเห็นกระจกและตัวผมอย่างที่มันเป็นในขณะเดียวกันอยู่เสมอ ผมอ่านหนังสืออย่างที่มันเป็นและมีผมร่วมเขียนขณะอ่านและมีผมร่วมอ่านขณะเขียน ผมจึงเขียนถ้อยคำของผมเอง แต่แฝงด้วยผู้คนและโลกที่สะท้อนอยู่ในหัวรวมอยู่ด้วย
เรื่องนี้จึงแฝงด้วยท่าทีของศรัทธาเป็นอย่างยิ่งในการจะรู้สึกได้ว่า ผมต้องสร้างกระจกของผมขึ้นมาเอง ทว่าผมจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อผมไม่เคยรู้จักมันเลย เพราะมันคือความลวงยิ่งกว่าความลวง ลื่นไหลยิ่งเช่นความดี ความงาม ความจริง ที่เขาว่ากัน แล้วผมจะคงอยู่ได้อย่างไร?

'รัตน์ คำพร : เขียน

วันเบาๆ

สายลมตะวันตกพัดพามาถึงแม่น้ำโขงพร้อมกับเจนนี่...คล้ายสายลมแห่งความเกรี้ยวกราดรีบเร่ง แต่ต้องการความเอื่อยช้ารินไหลเป็นไปได้ว่าเธอต้องการอีกสายลมหนึ่งปลอบประโลมโลกที่หมุนในใจเธอ อาจจะกล่าวว่ามุ่งหน้าสู่ตะวันออก ณ ที่หนึ่งที่ใดที่ผ่อนคลายจักรกลชีวิตให้งอกงามเติบโต เช่นต้นไม้หรือสัตว์ดิบเถื่อนดึกดำบรรพ์ สายน้ำโขงอาจจะกล่าวต้อนรับเธอไปแล้ว หรือเธอน่าจะทักทายสายน้ำด้วยกาแฟอุ่นๆ สักแก้วในร้านริมฝั่งน้ำ แสงแดดสวัสดียามเช้ากับลมหนาวจากตอนเหนือเมื่อเวลาเจ็ดโมงครึ่งเจนนี่จึงออกมาจากห้องนั่งพิงเก้าอี้โบราณหน้าห้อง ใช้ดวงตาสีฟ้าแย้มยิ้มให้สายน้ำและแสงแดด ไกลออกไปอีกฝั่งคืออาณาจักรที่จะเดินทางไปให้ถึง ผีเสื้อปีกเหลืองร่อนล้อกับดอกเสี้ยวม่วงแกมขาวพวงใบจับกิ่งคล้ายปีกผีเสื้อ เจนนี่อาจจะเห็นว่าผีเสื้อปีกเขียวเกาะพราวไปทั่วทั้งต้นแล้วมันก็พร้อมใจกันบินหนีภัยพรึ่บว่อนสู่ฟ้า เช้าที่แทรกแซมด้วยหย่อมเมฆเหนือขุนเขาไกลโพ้น เจนนี่มานั่งที่ร้านกาแฟใต้ต้นเสี้ยวพร้อมกลิ่นสายลมตะวันตก อันที่จริงไม่มีใครแยกสายลมออกจากกันเป็นตะวันออกหรือตะวันตกได้ บางทีมันเป็นเพียงความเงียบงันสุดหยั่งที่เธอจะเข้าใจ บางครั้งคือความสับสนวุ่นวายที่ต้องไล่คว้าในห้วงเวลาของการผ่อนพักอันยาวนาน และการหลีกหนีความหนาวเหน็บเช่นนกอพยพบินมาอาศัยทางตอนใต้ของลุ่มน้ำโขงแสนไกลแต่เหมือนใกล้ ในแต่ละจิบอุ่นขมหวานเดินผ่านเข้าสู่ผีเสื้อหลากสีสีฟ้าเธอเคยชอบแต่ห่างหายไปนาน บางทีเธออาจจะเคยมีความรักต่อสีฟ้าแล้วสีเหลืองที่บินว่อนอยู่นั้นไปไหนราวกับเป็นคำถามรอบถ้วยกาแฟรอบโลกสีขมหม่นเล็กๆ หนุ่มผมยาวเจ้าของร้านละลืมที่จะสังเกตมันเขาน่าจะรู้แต่เพียงว่าใต้พุ่มใบต้นเสี้ยวเริ่มมีความวุ่นวายเล็กๆ และอาจจะเป็นไปได้ว่าต้นเสี้ยวรับรู้เพียงการต่อสู้ของเจ้างูเขียวกับกิ้งก่าสีฟ้าอมม่วง...กอดรัดกัดขบกันจนม้วนตกลงมาสู่กิ่งล่างสุด ชั่วเวลานั้นเป็นไปอย่างธรรมดาที่สุดแสนเรียบง่าย และพอจะเข้าใจได้เขาตอบคำถามถึงสถานที่เที่ยวท่องอย่างสงบ คำต่อคำไม่มากไม่เกินกว่านี้ บางทีเจนนี่อาจจะได้คำตอบมากกว่าการเปิดหนังสือแนะนำการเดินทางหน้าต่อหน้า เกลียวสายกาแฟในแก้วเหือดหายไปแล้ว เจนนี่ได้ยินใบเสี้ยวกล่าวทักด้วยการร่วงลงมาสัมผัสไหล่คล้ายโลกทั้งสองจะเปิดเข้าหากัน เขาจึงชี้ชวนให้เจนนี่ดูงูกำลังโอบรัดกิ้งก่าอาจจะเป็นสัญชาตญาณอาจจะเป็นเช่นสิ่งที่อยากรู้มานานการโอบกอดต่างเผ่าพันธุ์ ุุ๋์เจนนี่รู้สึกคล้ายกับคลื่นจากเรือกระทบฝั่งโผกระแทกครั้งแล้วครั้งเล่าจนสร่างซา มันอาจจะสงบนิ่งอยู่นาน และเมื่อเพียงผีเสื้อกระพือปีกเธอก็ได้กลายเป็นท้องฟ้าที่โอบรัดโลกไปแล้วปลายหางสีเขียวอ่อนแต้มด้วยจุดดำๆ ม้วนรัดกิ่งไม้แข็งแน่นลำตัวกระหวัดรอบเจ้ากิ้งก่าสี่ห้ารอบแล้วผงกหัวชูคออ้าปากกว้างคล้ายจะกลืนกินเหยื่อ กิ้งก่ากล้ำสู้อ้ากรามออกตั้งรับเลือดในตัวมันพุ่งซ่านจนกลายเป็นสีม่วงเข้มไปทั่วหัว เธอว่าเหมือนคนรักโอบกอดกันในวันสุดท้ายก่อนจากพรากเขาว่านี่คือทางรอดและความตาย
