วันจันทร์, มิถุนายน ๐๕, ๒๕๔๙

เรื่องหินๆ

ดูเหมือนเป็นการงานที่ยากและหนักดั่งหินผากว่าจะสลักคำคำแรกลงบนแผ่นกระดาษได้ ต่อเมื่อได้ล่องเรือจากเชียงของมาสู่หลวงพระบางแล้วได้ยืนดูเกาะแก่งหินผาที่วางตัวเรียงรายไปเกือบตลอดลำน้ำโขงจึงได้เริ่มต้นเขียนคำว่า “เรื่องหินๆ”
มันคือแก่งหินสีดำหม่นกลางน้ำเชี่ยวที่โผล่พ้นมาส่วนหนึ่งเท่านั้น ลึกลงไปใต้น้ำน่าจะบอกถึงความยิ่งใหญ่จากสายน้ำวนกับเสียงซ่าซ่านราวเสียงคำรามข่มเรือที่สัญจรไปมาให้ระวังภัย น่าจะเป็นความรู้สึกแรกที่เห็นหินผาใหญ่ของใครหลายคนเมื่อมาลอยอยู่กลางแม่น้ำ กระทั่งบางทีกลายเป็นปัญหาอุปสรรคของการเดินทางในแม่น้ำ มันถูกหมายให้เป็นหินโสโกรกที่ต้องขจัดออกแล้วปล่อยให้เรือใหญ่ได้นำคนต่างถิ่นไปสู่เป้าหมาย เพื่อการสำรวจ การค้าและการท่องเที่ยว ก้อนความคิดนี้ได้ก่อขึ้นมาตั้งแต่ครั้งเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเหยียบเท้าลงแผ่นดินพญานาคา-ลุ่มน้ำโขงตั้งแต่รอยเท้าแรก
ระหว่างที่เรือแล่นล่องลงใต้ สายลมเย็นก็โบยตีใบหน้าดั่งจะกระชากความกลัวให้เลือนหาย เป็นการเตือนให้คุ้นชินกับภาพผู้คนสองฟากฝั่ง เด็กน้อยคนหนึ่งนั่งหัวเรือกราบเล็กๆ ใช้ไม้พายแหวกน้ำนำเรือทวนขึ้น ในขณะที่พ่อนั่งคอยคุมท้ายเรืออย่างให้กำลังใจ พวกเขาหยุดพายแล้วโบกมือให้เรือใหญ่ที่บรรทุกผู้โดยสารสู่เมืองหลวง (พระบาง) เลยกว๊านคุ้งน้ำมาไม่ไกล เด็กอีกสองสามคนกำลังยกจำ (ยอ) อยู่ริมผาหิน อีกคนวางเบ็ดอยู่บนแก่ง ลึกกว่าภาพที่เห็นคือถ้อยคำของชาวประมงแห่งเชียงของที่ว่า “แก่งหินคือบ้านของปลา”
หินมีค่าความหมายมากกว่าอุปสรรคโสโกรกในลำน้ำต่อชีวิตของชาวประมง หินแกะสลักในอดีตมันคือที่มาของมหาวิหารและปราสาทอันยิ่งใหญ่ เช่น นครวัด นครธม ในกัมพูชา ปัจจุบันหินเมื่อโม่แล้วมีส่วนในการก่อสร้างตึกใหญ่โตในเมืองใหญ่ บางก้อนใช้ประดับความงามสวนสวยของอุทยาน รีสอร์ท ห้องน้ำของผู้นิยมธรรมชาติ บางก้อนมีสีแพรวพราวมีค่ากว่าเงินทอง บางคนใช้เป็นเครื่องประดับ บ้างถือเป็นเครื่องรางของขลังคือโชคมงคลสู่ความสำเร็จ
เมื่อเลยปากแบ่งมาได้ไม่ไกล หญิงฝรั่งก็เดินมาขอที่นั่งว่างจากน้องสาวซึ่งนั่งอยู่คนเดียว แล้วทั้งสองก็พูดคุยกัน ไม่นานฝรั่งก็ล้วงเอาเครื่องมือจับทิศทางด้วยดาวเทียมออกมาพร้อมแผ่นที่เส้นทางน้ำโขงและแม่น้ำสาขาในลาว ดูท่าหญิงฝรั่งคนนี้จะไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา เมื่อไปถึงบ้านไหนหรือจุดแก่งใหญ่โต เธอก็ถามคนลาวที่นั่งอยู่ไม่ไกลนักว่า เขาเรียกว่าบ้านอะไร แล้วจดบันทึกตำแหน่งพิกัดลงบนกระดาษ
เมื่อเรือจอดเทียบท่ารับคนโบกเรือใกล้ดอนทรายแห่งหนึ่ง เธอก็รีบคว้าเอาถุงพลาสติกแล้วบอกให้คนลาวช่วยลงไปเก็บทรายหรือก้อนหินริมฝั่งมาให้เธอหนึ่งถุง คนลาวที่ถูกไหว้วานให้ทำสิ่งนี้กลับหัวเราะเสียงดังพร้อมรอยยิ้ม
“เอาไปเฮ็ดหยั่ง?”
หญิงฝรั่งไม่ตอบ
ทว่าผมกลับคิดไปถึงอองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสและหลุมศพของเขาริมแม่น้ำคานที่หลวงพระบาง
ก้อนหินที่อยู่ในถุงพลาสติกของหญิงฝรั่งคนนั้นคงมีความหมายพิเศษอะไรสักอย่างที่คนลาวท้องถิ่นไม่เข้าใจ บางทีอาจจะเป็นของที่ระลึก บางทีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจวิจัย แต่ไม่รู้ว่าลึกกว่านั้นแล้ววิจัยไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร มากไปกว่านี้ผมไม่รู้ มันเกินเลยที่จะสื่อความออกมาได้ทั้งหมด เพราะไม่รู้รากที่มาที่ไปของเธอคนนั้น เช่นเดียวกันกับความลึกของแก่งหินกลางน้ำก็ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะไม่เคยมุดดำดิ่งลงไป นอกเสียจากเรื่องเล่าที่ว่า มีพญานาคอยู่ใต้วังน้ำ
นายน้ำหรือคนขับเรือแห่งหลวงพระบางเคยเล่าให้ฟังว่า ระหว่างทางน้ำในลำโขงมีวังของพญานาคอยู่ที่แก่งหินใหญ่หลายแห่ง ทว่าถูกเจ้าเพชรราช -เจ้านายลาวในยุคปลายสมัยอาณานิคม เชื่อกันว่าท่านมีคาถาอาคมสามารถกำราบพญานาคไว้ได้หลายตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เริ่มการเดินเรือยนต์ในยุคนั้นได้ อย่างไรก็ตาม นายน้ำทุกคนก็ยังคงกริ่งเกรงต่อแก่งหินและพญานาคในวังน้ำอยู่จนปัจจุบัน จึงต้องมีพิธีกรรมไหว้เรือ ไหว้แม่น้ำและหินผาอยู่เป็นประจำ เพราะพญานาคของเขาคือการเคารพแม่น้ำและสติในการเดินเรือ

มีผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลียเคยถามผมว่า พญานาคมีจริงไหม? ผมบอกว่า หากพระเจ้ามีจริง พญานาคก็มีจริง แล้วเขาถามต่ออีกว่า มันคืออะไร ผมบอกว่าก็แม่น้ำโขงนั้นเอง แล้วคุณคิดว่ามันคืออะไรล่ะ?
กว่าจะล่องเรือถึงหลวงพระบาง ผมก็นั่งมองเกาะแก่งและสายน้ำวนจนเกือบลืมคนร่วมทาง ผมเห็นว่าก้อนหินกลางน้ำมีห้วงลึกลงไปในใจชาวน้ำโขงอีกแบบหนึ่ง เป็นจินตภาพชื่อนามต่างกันไป มีเรื่องเล่าบอกเหตุเภทภัย บอกหมายการดำรงอยู่ของฝูงปลา บอกประวัติศาสตร์ของคนที่เคยผ่านไปมา ในหลายครั้งบอกความเหนือจริงดั่งหินเหล่านั้นสามารถลอยน้ำได้ ทว่าสิ่งสำคัญคือบอกให้เคารพซึ่งกันและกัน ทั้งธรรมชาติและคนกับคน
บางทีเมื่อถึงหลวงพระบาง ผมจะเข้าไปถามหญิงฝรั่งคนนั้นว่า “คุณเอาก้อนหินจากแม่น้ำโขงไปทำอะไร?” และอาจจะได้คำตอบที่ทำให้ผมสามารถเขียนถึงเรื่องหินๆ ออกมาได้จนสำเร็จ
นพรัตน์ ละมุล : เขียน