วันพฤหัสบดี, ตุลาคม ๑๘, ๒๕๕๐

เรื่องไม่เป็นข่าว

หมายเหตุ : ขอพักยกจากสารคดีมาอ่านเรื่องสั้นกันเถอะ
...................................................................

ราวกับว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้เรียกให้ผมออกไปจากถ้ำอันเงียบสงบ
ผมจึงปิดพัดลมที่ส่ายใบหน้าให้ความเย็น แต่ด้านหลังมอเตอร์ของมันร้อนแทบจะไหม้ มันไม่รู้หรอก ผมจะออกไปไหน ทว่าก็ถึงเวลาเสียทีที่ต้องออกไป ประตูปิดลงอย่างกังวล กล้าๆ กลัวๆ ที่จะปล่อยให้ใครสักคนไปเผชิญหน้ากับโลกร้อนภายนอก ข้างในอกผมเย็นเยียบขณะลากเท้าสะพายย่ามไปสู่ประตูลิฟต์ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเรียกร้องหาผม? บางทีผมคงคิดเอาเอง มันจะนำพาผมไปสู่อะไรสักอย่าง หรืออาจจะเติมเต็มกระเพาะอันร้อนรนให้เย็นสงบลง
ซอยแห่งภูโพรงสี่เหลี่ยมสูงทอดไปยังจรดถนนใหญ่ ทักทายกันที่นั่นเหมือนผู้คนทั่วไปซึ่งใช้สายตามองเห็นกันแต่ไม่รู้จักกันเลย ร้านขายก๋วยเตี๋ยวสามร้านกับผู้ขายยืนโด่เด่เดียวดายตรงริมถนน สามแยกของโลกซอยนี้ร้อนมาทั้งวัน ร้านขายหมูปิ้งซึ่งไฟถ่านคุย่างหมูจนเยิ้มหยดส่งคาร์บอนไดอ็อกไซด์ขึ้นไปรวมกับหมู่เมฆและตรึงท้องฟ้า ร้านส้มตำแกล้มปีกไก่ทอดเร่งไฟแก๊สจนน้ำมันเดือดปุดแตกไอ เหมือนกับเหงื่อของแม่ค้าชราทั้งสอง
น่าจะมีร้านโลตัสกับร้านเซเว่นเพียงสองแห่งเท่านั้นที่อากาศเย็นตลอดวันคืน หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ามีความเยือกแข็งบรรจุมาแล้วตั้งแต่แรกครั้งสร้างโลก ทั้งสองร้านตั้งเผชิญหน้ากันจนราวกับอาการของคนควันออกหู ผมคะเนไม่ได้ว่าหนังสือพิมพ์ร้านไหนจะมีเสน่หากว่ากัน แม้มันจะเป็นฉบับเดียวกัน ข่าวเดียวกันก็เถอะ นอกเสียว่าใครจะยิ้มให้ก่อน อย่างน้อยจะได้ทำให้อากาศภายนอกเย็นลงอีกนิด
ฉับพลันฝนก็ตก ไม่มีลมพายุนำพามาก่อน ราวกับความร้อนของแผ่นโลกซึ่งกำลังลุกไหม้ท้าทาย มันจึงตกลงมาให้สาสม เพื่อต้องการดับไฟนรก นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่อีกด้านของสิ่งหนึ่งก็อยู่อีกด้านของสิ่งหนึ่ง แต่ทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนกับผมที่ร้อนอกขึ้นมา เมื่อพบว่า ทั้งร้านโลตัสและร้านเซเว่นไม่มีหนังสือพิมพ์ที่จะล้วงเอาเงินในกระเป๋าอันน้อยนิดของผมได้
ผมถูกความเย็นแบบขั้วโลกเหนือ-ใต้ของร้านสะดวกซื้อทั้งสอง ผลักให้มายืนมองสายฝนเย็นฉ่ำคลุกเคล้าไอร้อนบนถนน ยวดยานเพ่งไฟตาแดงเหลืองแล่นย่ำน้ำกระจายสาดใส่รถเข็นแม่ค้าชรา ทั้งสองยืนนิ่งราวกับประหลาดใจที่ฝนตกลงมา หรืออาจเป็นไปได้ว่า หลังจากลุกลนเอาแผ่นพลาสติกปิดอาหารแล้วก็รอคอยลูกค้าอย่างใจเย็น
แม่ค้าชราร่างเล็กบางวิ่งเข้ามาใต้ชายคาอาคารที่ผมยืนอยู่
“แดดร้อนมาก แล้วฝนก็ตกลงมาอีก...”
แกคงจะพูดกับผม หรือไม่ก็ระบายไฟคับอกออกมาบ้าง
“ร้อนแล้งจัด แล้วตกหนักจนท่วม...” แกว่าต่อ
เมื่อมองดูทั่วทั้งบรรยากาศของปากซอยและริมถนนใหญ่ใกล้ๆแล้ว มีร้านค้าขายอาหารอยู่แปดร้าน แต่มีคนที่อาจจะเป็นลูกค้าได้เพียงผมคนเดียว ไม่แน่แกอาจจะพูดกับผม
ผมไม่กล้าเอ่ยอะไรออกไปกลัวความวังเวงในสายฝนบริเวณนั้นจะทำให้ความสับสนวุ่นวายเข้าสิงสู่ แกกล่าวต่อว่า “...อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ฝนตกแล้วน้ำท่วม น้ำท่วมแล้วฝนแล้งยาวนาน ในปีเดียวเท่านั้นเอง...”
สุดวรรคนี้แบบไม่เว้น แกก็จู่โจมผม
“อยู่บ้านไหน?”
แกคงหมายถึงว่ามาจากจังหวัดไหน อาจเป็นเพราะลักษณะมนุษย์ถ้ำแบบผมที่ออกมาจากโพรงเมื่อไรก็ต้องมีย่ามเวทมนต์เป็นเพื่อน ราวกับแกได้กลิ่นชนบทในย่ามผม
“พักอยู่ข้างในนั้น...” ผมบอก แล้วชี้ไปยังโพรงชั้น 5
“แม่ใหญ่อยู่ไส?” ผมรุกคืนบ้าง
แกพูดภาษากลางอย่างชัดเจนจนได้กลิ่นปลาแดกออกมาจากไรฟัน
“ซอยเกล้า...”
แกเงียบไปนาน ราวกับนิ่งมองสายฝน ขณะรถเครื่องสกูตเตอร์เข้ามาเทียบหน้ารถเข็นของแก แม่ค้าชราอีกคนหายไปในม่านฝนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ เหลือเพียงรถสองคันจอดเทียบกันคอยต้อนรับลูกค้าแทน
“จะเปลี่ยนแปลงจากหน้าไหนไปหน้าไหน จะหน้ามือเป็นหลังตีน จะประชาธิปไตยหรือรัฐประหาร เฮาก็เป็นหนี้เหมือนเดิม จนหมดไม่เหลืออะไร...” เหมือนว่าเสียงแหบสั่นพร่านั้นออกมาเอง โดยที่แกไม่ได้เปิดปากขยับฟัน ยิ่งใบหน้ายังเฉย นิ่งมองรถเข็นถูกพายุกระหน่ำราวกับโลกต้องการให้น้ำท่วมในวันนี้
ทีแรกผมนึกว่าผู้ชายร่างเล็กลงจากสกูตเตอร์มาซื้อของ ทว่าผมนึกผิดกลับด้าน หลังจากถอดเสื้อกันฝนออก เขากลายร่างเป็นผู้หญิงที่มีใบหน้าแห้งแล้ง แม่ค้าที่คุยอยู่กับผมก้าวออกไปอย่างช้าๆ ราวกับไม่รู้สึกดีใจที่รถเข็นขายของสามารถเรียกลูกค้าเองได้ โดยที่แกไม่ต้องเสียน้ำลายสักหยด
ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า บางทีหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคงเพรียกหาให้ผมออกจากถ้ำ เพื่อมาพบสิ่งมหัศจรรย์ วัตถุขายตัวเองได้โดยไม่มีผู้ขาย บางทีข่าวในหนังสือพิมพ์ก็ขายตัวเองได้โดยไม่มีคำอธิบายหรือไม่มีตัวอักษร เรื่องนี้ก็เช่นกันมันขายของมันเอง เปล่งบารมีของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศหรือสภาพการเมือง...
แม้ค้าชราคนที่คุยกับผมเก็บร่มแล้วเข็นรถฝ่ากำแพงฝนออกไปบนถนน ขณะหญิงใบหน้าแห้งแล้งภายใต้แว่นตาใสขอบทอง เดินเข้ามาชายคาอาคารที่ผมยืนอยู่ แกตรงเข้าไปภายในร้านของชำที่ดูรกร้างใกล้ร้านโลตัส แล้วดึงเก้าอี้ตัวหนึ่งออกมานั่ง พร้อมงัดเอากระเป๋าดีดปังขึ้นมาวางบนโต๊ะ ล้วงเงินขึ้นนับ ต่อมาจึงดึงสมุดรายการขึ้นมาจด แล้วเพ่งสายตาราวกับดวงไฟส่องทางไปยังท้องถนน พร้อมคำรำพึง “ขาดอีกสี่คน มันไปไหนกันหมด เดี๋ยวจ่ายดอกบานแน่”
ผมไม่ทันสังเกตว่าหลังม่านฝนเหล่านั้น พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวและคนอื่นๆ ก็หายไปแล้ว ผมรู้สึกราวกับโลกภายในของผมจับแข็งลงอย่างฉับพลัน มีบางอย่างที่มากกว่ากวักมือให้ผมเดินตากฝนลุยน้ำเปียกโชกไปสั่งก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ กินคลายหนาวเหน็บ ยังร้านฝั่งตรงข้าม และมีเสียงหนึ่งไล่กรรโชกมากับสายลมฝน
“ขายของไปก็ได้แต่ดอกเบี้ย... ดอกฟ้า! ดอกฝนก็จะถล่มลงมาซ้ำเติมกันหรือไงวะ?!”
ผมเหลียวกลับไปมอง ไม่เห็นใครเลยนอกจากรถเข็นเปล่ากับหมูปิ้ง ราวกับเสียงนั้นโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน หรืออาจจะมาจากท่อน้ำเน่าแห่งสำนักข่าวใต้ดิน ผมไม่สามารถเลี้ยวซ้ายหรือขวา ได้แต่ยืนนิ่งแข็งตากฝนอยู่กลางถนน แสงไฟรถส่องทางตรงมาพร้อมแตรแผดก้อง