เขาจึงลุกขึ้นเดินไปขย่มต้นเสี้ยวผีเสื้อสีเขียวอ่อนบินหนีไปนานนักแล้วคงจะตกใจกลัวการปะทะกันของทั้งสองชีวิตบนต้น ใบแห้งและดอกร่วงหล่นมาพร้อมกับงูเขียวและกิ้งก่า บนพื้นทางเท้างูเขียวคลายอ้อมรัดอันเมามายกิ้งก่าเนื้อตัวสั่นสะท้านด้วยตกใจ มองหน้าทั้งสองด้วยงุนงงอยู่ครู่หนึ่ง ขณะเจ้างูเขียวรีบเลื้อยเลี้ยวลงไปริมฝั่งเขาวิ่งตามงูลงบันไดท่าน้ำ ในทันทีที่ผืนหนังเขียวอ่อนของมันกระทบผืนน้ำพร้อมการเลื้อยลอยแล่นทวนน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง ราวกับขนาดลำตัวของมันแผ่ขยายใหญ่ออกไปจนเต็มลำน้ำแผงเกล็ดเปลี่ยนเป็นสีนิลวับวาว เขาหยุดชะงักราวกับโดนมนุษย์ใต้ดินกระชากเท้าไว้
เขาวิ่งกลับมาใต้ต้นเสี้ยวอีกครั้งหลังจากที่เจนนี่ยืนกุมมือขวาของตนที่มีเลือดไหลอาบนิ้วโป้ง กิ้งก่าหายไปแล้วเธอบอกเขาด้วยสีหน้าหวาดหวั่นว่าเมื่อเธอเอื้อมมือลงไปจะช่วยมัน มันกัดนิ้วแล้วมุดดินหายไป ในทันทีแดดอุ่นโลมไล้มาจนถึงม้านั่งเธอยังปล่อยมือขวาให้เขาดูดเลือดออกจากนิ้วโป้ง ริมผีปากแดงสดราวกับเขาเพิ่งกินหลู้เลือด เธอเผยอริมฝีปากโผล่ปลายลิ้นถูริมปากตนทั้งสองเปิดโลกลึกลับต่างแดนสนทนาแก่กัน เรื่องราวนับพันหลั่งไหลออกมาโอบกอดกันและกันแล้วค่อยๆ เคลื่อนหมุดหมายวันหยุดเบาๆ ไปอีกสู่ราวฟ้าสีฟ้าตรงฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยังรออยู่…
ตอนสายของวันนั้นชายหนุ่มปิดร้านหายไปกับกลิ่นสายลมตะวันตกซึ่งมุ่งหน้าสู่ฝั่งลาว…

เรื่องสั้น : 'รัตน์ คำพร
เรื่องสั้นเรื่องนี้เคยลงพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม : ฝากกันไว้อ่านอีกครั้งหนึ่ง

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน ๒๑, ๒๕๕๐

จดหมายจากนายกรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์สีเหลืองอุดมธรรมทำให้ผมดูข่าวสารจากทีวีหรือจากหน้าหนังสือพิมพ์ได้สบายใจอยู่หลายวัน หากไม่นับรวมอากาศเย็นรื่นระบายจากละอองฝนมาทางระเบียงห้องพักเป็นช่วงๆ การได้เดินไปไหนมาไหนโดยที่ผู้คนเลิกแบ่งฟากฝ่ายชั่วคราวทำให้ผมผ่อนคลายลงด้วย ผมไม่ค่อยอยากเข้ามาเมืองกรุงสักเท่าไรเลย หากไม่มีคนรักพักอาศัยและทำงานอยู่ในเมืองนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกลียดชังอะไรต่อความเป็นเมืองอันใหญ่โต ทว่าในระยะหลัง ผมรู้สึกค่อยๆ ออกห่างจากเมืองไปไกล และรู้สึกไม่ค่อยจะชินกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกโลดแล่นอยู่เต็มใบหน้าผู้คน ในหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี แน่นอน เกือบจะทุกสื่อก็ว่าได้
เช้าวันก่อนผมได้รับจดหมายฉบับหนึ่งมีตราครุฑประทับที่มุมซอง คนรักของผมหยิบมันขึ้นมาจากกล่องรับจดหมายใต้คอนโดมีเนียม เห็นว่ามีตราครุฑ แม้ไม่มีรอยประทับสีแดงว่า ลับเฉพาะหรือด่วนมากอะไรทำนองนั้น ทำให้เธอต้องย้อนกลับขึ้นมาที่ห้องแล้วปลุกผมซึ่งตื่นสายเสมอให้รู้ว่า น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ภายใน
“ไปทำอะไรมารึ?” เธออดสงสัยไม่ได้ เมื่อผมแกะจดหมายออกมาแล้วคงเห็นผมตื่นตกใจเหมือนโดนผีหลอก หรือไม่บางทีอาจจะโดนหมายคดีสำคัญให้ไปพบศาล หรือผมอาจจะออกอาการในดวงหน้าว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ผมเอามือขวาลูบหน้า ขณะมือซ้ายถือกระดาษจดหมายอย่างสั่นกลัว
“เกิดอะไรขึ้น?”
“ยังไม่รู้…” ผมเห็นหัวจดหมายเป็นแบบทางการมาก และใช้ที่อยู่ของทำเนียบรัฐบาลแล้วยิ่งทำให้แทบหยุดหายใจ อ่านมาจนถึงคำขึ้นต้นว่า เรียนคุณ ’รัตน์ คำพร ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ หลังจากนั้นจึงเขียนด้วยลายมือที่ดูมั่นใจและฉับไวแต่แฝงท่าทีซับซ้อนไว้ด้วย ลายเส้นระบุว่า นี่เป็นจดหมายส่วนตัวที่เขียนโดยผม -นายกรัฐมนตรีของประเทศ เพื่อจะบอกกล่าวกับประชาชนในเรื่องปัญหาความวุ่นวายต่อระบบประชาธิปไตยของเรา ผมเป็นคนที่ริเริ่มอะไรใหม่ๆ ให้กับระบบประชาธิปไตยของประเทศ ผมตั้งใจจะนำประเทศก้าวพ้นความยากจน เพื่อคนจนจะหมดไปจากประเทศนี้ ทว่าในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อผมและระบบประชาธิปไตยจ้องจะโค่นล้มผม ซึ่งนำความวุ่นวายมาให้ประเทศดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว…
เมื่อผมอ่านมาถึงวรรคนี้ทำให้อดอมยิ้มและแทบจะกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ มันเป็นไปได้อย่างไร ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีเขียนหนังสือเป็นการส่วนตัวเจาะจงมาถึงผมซึ่งเป็นหนึ่งในหกสิบกว่าล้านคนของประเทศ ผมเป็นเพียงไอ้ประชาชนผู้ต่ำต้อยคนหนึ่งเอง
“ไม่รู้ใครแกล้งล้อเล่นเราแล้วที่รัก…” ผมบอก แล้วเธอก็แย่งจดหมายไปอ่านเอง กระทั่งเธออ่านจบก็เกิดสีหน้าไม่สู้ดีนัก
“มีลายเซ็นท่านด้วยน่ะ…”
“จริงหรือ…”
“นี่ไง ใครจะกล้าแกล้งปลอมอย่างนี้”
“เฮ้ย อาจจะเป็นเพื่อนเราคนหนึ่งคนใดแกล้งบ้าก็ได้…” ผมว่าอย่างอดคิดถึงเพื่อนคนนั้นคนนี้ไม่ได้
เมื่อเราคิดดูดีๆ แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า น่าจะมีใครอุตริแกล้งเรา แต่เมื่อดูตราประทับไปรษณีย์และลักษณะจดหมายก็แทบจะบอกได้ว่าเหมือนจริงมากเลย และสิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือใครจะกล้าปลอมลายเซ็นนายกรัฐมนตรีเล่นๆ
เมื่อคนรักออกไปทำงานด้วยใบหน้ายิ้มหัวเราะให้ผมแล้วนั่นแหละ ผมจึงเริ่มสืบเสาะถามเพื่อนบ้านห้องใกล้ๆ ว่าใครได้จดหมายในลักษณะนี้บ้าง แต่ก็ไม่มีใครได้รับเลย ลุงยามประจำตึกบอกอีกว่า คนส่งจดหมายย้ำแกว่าช่วยดูแลจดหมายนี้ให้ถึงมือคนรับอย่างปลอดภัยด้วย แกจึงบอกคนรักของผมให้รีบไปแกะกล่องออกมาก่อนไปทำงาน