ขณะเสียวสันหลังวูบราวกับฟ้าจะถล่มลงมาในทันที

'รัตน์ คำพร : เขียน

แนะนำหนังสือ



รวมเรื่อง
(โคตร)
สั้น
“ภาพร่าง
ของความหลับ”


คุณชอบอ่านหนังสือประเภทไหน? เบาบางอย่างไร้สาระ หวานปนเศร้า
อย่างงานเกาหลี หรืองานประเภท “ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนทุบหัว”

อย่างที่นักเขียนชาวเยอรมัน นาม ฟรันซ์ คาฟกา กล่าว

ถ้าหากตัวเลือกของคุณเป็นอย่างที่คาฟกากล่าวแล้วละก็หนังสือ
“ภาพร่างของความหลับ” ผลงานเล่มแรกของนักเขียนหนุ่ม
“สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ “ ก็ไม่น่าทำให้คุณพลาดได้
“ภาพร่างของความหลับ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 62 เรื่อง

ที่จะพาคุณเปิดโลกทัศน์ ความคิดและมุมมองใหม่ๆ
อย่างที่ไม่มีอ้างอิงและไม่สามารถอ้างอิงได้จากในตำราที่คุณเรียนมา
ฉะนั้น...

อย่าหวาดกลัวถ้าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนโดนทุบหัว...
อย่างแรง!

“ภาพร่างของความหลับ”
สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ : เขียน
สำนักพิมพ์ง่ายงาม : พิมพ์ครั้งแรก
จำนวน 192 หน้า ขนาดพ๊อกเก็ตบุ๊ค ปก 4 สี กระดาษปก ปอนด์วาดเขียน 100 แกรม ราคา 150 บาท

สายส่งศึกษิต 022-259-536-40
สั่งซื้อโดยตรง : ngaingam_art@lycos.com
หรือติดต่อ 087-7178055

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน (2)



















สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................