เรื่องนี้ทำให้ผมนอนไม่หลับอยู่สามวัน แม้จะรู้สึกดีใจลึกๆ ว่า หากมันเป็นจดหมายจากนายกรัฐมนตรีจริง ผมก็คงเป็นคนโชคดีคนหนึ่งราวกับถูกลอตเตอรี่รางวัลแรกๆ ก็ว่าได้ เพราะนอกจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดในการทำงานบริหารบ้านเมืองแล้ว ฯพณฯ ท่านคงไม่ได้บอกปัญหาแท้จริงในเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครได้อีก บางทีก็น่าสงสารท่านเช่นกัน เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตแม้การกินก๋วยเตี๋ยวอย่างคนปกติทั่วไปได้อีก… ระหว่างที่ผมทั้งดีใจกับความคิดนี้และโทรศัพท์ถามเพื่อนๆ ว่า ใครได้รับจดหมายแบบเดียวกับผมบ้าง หรือเพื่อนคนใดแกล้งให้ผมเป็นปลื้มจนหลายคนบอกว่า ผมใกล้จะเป็นผีบ้าเข้าไปทุกที เช้าของวันที่สี่จึงมีจดหมายกึ่งส่วนตัวกึ่งทางการจากนายกรัฐมนตรีมาหาผมอีกครั้ง
ครั้งนี้ท่านได้อธิบายที่มาที่ไปของการเขียนจดหมายซึ่งมันเป็นการสื่อสารยุคโบราณที่ไม่คู่ควรกับเจ้าของสัมปทานดาวเทียมเช่นท่านเลย ท่านบอกว่า ได้สุ่มตัวอย่างชื่อที่อยู่จากคอมพิวเตอร์แล้วหวยก็โผล่พ้นมาออกที่ผม ในยุคคิดใหม่ทำใหม่และทำเร็วเช่นรัฐบาลนี้ ท่านบอกว่าทุกอย่างจึงเป็นไปได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน ผมจึงเป็นผู้โชคดี ในท่อนท้ายของจดหมายท่านยังนัดหมายให้ผมได้รับเกียรติไปกินก๋วยเตี๋ยวข้างถนนย่านสีลม โดยท่านจะปลอมตัวมาในชุดขอทานแบบในรายการเรียลลีตี้โชว์ ท่านยังย้ำอีกว่า เรื่องนี้เป็นความลับมาก ท่านอยากลงมารับรู้ความจริงแบบคนธรรมดาบ้าง อยากมีอะไรที่เป็นส่วนตัวบ้าง จึงต้องการให้ทั้งการแต่งกายและเวลาที่นัดหมายเป็นความลับเฉพาะอย่างยิ่ง…
‘เอาละคราวนี่…’ ผมจะบอกคนรักก็ไม่ได้ วันเวลาและสถานที่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ผมมีเวลาอีกคืนที่จะได้คิดทบทวนว่าจะเอาอย่างไรกันดี? ว่าก็ว่าเถอะ ถ้าผมจะไม่บอกใครเลยแล้วลองไปหาท่านดู หากเป็นเรื่องจริงผมก็ถือว่าเป็นบุญแห่งชีวิตที่ได้กินอาหารร่วมโต๊ะกับมหาเศรษฐีและนายกรัฐมนตรีแบบคนธรรมดาที่ถอดหัวโขนมาคุยกันในวงอาหาร
เมื่อถึงเช้าของอีกวันซึ่งเป็นวันหยุดงานของคนรัก ผมจึงแอบหนีเธอมาหา ฯพณฯ ท่าน โดยบอกเธอว่า ผมมีนัดกับเพื่อนที่เป็นนักกฎหมาย ให้เธอใช้เวลาวันหยุดกับหนังดีๆ ในบ้านไปก่อน ตอนเย็นผมจะกลับมา ทว่าเมื่อมาถึงที่หน้าห้างแถวสีลมแล้ว ผมกลับจำไม่ได้ว่า ใบหน้าตาที่แท้จริงของท่านนายกรัฐมนตรีของผมเป็นอย่างไรกันแน่ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม หรือมีลักษณะคล้ายกบ ตามที่ทีวีและภาพข่าวหนังสือพิมพ์เขาว่า ผมจึงต้องลอบมาก่อนเวลาและทำทีเป็นเดินไปเดินมาอยู่หน้าห้าง
ก่อนเวลานัดประมาณสิบนาที ผมเกือบจะตัดสินใจเดินมาขึ้นรถกลับบ้านเสียแล้ว เพราะรู้สึกขึ้นมาว่า นายกรัฐมนตรีที่ไหนจะกล้าบ้าปลอมตัวเป็นขอทานโดยไม่มีกล้องรายการทีวีอยู่ด้วย มันไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติเลยกับการที่ท่านนายกฯ มานัดผมกินก๋วยเตี๋ยว ยิ่งกินหูฉลามก็ไม่ต้องคิดถึง ในขณะที่ผมต่อสู้ทางความคิดอยู่ภายในตัวนั้น ผมก็เห็นขอทานรูปหน้าสี่เหลี่ยมหมองคล้ำ ร่างผอมและดำมอซอเดินมาทางหน้าห้าง ผมจึงเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วแกก็ยื่นขันใส่เงินมาหา ผมจึงจำเป็นต้องล้วงเหรียญสิบใส่ลงในขัน เพื่อจะได้เห็นแกใกล้ๆ ดูไปดูมา แกก็ร้องขอเงินเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ผมเข้าใจว่า คงจะไม่ใช่ ฯพณฯ ท่านของผมแน่นอน เพราะหากท่านปลอมเป็นขอทานได้แล้ว ท่านคงไม่ละโมบโลภมากอยากได้เงินมากกว่าสิทธิที่ควรจะได้หรอก…