กินปลาริมโขงสีมรกตแล้วเที่ยวชมปราสาทวัดพู

ที่ด่านวังเตา เรามีเจ้าหน้าที่ลาวในโครงการฯ เอารถแวนสี่ประตูขับเคลื่อนสี่ล้อมารอรับเรา น้องพันเป็นคนขับและไกด์ในตัว น้องเมี่ยงเป็นผู้ช่วยบริการ รถสีเลือดหมูรับของและคนขึ้นรถพร้อมแล้วจึงแล่นสู่ทิศตะวันออก สู่ภูมิประเทศที่มิต่างกันเลยกับสภาพพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
ทุ่งนาหน้าแล้งเหลืองแต้มแดงใบไม้ น้ำตาลดำของต้นไม้และพื้นดิน เต็งรังสลับทุ่งนาและบ้านเรือน ออกห่างจากด่านวังเตา บ้านยิ่งบางตาและมาหนาแน่นอีกครั้งบริเวณแอ่งที่ลุ่ม คาดว่าเมืองปลายทางค้างแรมคืนนี้คือเมืองโขง ว่ากันว่า เมืองนี้เป็นดงปลา มีวังปลามากมาย ดอนในแม่น้ำโขงอีกหลายจนเรียกขานกันว่า
สี่พันดอน
ทว่ายามนี้เที่ยงคลายไปจนบ่ายแล้ว เราขอแวะกินข้าวเที่ยงริมโขงและไปชมปราสาทวัดพูเสียก่อน เราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งญีปุ่นเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการสร้าง มองจากบนสะพานเห็นแม่น้ำสีเขียวมรกตราวกับน้ำทะเล แต้มด้วยดอนทรายสีเหลืองนวลที่ดูคล้ายชายทะเลแถบอันดามัน ทำให้พวกเรา-คนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า นี่แม่นแม่น้ำของบ่?
เท่าที่ผมเดินทางล่องเหนือใต้ตามลำน้ำโขงมา หากใช้สีสันบอกวรรคตอนของความยาวแม่น้ำโขง 4,909 กม. พอจะให้แสงสีได้ว่า แม่น้ำโขงในธิเบตมาจนถึงจีน-ยูนนานมีสีขาวจากการละลายของหิมาลัย จากเมืองหลินซาง-ยูนนานถึงเชียงรุ่งมีสีขุ่นเหลืองจาง และจากเชี่ยงรุ่งเข้าพรมแดนพม่า-ลาว และเขตไทย-ลาว ที่เชียงของถึงหลวงพระบาง แม่น้ำโขงมีสีกาแฟจาง เรื่อยมาจนถึงแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นแดนไทยอีสาน-ลาว มีสีปูน และมามีสีเขียวมรกตในเขตลาวใต้
จุดเริ่มต้นน่าจะบริเวณก่อนแม่น้ำจะเข้าสู่เขตสี่พันดอนนี่แหล่ะ เขียวมรกตดังน้ำทะเล แล้วไปสู่กัมพูชา เวียตนามนั้นคือสีน้ำเงินทะเล นี่ขนาดสีสันพื้นผิวในฤดูกาลหน้าแล้งเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอจะกล่าวได้ว่า แม่น้ำโขงมีสีหลากหลาย แล้วจะไม่ให้เราแปลกใจได้อย่างไร?
เราหยุดรถที่ตลาดดาวเรืองในเมืองปากเซ เมืองใหญ่ในแขวงจำปาศักดิ์ และน่าจะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตลาวใต้ สำรวจตลาดและตระเตรียมถ่านแบตเตอรี่ถ่ายรูป รวมทั้งมองหาหนังสือกับแผนที่ของลาวใต้ ทว่าเราได้เพียงถ่านแบตเตอรี่ แผนที่และหนังสือไม่มีให้เห็นแม้จะเป็นภาคภาษาลาวหรืออังกฤษ
อากาศร้อนระเหิดเกาะอยู่ทั่วมวลอากาศ แขวงจำปาศักดิ์ –ลาวใต้จัดว่าอยู่ในเขตร้อนกว่าลาวเหนือที่มีอากาศบนดอยเย็นสบายตลอดปี แต่ก็มีพื้นที่ดอยสูงในลาวใต้เหมือนกัน เช่น ปากซองที่หนาวเย็นหมดปี จนสามารถปลูกกาแฟอาราบีก้าได้รสอร่อยขึ้นชื่อไปไกล
น้องพันบอกเราว่าจะไปกินข้าวกันที่แคมโขงตรงบั๊คบรรทุกรถและคนข้ามฟาก รถออกจากปากเซแล้วจึงแล่นลงใต้ ไปยังจำปาศักดิ์ รถจอดนิ่งริมตลิ่งใกล้บั๊คแล้วตามน้องพันไปเรือนแพริมโขง น้ำสีเขียวมรกตพลิ้วโชยลมเย็นมาเหนือผลึกเหลว ทำให้คลายร้อนจากการเบียดแน่นมาในรถทั้งคนและข้าวของได้
เรือนแพโยกโยนเบาๆตามความแรงของเครื่องยนต์บั๊ครับส่งคนและยนต์ไปอีกฟาก กลางโขงมีดอนใหญ่เขียวสด ไกลออกไปแก่งหินผาอยู่ทางทิศเหนือ เบื้องบนไกลมองเห็นภูเกล้าอยู่สูงสุดตระหง่าน เด่นราวกับแม่หญิงสูงศักดิ์เกล้าผม นี่แหล่ะ ที่บางคนเรียกเทือกเขาเบื้องตะวันตกนี้ว่า “ลึงคะบรรพต”
รายการอาหารที่เราสั่งมีปลาทั้งหมด มาเมืองหลวงของปลาแล้วไม่กินปลาก็ดูเหมือนยังเดินทางมาไม่ถึง ปลาทอด ลาบ ก้อย ปั้นข้าวเหนียวและแกล้มด้วยส้มตำปลาแดกครบขวบปี อีกทั้งมีแอ็บขี้ปลามาตบท้าย ใครบางคนว่า แม้อากาศภายนอกจะร้อน แต่เรือนอาหารบนน้ำเย็นสบาย หากได้เหล้าดีของจำปาศักดิ์อีกสักจิบก็ทำให้อาหารรสแซ่บขึ้นเยอะ แล้วก็มีหญิงสาวชาวปากเซซึ่งนำลูกทัวร์มาเที่ยวเล่นกินข้าวในร้านเดียวกัน ได้เข้ามานำเสนอเหล้าพูเกล้ามีรูปตราพูเกล้าอยู่ที่ขวดขนาดเล็ก เธอบอกว่า เหล้าพูเกล้าได้ผสมสมุนไพรอายุวัฒนะจากยอดพูเกล้ากันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งน้ำที่ใช้ในการกลั่นเหล้าข้าเหนียวนี้ได้มาจากบ่อน้ำศักดิ์บนยอดพูเกล้าเช่นกัน ดื่มแล้วแก้เจ็บเอว แก้ปวดเมื่อยจากการนั่งรถมานานได้ดีเลยแหล่ะ
เราซื้อดื่มที่โต๊ะอาหารหนึ่งขวดแล้วซื้อติดเป้ไว้อีกขวด เพราะเป็นเหล้าท้องถิ่นสมชื่อ ส่วนเธอก็ไม่ใช่ว่าจะได้อะไรจากการแนะนำ เพียงแต่เห็นเราเป็นคนต่างถิ่นและอยากให้เราได้รู้จักเมืองมรดกโลกแห่งจำปาสัก มีอะไรดีๆ หลายอย่าง บอกตามตรง ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่า ปราสาทหินวัดพูที่เรากำลังจะข้ามฟากไปชมนี้ถูกตีตราเป็นมรดกโลกไปแล้ว
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร ทำให้ทัศนียภาพการมองภาพข้ามโขงไปสู่ภูใหญ่นั้นเปลี่ยนไป
พี่ตุ่นบอกว่า กลุ่มปราสาทหินที่นี้มีอายุมากกว่าอังกอร์วัดของกัมพูชาเสียอีก ผมไม่ค่อยเชื่อนักในวินาทีแรก ผมจึงท้วงไปว่า มันขึ้นอยู่กับมุมมองและทฤษฎีที่ใช้อธิบายและพิสูจน์หลักฐาน อย่างไรก็ตาม ผมว่าการมีอายุมากน้อยกว่ากันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญสำหรับผมคือคนท้องถิ่นในอาณาบริเวณนี้คิดเห็นหรือมองปราสาทหินแห่งนี้อย่างไร รวมทั้งเขาได้เรียนรู้ปัญญาอะไรจากปราสาทหินที่จะเดินทางต่อไปในอนาคต?
ผมกับพี่ตุ่นถกประวัติศาสตร์กันพอเป็นพลังหล่อลื่นให้อยากไปชม ผมจึงตัดบทก่อนอิ่มหนำจากอาหารปลาว่า เราไปดูกันเลยจะดีกว่า
เราข้ามฝั่งด้วยบั๊คหรือแพติดยนต์ไปอีกฟาก แล้วผ่านบ้านโพนแพงที่มีบ้านเรือนไม้ยกพื้นสูงสวยงาม สลับกับตึกรูปทรงฝรั่งครั้งอาณานิคม รอบรั้วบ้านมีหมากไม้ร่มรื่น มะม่วง กล้วย สลับกับแปลงผัก แคมโขงริมน้ำปลูกข้าวโพดแลผักกาด เสียดายไม่ได้หยุดชม ว่ากันถึงที่สุดหากได้เดินชมหรือมาอยู่แล้วน่าจะรู้อะไรมากกว่านี้ บางทีอาจจะพบปริศนากลุ่มปราสาทหินเชิงภูใกล้หมู่บ้านนี้ก็ได้
แม่หญิงผู้บรรยายในพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นเล่าว่า กลุ่มเทวะสถานวัดพูแม่นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดูของชาวขอม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพูเกล้า มีโขดหินธรรมชาติอยู่ยอดสุดที่เราเห็นจากไกลๆ เหมือนรูปเกล้าผมมวยไว้นสุด หรือที่ทางล้านนาเรียกว่าจิกและชาวฮินดูให้การสักการะว่าเป็นศิวะลึงคะอันเป็นเทพเจ้าสูงสุด และคำว่า “ลึงคะบรรพตหรือลึงคะปาระวะตะ” ก็น่าจะมาจากรูปทรงของภูเขาแห่งนี้
ผมเพิ่งทราบบัดนั้นเองว่า ตรงบริเวณที่เราเลียบน้ำโขงและอยากจะแวะพักลงสำรวจคือเมืองโบราณที่อยู่มาคู่กับเทวะสถานโบราณแห่งนี้ ว่ากันว่ามีอายุการสร้างก่อนนครวัดของกัมพูชา ซึ่งมีของเก่าโบราณถูกค้นพบมากมายแม้หลายอย่างจะสูญหายไปกับสายน้ำโขงบ้างแล้ว และนับจากปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาได้มีโครงการค้นคว้าวัตถุโบราณของลาวร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานฝรั่งเศส ได้สำรวจทางพื้นดิน และภาพถ่ายทางอากาศ สร้างแผนที่เมืองโบราณได้ชัดเจนที่สุด
ดูเธอจะบรรยายด้วยความเร็วที่มากกว่าลักษณะปกติของหญิงลาวทั่วไปที่จะค่อยย่างเยื้องเว้าชัดไม่รีบเร่ง แต่อาจเป็นได้ว่ามีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นรออยู่จึงทำให้เธอต้องรีบเร่งเล่าหลักฐานต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้สัดส่วนกับเวลาอายุของเมืองโบราณที่ว่า น่าจะสร้างตั้งแต่ท้ายคริตศตวรรษที่ 5 หรือพุทธศตวรรษที่ 10 ตัวเมืองมีเนื้อที่ 2 X 1.8 ก.ม. อ้อมล้อมด้วยคูกำแพงดินสองชั้น ในศิลาจารึกของกษัตริย์ชื่อ เทวะมิกะ พบที่บ้านพระนอนเหนือในปัจุบัน กล่าวว่า ท้ายพุทธศตวรรษที่ 11
ดินแดนแห่งนี้ได้เป็นนครหลวงของพระเจ้ามเหนทระวระมัน ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปปกครองเขตซำบรไปรกุก ห่างจากเมืองโบราณนี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 240 ก.ม. โดยมีเส้นทางโบราณจากปราสาทวัดพูไปทางนั้นจนถึงเขตกัมพูชาในปัจจุบัน นักวิชาการและนักค้นคว้าหลายท่านสันนิษฐานว่า เมืองโบราณที่ปราสาทวัดพูนี้น่าจะคือนครเศรษฐาปุระ(เสดถาปุระ)
พอออกมาจากพิพิธภัณฑ์อากาศร้อนก็เข้ามาจู่โจมในพลัน น้องพันและน้องเมี่ยงบอกผมว่า จำปาศักดิ์น่าจะมาเยี่ยมยามในช่วงเดือนมกราคมคือช่วงปลายหนาว นอกจากอากาศเย็นสบายแล้วยังมีงานประเพณีอื่นๆ ด้วย
เมื่อเราไปถึงประตูทางเข้าใกล้สระน้ำหรือบารายก็สะดุดตากับโครงหน้าของคุณยายที่ขายดอกไม้และธูปเทียนบูชาในร้านมุงคาเป็นอย่างมาก มีลักษณะค่อนไปทางขอม หรือไม่ก็ชวา มาลายูเป็นอย่างมาก เราแวะซื้อน้ำและดอกไม้บูชาแล้วเดินไปตามทางเดินสู่ปราสาทประธาน
ผมแอบถามชาวบ้านว่า สระน้ำด้านหน้าชื่อว่าอะไร พวกเขาบอกว่า หนองสระ ไว้อาบน้ำชำระกายก่อนขึ้นไปบูชาพระ
เราเดินมุ่งสู่ทิศตะวันตก ปราสาทหินวัดพูหันหน้าไปทางทิศตะวันออกราวกับสร้างเป็นเทวะสถานให้พระศิวะไว้ชมแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก แน่นอนว่า ตามธรรมเนียมของขอม-ฮินดูแล้ว การสร้างปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกก็เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าสูงสุดไว้บนพื้นพิภพ หากหันไปทางทิศตะวันตกก็น่าจะมีอยู่ไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นคือปราสาทนครวัด บ้างว่าพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 สร้างขึ้นด้วยการจำลองภูมิจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร และเพื่อเป็นที่ประทับหลังความตายของพระองค์ เพราะพระองค์คือส่วนหนึ่งขององค์วิษณุหรือพระนารายณ์ (นี่คือการตีความของฝรั่ง แต่เขาพระสุเมรุน่าจะเป็นที่อยู่ของพระอินทร์)
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเดินเลยโรงท้าวและโรงนางซึ่งเป็นปราสาทที่พักก่อนเข้าไปบูชาศิวะแล้วเดินขึ้นบันไดไปจนถึงตัวระเบียงชั้นแรก ด้านซ้ายเป็นเส้นทางโบราณและโรงวัวอุสุพะลาด ด้วยทางเดินยังไม่บูรณะ ยังมีส่วนที่ดูเหมือนกำลังจะทรุดและส่วนที่บันไดขึ้นต่อไม่ได้ ต้องอ้อมซ้ายขวาไปทางใหม่ที่น่าจะตัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว
เมื่อหันกลับมาดูแม่น้ำโขงจากใต้ต้นจำปาลาวที่เบ่งบานขาวนวลและตกร่วงลงส่งกลิ่นหอมเกลื่อนกล่น ผมรู้สึกว่าพอจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์ระหว่างปราสาทกับแม่น้ำโขง หรือระหว่างภูเขาสูงสุดกับแม่น้ำ...
ตอนนี้ตอบได้อย่างไม่เต็มคำว่า คนนั่นแหล่ะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภูเขากับแม่น้ำ จากศิลาจารึกเมื่อศตวรรษที่ 5 และ 6 กับที่พี่ตุ่น เคยเล่าให้ผมฟังว่า ภูหินแห่งนี้เคยมีการสร้างปราสาทไว้ก่อนแล้วและร่วมสมัยกับเมืองโบราณ ทว่าพุพังและหายสาปสูญไปแล้ว จนต่อมาได้สร้างปราสาทครอบทับของเก่าจนได้ชื่อปราสาทหินวัดพูในปัจจุบันนี้ คาดว่าเริ่มสร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อเติมบางส่วนในศตวรรษที่ 16 และ 17
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวว่า ปราสาทหินวัดพูแห่งนี้หรือลึงคบรรพตเป็นแม่ของปราสาทเขาพระวิหาร และเป็นท่านยายของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน ปัจจุบันปราสาทหินวัดพูได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ขององค์กรยูเนสโก ในวันที่ 25 ธ.ค. 25525 เป็นมรดกโลกแห่งที่สองของลาว นำก้นหลวงพระบางมาติดๆ
ไม่แน่ใจว่า ยูเนสโกนี้เป็นเครือญาติฝ่ายไหนของปราสาทจึงสามารถจดทะเบียนอะไรต่อมิอะไรว่าเป็นมรดกของโลกหรือของใครได้เสมอ หรืออาจจะเป็นญาติทางการท่องเที่ยวในกระแสหมู่บ้านโลกสมัยใหม่
ผมเดินตกหลังสุดของคณะเพราะมัวแต่มองนั้นพิจนี้ รวมทั้งการเก็บภาพสังเกตสังกาหน้าตาหินโบราณและหน้าตาของยายขายดอกไม้บูชาบางคน มันทำให้ผมหวนคิดถึงการเดินขึ้นบูโรพุทโธ ในชวา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมค่อยๆขึ้นสู่ระเบียงปราสาทประธาน แล้วมองกลับลงมาเบื้องล่างผ่านกิ่งก้านและดอกจำปาสู่มหาขรนที –แม่น้ำของ
ในวาบหนึ่ง ผมมองได้เห็นเสี้ยวจักรวาลความคิดของผู้สร้างปราสาทย้อนมาในปัจจุบัน ปราสาทวัดพูและพูเกล้าเปรียบได้เขาพระสุเมรุในทิศตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำโขงในทิศตะวันออกเปรียบดั่งนทีสีทันดรมหาสมุทร ซึ่งก็ตรงกับชื่อที่น่าจะเพี้ยนมาแล้วในปัจจุบัน ทว่าตรงกับลักษณะทางภูมิศาตร์ของถิ่นนี้มากกว่า คือสี่พันดอน (จึงติดปากชาวบ้านมากกว่า) หรือสีทันดร โดยไม่ต้องขุดคูน้ำล้อมรอบอีก
นี่คือโครงความคิดของคนขอมในอดีตโดยการนำเรื่องเล่าของเทพเจ้าฮินดูจากอินเดียมาปรับใช้ในสภาพภูมิศาสตร์ของคนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ครูตี๋หนึ่งในผู้รู้เรื่องแม่น้ำโขงและได้เดินทางไปลาวด้วยกันครั้งนี้ กล่าวว่า ลักษณะที่ตั้งของเมืองโบราณในเขตริมฝั่งแม่น้ำโขงมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้อยู่หลายที่ เช่น เวียงเก่าเชียงแสน, เชียงของ, เชียงทอง-หลวงพระบาง, และปราสาทหินวัดพู คือหากมองจากอีกฟากฝั่งจะมีเมืองอยู่บนที่ราบเชิงภู เบื้องหลังเมืองโอบอ้อมทั้งซ้ายขวาด้วยภูใหญ่หรือน้อย หรือจะเป็นภูเดียวโดดๆ
ผมคิดต่ออีกว่า ส่วนใหญ่บนภูสูงจะเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในน้ำจะเป็นที่อยู่ของผีเงือกหรือนาค กลางๆ คือคนผู้ทำมาหากินกับป่าภูและแม่น้ำ ผมว่าการสร้างปราสาทหินวัดพูหรือนครวัด นครธม ไม่น่าจะอยู่ๆแล้วสร้างขึ้นมาลอยๆ เอาตอนชุดความเชื่อหรือเรื่องเล่าแบบฮินดูเข้ามาในลุ่มน้ำโขง
นี่หมายความว่าคงจะไม่ใช่อารยธรรมอินเดียเข้ามาแล้วคนจึงคิดสร้างตามโคตรเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น รามายณะ ทว่าน่าจะมีการรวมกันเป็นชุมชนหาอยู่หากินกันในบริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารในป่าภูแลแม่น้ำมาหลายช่วงชีวิตคน แล้วพัฒนามาเป็นรัฐเล็กๆ หรือนครรัฐที่ดูแลกันเองและติดต่อกับคนภายนอก มีการเคารพผีบนภูสูง เช่น คนลัวะ ละว้า หรือมิละกุ ตำมิละ และเคารพผีเงือกผีน้ำมาก่อน
หลังจากนั้นเรื่องเล่าของผีป่าภูและผีน้ำถูกครอบทับผสมผสานกับจักรวาลความคิดแบบฮินดู แล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้นและบางสิ่งก็สลายตัวไปตามกาล... ไม่รู้ทำไมพอเข้าใกล้เขตปราสาทประธานผมจึงยิ่งคิดในท่าทีขรึมเคร่ง หรือว่าภาวะภายในนำพาไปให้เข้ากับศาสนะสถาน แต่เมื่อเห็นนางอัปสรและนายทวารยืนอยู่ตรงทางเข้าปราสาท ผมจึงอดยิ้มและหัวเราะอยู่ในใจไม่ได้ เพราะนางอัปสรโดนช่างแกะสลักไม่ยอมใส่เสื้อทรงให้ บางทีสาวสายเดี่ยวยุคใหม่ก็น่าจะมากลายเป็นนางอัปสรได้เช่นกัน หรือว่าการเปลือยเป็นวัฒนธรรมล้ำสมัยไม่ตกยุคอย่างยิ่ง
ในที่สุด ผมก็มาถึงปราสาทประธานปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก่อจากดินกี่สามองค์ ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาเป็นพุทธศาสนะสถาน รูปหน้าขององค์พระดูคล้ายใบหน้าของคนลาวทั่วไป ส่วนด้านหลังของสิมหรือปราสาทประธานนี้มีการแกะสลักรูปพระศิวะอยู่กลาง พระพรหมอยู่ขวา ด้านซ้ายพระวิษณุ ไว้กับผาหิน ส่วนเหนือขึ้นไปทางด้านหลังซ้ายเป็นบ่อน้ำทรง ซึ่งว่ากันว่าน้ำศักดิ์สิทธ์จะไหลจากบ่อนี้ลงสู่รางรินแล้วไหลสู่ศิวะลึงคะในองค์ปราสาทประธานแล้วไหลลงสู่เบื้องล่างปราสาท และที่เราเห็นรูผาหินมากมาย สันนิษฐานว่า จะเป็นน้ำทรงอันศักดิ์สิทธิ์ไหลไปจนสุดปราสาทเบื้องล่าง บางทีอาจจะไหลต่อไปจนถึงบาราย และในที่สุดอาจจะเป็นแม่น้ำโขง...
'รัตน์ คำพร :เขียน