ในขณะที่ผมถอยหนีขอทานอยู่นั้นก็มีใครคนหนึ่งยื่นขันอีกใบมากระแทกหลังผม ผมหันกลับไปมองชายร่างท้วม ผิวขาวแต่คล้ำราวกับมีสีมาป้ายปาดไว้ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งอย่างกับถูกตัดขลิบมาเป็นการเฉพาะ แกสวมหมวกปีกกว้างคลุมใบหน้ารูปเหลี่ยมไว้ แล้วผมก็จำได้ว่าคือคนคนเดียวกันกับที่ผมรอคอย
“ใช่ ท่าน…” ผมพูดยังไม่จบประโยค ท่านก็บอกว่าไม่ต้องพูดอะไรมาก มาตามนัดก็ดีแล้ว และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ เพราะข่าวมันรั่ว ผมจึงกึ่งถูกลากจากขอทานผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศมาตามถนน
เราเดินตัดเข้ามาในซอยเล็กๆ ที่มีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่กลางซอย และเพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาของใครต่อใคร ผมจึงสั่งก๋วยเตี๋ยวในทันทีสองถ้วย พร้อมน้ำแข็งเปล่าใส่น้ำเย็นๆ แล้วเลือกนั่งที่โต๊ะว่างด้านในสุด
ท่านนั่งลงตรงข้ามผม หากสังเกตอย่างไม่ละเอียดท่านก็ดูเหมือนขอทานอย่างมากเลย เรานั่งมองหน้ากันอยู่พักหนึ่ง ดูท่านอิดโรยและอ่อนล้ามากๆ ผมไม่แน่ใจว่า มันเป็นฝีมือการเมคอัพหรือเพราะท่านเป็นอย่างนั้นจริงๆ
“กินก่อนครับท่าน…” ผมบอกเสียงแผ่วจางอย่างกล้าๆ กลัวๆ เมื่อเห็นว่าท่านจะพูดระบายความในใจสักอย่างออกมา
“อือ.. เรียกผมว่าอ้ายก็ได้เน้อ…” ท่านพูดปนสำเนียงคำเมือง “…เฮากิ๋นไปอู้ไปก็ได้”
“คือ… ผมอยากลองทดสอบการมีส่วนร่วมแบบนี้ดู คือ…” ท่านเหลือบมองซ้ายขวาอย่างกับลีลาของตำรวจสันติบาลเก่าว่ามีใครแอบฟังอยู่บ้างไหม เมื่อแน่ใจจึงเล่าต่อว่า “สมมติตัวผมเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมามีสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ายังไม่เข้าใจ คือเรื่องทรัพย์ส่วนตัวซึ่งขายไปนั้น มันเป็นสิทธิของผมที่ทำได้ใช่ไหม? แล้วทำไมมีคนมาจ้องจะโค่นล้มผมและหาว่าผมคอรัปชั่นอย่างโน้นอย่างนี้ ดูซิผมทำอะไรทั้งมากมาย ใช้หนี้ให้ไอเอ็มเอฟจนหมด ผมช่วยคนจนสักเท่าไร ขนาดให้ปลอมตัวมาเป็นขอทานเพื่อสุ่มฟังความคิดเห็นประชาชนผมยังทำเลย แล้วจะเอาอะไรอีก ผมยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ก็ว่าผมโกง ผมเอาเปรียบอีก ก็มีทางเดียวที่จะพิทักษ์ประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้งไม่ใช่หรือ…”
ท่านนายกรัฐมนตรีของผมระบายความในใจอีกมากจนท่านน้ำตาอาบแก้ม ผมสงสารท่านกระทั่งแทบจะเข้าไปกอดเพื่อปลอบใจ แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าท่านเป็นนายกฯ ไม่ใช่ขอทานอย่างที่เห็น ผมจึงทำได้เพียงรับฟังเออออให้ท่านสบายใจ นอกจากนี้ท่านยังบอกอีกว่า ไอ้ปัญหาทั้งหมดของประเทศนั้นมันเป็นปัญหาโลกาภิวัตน์ของโลก เราต้องปรับตัวนำประเทศสู่การบริหารแบบใหม่ให้ทันสถานการณ์โลก เราต้องเป็นตัวของตัวเอง เรามีอธิปไตยของรัฐ…
ผมฟังแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้เพียงผู้เดียว…
ท่านกินก๋วยเตี๋ยวอย่างกับมันเป็นอาหารที่แสนวิเศษเสร็จแล้ว ผมจึงถามท่านว่า “แล้วท่าน… อ้ายจะเอาอย่างไงต่อไป?”
ฯพณฯ ท่านมองหน้าผมราวกับโล่งอกที่ดูเหมือนว่า ผมจะเข้าใจในสิ่งที่ท่านได้กระทำต่อประเทศชาติ
“ผมคงต้องเขียนจดหมายถามพ่อบุชอีกทีหนึ่ง…”
ท่านตอบเสียงดังกว่าปกติจนเจ้าของร้านหันมามองเรา ผมจึงต้องแก้เกมด้วยการเรียกเจ้าของร้านมาเก็บเงิน เมื่อจำนวนเงินถูกขานออกมาว่ากี่บาท เราก็นั่งมองหน้ากันอยู่เนิ่นนาน ราวกับชั่งใจว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวบวกน้ำแข็งเปล่าในราคาแสนน้อยนิดนี้ หากให้ ฯพณฯ ท่านจ่ายในคราบขอทานก็จะทำให้ไม่สมจริงและคนจะสงสัยได้ ท่านยิ้มแล้วบอกผมว่า ให้จ่ายไปก่อนแล้วกัน หลังจากนั้นท่านก็หยิบขันขอทานลุกขึ้นเดินจากไป
ผมรีบจ่ายเงินโดยคิดง่ายๆ ว่า ผมเลี้ยงอาหารท่านก็ไม่เป็นไร มันก็เหมือนจ่ายภาษีให้รัฐนั่นแหละ แล้วหวังว่าจะเดินตามไปให้ท่านเซ็นชื่อลงบนเสื้อไว้เป็นที่ระลึกเพื่ออวดเพื่อนกับคนรัก หรือไม่ก็กะว่าจะขอขันขอทานใบนั้นไว้ด้วย แต่ก็ไม่เห็นนายกรัฐมนตรีของผมอีกแล้ว ท่านหายไปในย่านคนรวยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผมกะจะไหว้ลาท่านแล้วอวยพรให้ท่านเจริญๆ ประเทศชาติจะได้เจริญก้าวหน้าตาม โดยผมเองก็จะได้รุ่งเรืองร่ำรวยตามท่านไป อย่างน้อยผมก็ได้เลี้ยงอาหารท่านแล้ว ผมคงไม่ต้องจ่ายภาษีอีก…


เรื่องสั้น : 'รัตน์ คำพร

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ ๐๖, ๒๕๕๐

ผู้ต้องสงสัย

ผมบอกคุณแล้วไงครับ คุณตำรวจ ว่าผมได้ลืมกระเป๋าไว้จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจให้บ้านเมืองวุ่นวายและไม่ได้เป็นพวกก่อกวน อีกทั้งไม่ต้องคิดเลยว่าผมเป็นพวกคลื่นใต้น้ำ หากจัดหมวดผมไว้ได้ ผมขอเป็นนักดูนกนั่นแหละ ก็ผมบอกแล้วว่าในกระเป๋าดำใบนั้นมีเพียงกล้องส่องและคู่มือดูนกอีกสามเล่ม แต่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่ามันหายไปไหน?