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน




สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................

“ลาวใต้น่าจะร้อนน่ะ ในช่วงต้นแล้งนี้ คงไม่ต้องเตรียมเสื้อผ้าหนาๆ ไปหรอก”
ใครคนหนึ่งในบ้านบอกผม
“ไม่แน่น่ะ อยู่ใกล้แม่น้ำโขง และต้องนอนบนเกาะดอน
เตรียมแขนยาวสักตัวก็ดี เผื่อยามเช้าอาจจะเย็น”
ผมคาดเดาตามพื้นฐานทางภูมิศาสตร์
เมื่อลมร้อนเริ่มมาเยือนเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ใกล้ลาวเหนือ
เราจึงออกเดินทางด้วยรถยนต์ตรงไปยังด่านช่องแม็ก-อุบลราชธานี
จากชายแดนเมืองเหนือสู่ชายแดนอีสานกว่าพันกิโลเมตร
ในช่วงสี่ห้าปีมานี้
ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวเล่นเมืองลาวอยู่ทุกปี บางปีไปเยี่ยมเยือนถึงสองสามครั้ง
อย่างน้อยที่สุดก็ปีละครั้งที่ได้ไปพัวพัน
ไม่ด้วยการงานหรือก็ด้วยมิตรภาพของอ้ายน้องผองเพื่อน ทั้งเชื้อเชิญและคิดฮอดจึงไปหา
อาจเป็นด้วยว่า ผมได้ย้ายตัวเองมาอาศัยอยู่เมืองเชียงของชายแดนลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง
นั่งจิบกาแฟทอดสายตาข้ามแม่น้ำก็เห็นอยู่ใกล้กันเหลือเกินกว่าจะรู้สึกว่ามันคือคนละประเทศ
จะให้นั่งมองซื่อๆก็กระไรอยู่ เพราะแม่น้ำโขงไม่เคยบอกผมเลยว่า
เป็นเส้นพรมแดนขวางกั้น
ฉะนั้นจึงไหลไปหากัน