ผมเป็นคนขี้ลืมเป็นว่าเล่นเลยแหล่ะ ทว่าไม่ถึงกับเล่นขี้หรอก… ไม่ได้พูดเล่นสนุกกับความตื่นตกใจของชาวบ้านเขาน่ะ สาบานได้ ผมว่าใครที่ตั้งใจเล่นล้อกับเรื่องพรรค์นั้นในห้วงเวลานี้ มันคงไม่ใช่คนแน่ๆ หรือมันอาจเป็นคนในคราบผีห่าอะไรสักอย่าง อย่าว่าแต่คุณตำรวจเลย ถ้าใครตั้งใจทำแบบนั้น ผมจะกระทืบมันให้ไส้แตกเลย เอาสิ ประเทศเขาต้องการความสามัคคีกันอยู่มันมากวนให้เสียชาติแห่งความสงบได้ไง
ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนทั้งนั้นแหล่ะครับ ขบวนการไล่คนสำคัญคนก่อนผมก็ไม่ได้เข้าร่วมกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้รักชาติ หรือไม่มีใจสีเหลืองน่ะครับ คุณไม่ต้องคิดจะถามต่ออีกน่ะว่า งั้นผมอยู่ฝ่ายคลื่นใต้น้ำหรือ ผมก็ไม่เคยเกี่ยวดองกับญาติคะแนนเสียงของเขาฝ่ายไหนเลย ผมไม่สังกัดพรรคการเมืองใดเลยทั้งสิ้น ผมไม่เห็นมีความจำเป็นด้วยว่า ตัวผม สังคมนี้หรือโลกนี้ หากขาดนักการเมืองแล้วพวกเราจะพากันแห้งตายลงเพราะล้าหลังหรือไม่เจริญ อีกความวุ่นวายไม่ต้องคิดอีกนั่นแหล่ะ ผมว่าคนจำพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้บนผืนดินนี้ แต่ก็ว่าก็ว่าเถอะ เขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับผม มีค่าพอๆ กับนักดูนกอย่างผมด้วย… ก็เท่านั้น
อันที่จริงแล้ว ผมไม่ถึงกับเชี่ยวชาญชำช่องว่านกตัวไหนเสียงอย่างไรไปทั้งหมดหรอก ขนาดสีนกใกล้บ้าน ผมก็จำไม่ได้หมดหรอก สารภาพจริงๆ ผมเป็นมือใหม่หัดเอาดีทางนี้ วันๆ ผมก็ไม่ทำอะไรนอกจากเข้าป่าไปส่องนก เดินทอดเท้าสบายๆ ตามชายป่า ผิวปากเป็นเพลงไปเรื่อย ซึ่งมาคิดดูอีกทีผมว่า กิจกรรมเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเป็นอาชีพกระทั่งใส่คำว่านักนำหน้าได้ ใช่! มันไม่จำเป็นต้องมีบนโลกเช่นนักการเมืองก็ได้… ผู้กำกับพูดถูกครับ แต่นักอย่างผมก็ไม่เคยคิดจะทำร้ายคนอื่น ขนาดนกผมยังไม่กล้าทำเสียงรบกวนมันเลย ฉะนั้นอย่าหวังว่าผมจะไปทำร้ายต้นไม้ใบหน้าตัดป่าให้ราบไปด้วย เพราะหากผมทำดังนี้เท่ากับผมทำลายความสุขของผมเอง…
ไม่น่ะ ผมไม่ได้ออกนอกเรื่องน่ะ ผมเพียงจะอธิบายถึงความจริงที่ผมเป็น และขอบอกไว้อีกอย่างว่า นักแบบผมนี้ ไม่เคยมีใครคิดอยากเติมสุไปข้างหน้าเช่นนักการเมือง! ไม่เลยครับท่าน ผมไม่ได้ตั้งใจจะกวนตีนท่านหรอก จะให้ผมเล่าว่าผมเป็นมาอย่างไรหรือครับ ว่าทำไมมาลืมกระเป๋าไว้ตรงนี้ ไม่น่ะ ผมลืมจริงๆ ผมเล่าไปแล้ว แต่หากท่านจะให้เล่าอีกครั้งก็ได้…
เรื่องมันมีอยู่ว่า กระเป๋าเป๋ใบดำยี่ห้อติ๊งต๊องของปลอมนั้น ผมใช้มานานแล้ว ผมตั้งใจเข้าเมืองมาซื้อคู่มือดูนก และตั้งใจจะต่อรถที่หมอชิตไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ออ ผมมาจากชายแดนของเชียงราย คุณตำรวจอย่าเหมารวมน่ะว่า เป็นพวกเดียวกันกับคลื่นใต้น้ำ ผมมีแต่คลื่นไส้ไปใหญ่เมื่อได้ยินชื่อนี้ จะให้ผมเล่าต่อไหมล่ะ ผมรอรถที่ป้ายรถเมล์แถวอนุสาวรีย์พอดีเห็นหญิงสาวงามตาคนหนึ่งเดินผ่านมา สาบานได้คุณตำรวจ หล่อนหันยิ้มข้ามไหล่ขาวแจ่มที่เกี่ยวเส้นสายเดี่ยวมาหาผม ผมจึงยิ้มตอบแล้วก็ตามเธอขึ้นรถเมล์ไป ผมดูก่อนแล้วว่า ไอ้รถเมล์สายที่เธอขึ้นนั้นไปทางหมอชิต ผมจึงพรวดขึ้นรถไปเลย มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนเธอลงหายไปแถวสะพานควาย ผมจึงตามลงมา แต่เธอหายไปแล้ว เธอหายไปทางไหนก็ไม่รู้ ผมจึงได้สติว่าลืมกระเป๋าเอาไว้ที่ป้ายรถเมล์
คุณตำรวจไม่สุภาพเลยที่ดูถูกว่า หน้าตาผมไว้หนวดเคราเหมือนผู้ก่อการร้ายแล้วจะมีสาวที่ไหนมามอง ผมขอให้ท่านขอโทษผมเดี๋ยวนี้เลย มันเป็นถ้อยคำที่ไร้มนุษยธรรมมากเลย ไม่รู้หรือว่า ด้วยถ้อยคำประนามต่างๆ แบบไม่ยั้งคิดนี้แหล่ะเป็นต้นเหตุของสงคราม ความวุ่นวาย และเป็นบทเรียนให้คนสำคัญคนก่อนโดนปฏิวัติด้วย ทำไมผมจะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ โอเค คุณตำรวจขอผม ผมยินดีจะพูดเบาๆลง หากท่านขอโทษผมด้วย…
ให้เล่าต่อใช่ไหม ก็เมื่อผมไปถึงตรงอนุสาวรีย์ชัยผมเห็นคนแตกตื่นวิ่งหนีอะไรก็ไม่รู้กระจายกันไปให้วุ่น แต่ผมก็ยังเดินฝ่าเข้าไปตรงป้ายรถเมล์ที่ผมเคยนั่ง ผมหามันจนเจอ แต่ผมก็เข้าไปไม่ได้ มีตำรวจทหารกั้นไว้หมด ผมยังโดนไล่อีกต่างหากว่า ผมจุ้นจ้าน ไม่รู้อะไรเลย ผมก็ตอบออกไปว่า ผมรู้แน่นอนว่ากระเป๋าที่เจ้าหน้าที่ถือเหล็กปลายติดจานเรดาร์สำรวจอยู่นั้นมันกระเป๋าผม นายตำรวจนั้นก็ยังไม่เชื่อ ยังไล่ผมไปอีกว่า ไอ้บ้า! ให้หนีไปห่างๆ ผมโมโหมาก อยากจะกระโจนเข้าใส่ ทว่าแกมีปืนอยู่ในมือ ผมเลยต้องถอยมารออยู่ไกลๆ
เมื่อผมหันหลังกลับมาอีกที ได้ยินเสียงคนโห่ร้องอย่างประหลาดใจ นักข่าววิ่งฝ่าฝูงชนเข้าไป ถ่ายรูป คุณตำรวจเองก็ว่า คุณก็เห็นมัน เหล่านกพิราบขาวบินออกมาจากกระเป๋าของผม ทุกคนเขาเห็นกัน ใช่ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แน่นอน ยกเว้นโดนสั่งห้ามลงพิมพ์ แต่ผมไม่เห็นนกห่าอะไรเลยสักตัว อันที่จริง ผมนี้ประสาทไวต่อเสียงและสีหรือกลิ่นของนกมากเลย แต่ผมไม่เห็นจริงๆ
แล้วคุณตำรวจจึงคิดจะตั้งข้อหาสร้างความวุ่นวายต่อความมั่นคงของชาติกับผมหรือ ผมอธิบายไม่ได้จริงๆ ว่านกพิราบที่คนทั้งหมดเห็นนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ผมก็บอกไม่ได้จริงๆ ว่าของในกระเป๋าผมมันหายไปไหน ทว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือว่า ผมลืมกระเป๋าไว้ ไม่ได้ตั้งใจจะก่อกวน ผมว่าผู้กำกับน่าจะปล่อยผมไปดีกว่า ผมสั่งตัวเองไว้แล้ว และจะสั่งญาติมิตรพี่น้องด้วยว่า อย่าเที่ยวไปลืมกระเป๋าไว้ในเมืองไหนๆเลยครับ นอกจากของมีค่าของคุณจะหายแล้ว คุณอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาคดีบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติก็เป็นได้
อะไรน่ะครับ คุณตำรวจ คุณจะปล่อยผมไปจริงๆ แล้วใช่ไหม อะไรน่ะ?! จะปล่อยให้ผมไปพักสงบในม่านลูกกรงหรือครับ
อย่าทำผมเลย… ผมขอร้อง ผมไม่ได้สร้างเหล่านกพิราบและความวุ่นวายที่ท่านเห็นมา ผมขอเตือนว่า ให้ท่านคิดดีๆ หากผมสามารถเสกนกออกจากกระเป๋าแทนเสียงระเบิดตูมตามได้ ไม่งั้นผมก็เสกให้ผมหายตัวไปแล้วล่ะ?!



'รัตน์ คำพร : เขียน