จะอย่างไรก็แล้วแต่ อาจด้วยตำแหน่งของเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
อยู่ใกล้กับแขวงบ่อแก้ว หรือลาวตอนเหนือ ผมจึงได้ไปเยี่ยมยามลาวเหนือเสียส่วนใหญ่
ทว่าไม่เคยเลยสักครั้งที่ได้ไปเยือนลาวใต้
นอกเสียจากเมื่อเจ็ดปีก่อนได้ข้ามแดนชั่วคราวด่านช่องแม็ก-วังเตาไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
จำได้ว่า มีกล้วยไม้ป่า และของป่าที่ชาวบ้านนำมาขายมากหลาย นอกจากนั้น
ผมไม่เหลืออะไรไว้ในความทรงจำเลย

น่าจะเป็นการดี หากการเดินทางไม่มีภาพประทับฝังรากไว้ในนามอคติหรืออื่นใด
เพราะเราจะได้เติมเต็มภาพบันดาลใจใหม่ๆ ลงไป
และเป็นการง่ายดีที่จะได้รู้จักในสิ่งที่ใหม่ยิ่งขึ้น การไม่จำบางครั้งก็งาม...
แต่ในบางบทตอนของชีวิตอาจจะทำให้เราสะดุดผาความผิดซ้ำซาก
การเดินทางของผมจึงมีทั้งเลือกรับและปฏิเสธอยู่ภายใน
ผมไปไหนต่อไหนเพื่อจัดการภาวะภายในเป็นเบื้องต้น

มีเรื่องที่ทั้งอยากจำและอยากลืมอยู่ในท่าทีเดียวกันเสมอมาเมื่อประสบกับนายด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว
แม้ไทย-ลาวและสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะปลอดการทำวีซ่ามาแล้วเป็นปี
แต่ค่าประทับตราเข้า-ออกประเทศยังต้องจ่ายอยู่ดี ในอัตราที่ไม่แน่นอน
บ้างว่าเป็นค่าล่วงเวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่บางครั้งวันธรรมดาในบางด่านก็ต้องจ่าย
และก็มีอีกเหมือนกัน บางทีก็ไม่มีการเก็บเงินค่าประทับตรา เราจึงคำนวณไม่ได้ว่า
จะต้องจ่ายเท่าไรไว้ล่วงหน้า
เช่นเดียวกันกับตารางเวลาการเดินรถหรือการนัดหมาย
อาจขึ้นอยู่กับจำนวนคนและสภาพภูมิประเทศทำให้บางคนอาจหงุดหงิดง่ายหากติดอารมณ์นักบริหารจัดการแบบเส้นตรง

เราจ่ายคนละสิบบาท รวมสี่คนก็เป็นสี่สิบบาทในคราแรก ทว่าหูของเราคงเพี้ยน
เจ้าหน้าที่ย้ำอีกครั้งว่า คนละห้าสิบบาท กลายเป็นสองร้อยบาท
อันที่จริงแล้วผมไม่ติดใจอะไรหรอก
ทว่าทำให้หวนคิดถึงครั้งหนึ่งที่เคยนั่งเรือจากเชียงของไปหลวงพระบาง
ระหว่างแขวงบ่อแก้วเข้าเขตแขวงอุดมไซ
นักท่องเที่ยวผ่านไปโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านแดนของแขวงภายในลาว
แต่คนลาวต้องจ่ายค่าผ่านแดนเพิ่มจากค่าเรือ หากจะผ่านแดนไปยังอีกแขวง แน่นอนว่า
นี้คือภาพจำลองของการปะทะกันของโลกภายนอกที่เสรีกับโลกภายในของคนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ติดที่
ทว่าในแง่หนึ่งก็ทำให้คนท้องถิ่นได้อยู่สืบสานรากฐานของเมืองไว้ได้
แต่คำถามสำคัญที่น่าสนใจว่า
แล้วคนลาวท้องถิ่นจะอยู่ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ปีหน้าลาวก็จะเปิดการค้าเสรีกับองค์การการค้าโลก
(WTO)

ไม่ต้องคิดมากหรอก มันเป็นคำถามที่คนไทยท้องถิ่นต่างๆ
เองก็ยังปรับสู้กันอยู่อย่างเหนื่อยอ่อน อีกอย่างที่ผมหวนคิดแทนคนลาว
เพราะว่าในกลุ่มของเราครานี้ มีคนลาวร่วมทางอยู่ด้วย สองในนั้นชัดเจนว่า
เป็นคนยวนหรือลาวเฉียง (ล้านนา) อีกหนึ่งเป็นลาวอีสาน-อุบลราชธานี
คำเว้าจาก็คือกันกับลาวใต้
ส่วนอีกหนึ่งคือผู้เชื้อเชิญเราและสนับสนุนเราในการเดินทางคือผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมศักยภาพแม่หญิงและชุมชน(กลุ่มท้อนเงิน)
พี่ตุ่น-มณฑา อัจริยกุล ซึ่งโครงการความร่วมมือกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
(องค์การมหาชน)ของรัฐบาลไทยกับสหพันธ์แม่หญิงลาวในเรื่องการออมเงินมาหลายปี
พี่ตุ่นน่าจะเรียกว่าเป็นคนลาวไปแล้วเหมือนกัน
ส่วนผมนั้น
ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นใคร ระบุได้เพียงว่า
เป็นผู้มาอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงและเกิดบนแผ่นดินใหญ่แห่งอุษาคเนย์ตรงตอนกลางของแหลมมาลายู
ผมจึงนำก้น (ตาม) ลาว (เขา) ไปเที่ยวเมืองลาวเด้อ...

วารี

ในตอนที่ผมอายุห้าขวบ ผมจำไม่ได้แล้วว่า ผมอยากเป็นอะไร พวกผู้ใหญ่ชอบถามคำถามแบบนี้กันดีนัก ผมแกล้งตอบไปว่า อยากเป็นคนคีบถั่วเขียวใส่ขวดปากแคบ ทั้งๆ ที่จำได้ว่า สมัยนั้นแม่และพ่อของผมเป็นคนรินน้ำใส่แก้ว และลุงข้างบ้านหน้าตาคล้ายพวกแขกอินเดียเป็นคนคีบถั่วทุกชนิดใส่กระทะ
ผมชื่อวารี แม่ผมชื่ออารี ส่วนพ่อผมชื่อนที ชื่อของผมจึงได้นัยมาจากพ่อและเล่นคำให้พ้องกับแม่
ส่วนตาของผม จำได้ว่า ทำงานธนาคาร ยายเป็นครู
ทุกคนต่างยินดีที่ผมโตขึ้นทุกวัน และจะเป็นผู้ใหญ่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง พวกเขาหวังว่าผมจะโตขึ้นมาเหมือนแม่ หรือไม่อย่างน้อยก็เหมือนพ่อ
ในตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น พ่อเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเป็นคนรินน้ำใส่แก้ว อีกอย่างหนึ่ง พ่อบอกว่า ต้องแสวงหาความก้าวหน้าและรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น พ่อจึงลาออกจากงานเดิม มาเป็นนักเลือกตั้ง งานนี้ได้แรงแอบหนุนจากตาซึ่งเป็นนายธนาคารมีชื่อในเวลานั้น และการเลือกตั้งในยุคนั้นเป็นงานที่นิยมกันอย่างมากในประเทศของเรา
พ่อมีหน้าที่ไปเลือกตั้งในทุกวัน โดยการกากบาทในช่องบนกระดาษที่เจ้านายเตรียมไว้ หากเพื่อนร่วมงานทุกคนกาได้ตรงในช่องเดียวกันก็จะประสบความสำเร็จในหน้าที่ของแต่ละวัน ทว่าหากกากบาทได้ไม่ตรงกัน ทุกคนก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่
การกากบาทให้ได้ตรงกันของทุกคนเป็นเรื่องใหญ่โตมากในแต่ละวัน นายจะนั่งหงุดหงิดอยู่หลังโต๊ะกากบาทหากวันนั้นทำงานไม่สำเร็จ แต่หากสำเร็จตรงกันหลายครั้ง พ่อก็จะได้โบนัสมาเลี้ยงข้าวและซื้อของฝากให้ผมกับแม่
พ่อออกจากบ้านในทุกเช้าเพื่อไปเลือกตั้ง
แม่ออกจากบ้านไปทุกเช้าเพื่อรินน้ำใส่แก้ว
นานๆ ครั้ง ผมจึงมีโอกาสไปที่ทำงานของพ่อกับแม่ ส่วนใหญ่แล้วผมจะสนใจการทำงานของพ่อมากกว่า เพราะคนเยอะดี อีกทั้งมีความตื่นเต้นในที่ทำงานมากกว่า และผมคิดว่าโตขึ้นผมอยากเป็นนักเลือกตั้งเช่นเดียวกับพ่อ
อยู่มาวันหนึ่ง มีเพื่อนของพ่อคนหนึ่งเกิดคร้านที่จะกากบาทหรือเบื่ออะไรขึ้นมาสักอย่าง แกไม่ยอมกากบาทในช่องกระดาษ แต่แกเล่นฉีกกระดาษออกเป็นผุยผงแทน ไม่สนใจนายที่นั่งอยู่หลังโต๊ะ พ่อบอกอีกว่า หลังจากนั้นความสำเร็จของงานจึงเปลี่ยนระบบใหม่ ป้องกันคนที่กาไม่ตรงกับคนอื่นๆ ได้น้อยที่สุดเช่นเพื่อนของพ่อจะกระทำการเช่นนั้นได้อีก และเขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะถูกไล่ออกหายไปจากบริษัท
ต่อมา เจ้านายจึงเพิ่มพนักงานขึ้นมาอีกแผนก ไว้ทำหน้าที่ฉีกกระดาษสำหรับกากบาท
หน้าที่ของพวกเขาคือ เมื่อแผนกของพ่อเลือกกากบาทในช่องแล้ว แผนกใหม่นี้ก็ทำการฉีกให้เป็นผงฝุ่นในทันที ราวกับการเล่นเกมก่อกองทรายของเด็กๆ ที่ริมชายหาด
พ่อผมกากบาทเสร็จ เพื่อนพ่ออีกคนในแผนกใหม่ (ความจริงแล้วคือแผนกเก่าแต่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว) ก็ฉีกมันเสีย
หลังจากนั้นผมจึงไม่อยากเป็นนักเลือกตั้งเช่นพ่ออีกเลย เพราะผมไม่รู้ว่าจะกากบาทไปทำไม เมื่อรู้อยู่ว่า มันจะโดนฉีก หรือหากไม่โดนฉีก อีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ต้องไปกาใหม่อีกครั้ง มันเป็นการกระทำที่ไม่มีวันจะสิ้นสุดได้
เมื่อผมเรียนจบจึงตั้งใจสมัครงานแบบเดียวกับแม่ แต่คนล่ะบริษัทกัน
นั่นคือการรินน้ำใส่แก้ว ผมดีใจมากที่เรียนจบมาแล้วได้งานในทันที
พ่อกับแม่ก็ดีใจและอวยพรให้ผมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่วนตากับยายไม่มีโอกาสได้ยินดีกับผม เพราะทั้งสองหายตัวไปจากโลกเสียก่อน ไม่มีใครรู้เลยว่าตากับยายหายไปไหน ราวกับการระเหยหายของหยาดน้ำ
ดูไปแล้ว งานที่ผมทำก็ไม่มีอะไรยากเลย เพราะผมเห็นแม่ทำมาตั้งแต่เล็กๆ
ก็แค่ขัดถูแก้วและเหยือก แล้วรินน้ำลงแก้วให้เท่ากัน หลังจากนั้นจึงเทกลับลงในเหยือก แล้วทำอย่างนี้ไปจนจบวัน หมดไปอีกวัน ผมก็เริ่มต้นงานในเช้าวันใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน กระทั่งผมพัฒนาการรินน้ำลงแก้วในท่วงท่าแปลกใหม่ซึ่งน้ำไม่หกลงพื้นเลยสักหยดเดียว
ผมได้เป็นพนักงานดีเด่นภายในปีแรก ปีนั้นผมได้โบนัสมากที่สุดในบริษัท
โลกของผมจะไปได้สวยแล้วเชียว ถ้าหากว่า พ่อกับแม่ของผมไม่หายตัวไปเสียก่อนเวลาอันควร
ทั้งสองหายตัวไปเช่นเดียวกับตาและยาย เช่นเดียวกับผู้คนที่หายไปก่อนหน้า บนโลกอันแสนโง่เง่านี้
วันนั้น ผมพยายามทำความเข้าใจต่อการหายไปของชีวิตคนเราทั้งวัน พร้อมกับที่รินน้ำลงแก้วไปด้วย ผมทำได้ดีเช่นเดิม แม้จะมีเรื่องรบกวนใจมากมาย เพราะผมพัฒนาการแยกแยะระหว่างมืออาชีพในงานกับเรื่องส่วนตัวได้เด็ดขาด
มีอยู่เพียงสิ่งเดียวในตอนบ่ายของวันนั้นที่รบกวนผม คือการหายไปของผมจะเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วผมก็นึกย้อนถึงเพื่อนของพ่อที่อยู่ๆ เขาก็ฉีกกระดาษกากบาทขึ้นมา เขาคงจะค้นพบการหายไปของใครคนหนึ่ง หรือบางทีเขาอาจจะค้นพบการหายตัวตนไปของเขาในขณะทำงาน
เช่นนี้แล้ว ผมจึงเอาน้ำในเหยือกชูขึ้นสูงแล้วเทลงราดรดตัวเอง และกล่าวว่า
ผมไม่อยากเป็นอะไรอีก
ผมไม่อยากเป็นอะไรเลยจริงๆ นอกจากเป็นผมเอง-วารี.

เรื่องสั้น : 'รัตน์ คำพร

ยุคสมัยของเรา



เสียงไก่ขันทำให้หลายคนตื่นนอน
ฉันล้มตัวลงหลับฝันเอาตอนใกล้รุ่ง
พระอาทิตย์มาเช้าเสมอ
ฉันก็หลับช้าเช่นเก่าก่อน
เรามิเคยได้สบตากัน
เมื่อฉันตื่นพระอาทิตย์ก็หลับหลังด้านความมืด
เมื่อฉันเต้นรำอยู่กลางค่ำคืน
พระอาทิตย์เริ่มพลิกตัว -อีกไม่นานคงจะตื่น
อีกไม่นานฉันก็จะหลับ
เราไม่เคยได้ยินเสียงไก่ขันอีกเลย


'รัตน์ คำพร : เขียน

อันเนื่องจากการเผชิญกับกระจกมนุษย์?

เมื่อผมเผชิญหน้ากับกระจกบานนั้น ผมจึงสำรวจใบหน้าของตนเองและมองเข้าไปในดวงตาของผู้ที่ยืนอยู่ในกระจก ยิ่งมองลึกลงไปยิ่งเห็นว่า เขาก็เป็นคน เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผม นี่ผมมองแวบเดียวแล้วรู้ได้อย่างไรว่า เขาเป็นคนเช่นเดียวกับผม หะแรกเพราะผมรู้ว่า มันคือวัตถุที่ชื่อกระจกเงา และมันสะท้อนตัวผมให้เป็นเขาอยู่ในแผ่นใสสะท้อนนั้น ผมยิ้มอย่างที่ผมยิ้มอยู่เป็นประจำ (ผมคาดว่าผมจะยิ้มแบบนี้เป็นส่วนใหญ่แม้ยามที่ไม่มีกระจกคอยส่อง) เขาก็ยิ้มอย่างที่ผมยิ้มอยู่นั่นแหล่ะ เหตุที่ผมมองเห็นภาพสะท้อนได้ชัดเจน ด้วยแสงในห้องน้ำของผมก็สว่างจ้า ผมจึงเข้าใจเอาว่า กระจกบานนั้นบอกความจริงกับผม แม้ผมจะแปรงฟัน เขาก็แปรงฟัน แต่เมื่อผมละจากกระจกมา ผมไม่รู้อีกว่าเขาละจากกระจกมาหรือไม่ หรือเขายังยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น (อันที่จริงคุณก็รู้ได้เองแล้วว่าผมก็คือเขาและเขาก็คือผม) การเผชิญหน้ากับวัตถุที่เราจับต้องได้และหมายรู้อีกว่าเราคุ้นเคยกับมัน เราจะรู้สึกไม่แปลกแยกจากมัน คล้ายจะเป็นหนึ่งเดียวกับมัน ทว่าหากสืบสาวเข้าไปในจิตใจแล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า มันสะท้อนตัวมันหรือตัวเราออกมา หรือว่า เราเองที่ไปมองจับจ้องต้องเห็นมันและวาดสะท้อนตัวตนในจิตใจขึ้นมาเอง

ในยามทารกแสนเลือนราง (หากยังจดจำได้) ผมไม่รู้ว่า ผมจำใบหน้าแรกเริ่มของผมเองในกระจกได้หรือไม่ และผมเองเริ่มสำนึกว่าเป็นผมด้วยกระจกเงาใสบานหนึ่ง หรือว่าผมสำนึกว่าเป็นผมเพราะแสงสะท้อนจากปากคำเรียกขานของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ใบหญ้า ดอกไม้ สายฝน แดดออก เสียงนก แต่ผมเข้าใจว่า ผมต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านี้แน่นอน และผมต้องตอบสนองความหิว การปวดคันจากฉี่หรือคราบฉี่ตามซอกหลืบ ผมน่าจะสะท้อนออกมาด้วยการร้องไห้ อาจถือได้ว่าการร้องไห้คือเงาสะท้อนแรกของการเป็นคนของผม

กล่าวโดยสั้นๆ ผมรู้สึกเป็นพื้นฐานจากอะไรว่า คนเรามีร้องไห้ มีหิว มีปวด มีอยาก แน่นอน มันค่อยๆ รู้สึกรู้สามาตามวัย แต่วัยมันอิงแอบกับผู้คนและรูปแบบโครงสร้างของกระจกที่ต่างสร้างขึ้นมาเชื่อมโยงแก่กันและกัน อย่างไรก็ตาม ในคืนวันหนึ่งกระจกในห้องน้ำผมเกิดร้าวขึ้นมาเป็นเส้นข่ายร้าวแต่ไม่แตกกระจาย ประกอบกับหลอดไฟเกิดเสียขึ้นมา มันติดดับสว่างวาบแล้วมืดแล้วสว่าง ผมเข้าไปในห้องน้ำหลังจากการหลับสบาย ผมจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร ผมจะเจอเขาที่เป็นผมอยู่อีกไหม

คิดก็คิดไปเถอะ แล้วหากกระจกแตกกระจายต่อหน้าที่ผมยืนอยู่ในภาวะนั้นล่ะ ผมต้องใช้อะไรในการเผชิญหน้ากับมัน อย่างน้อยๆ ก็สติ การควบคุมตัวเอง หรือความหวัง? หรืออดีตประวัติศาสตร์ว่า ผมยังคงอยู่ แต่ที่แตกกระจัดกระจายซ่านกระเซ็นไปนั้น คือเงาร่างที่สร้างขึ้นมาจากตัวผม? อย่างน้อยๆ ผมคงต้องเอามือลูบใบหน้าตัวเอง สำรวจใบหน้าแห่งวันเวลาอีกครั้ง ด้วยที่แล้วมาความเร็วลวงเล่นให้โลดโผนกระโจนไปในความสะดวกสะบาย ในภาพฝันว่าตนเป็นแบบนั้น แบบนี้ แบบโน้น แบบนู้น มันฉาบฉายดึงจิตให้ไหลไปเร็วมาก กับรูปแบบอันหลากไหล ผมจะเผชิญหน้ากับตัวเองได้อย่างไรว่า ตัวผมยังเป็นของผมอีกหรือไม่ และจำเป็นไหมที่ตัวผมต้องเป็นของผม

นี่ผมถามสติน่ะ หากผมพลัดตกลงใบในวงกตแห่งกระจกแตกร้อยเป็นเยื่อร้าวต่อกันเป็นแผ่นตั้งและแผ่นนอน เหนือหัวก็มี เบื้องล่างก็มี ผมจะหวังว่าอันไหนจริง อันไหนลวง (หรือผมเป็นใครคนไหนกันแน่ ผมยังเป็นเขาหรือเขายังเป็นผม หรือผมมีเธอ มีหล่อน มีมัน มีใครอีกหลายคนในกระจกนั้น หรือว่ามีแต่ผมคนเดียว) นี่ผมกำลังจะหมายถึงการเผชิญหน้ากับกระจกที่เป็นตัวอักษรเรียงร้อยกระจัดกระจายกันเป็นหนังสืออยู่ใช่ไหม? หรือการเผชิญหน้ากับผู้คนอันมีพระเจ้าหลากหลายองค์ซึ่งใบหน้าอาจจะเหมือนกัน แต่ที่สุดแล้วเป็นองค์เดียวกัน หรือว่ามันไม่ใช่ใบหน้าที่เคยซ้ำกันเลย ทว่าไม่สามารถคาดหวังอะไรได้อีก?

การเผชิญหน้ากับการอ่านแบบนี้ มันเป็นเรื่องของรสนิยม หรือตัวใครตัวมันอย่างที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน มันไม่สามารถเป็นทางให้เราออกจากวงล้อมของกระจกร้าวอันกระจัดกระจายได้ เพราะในรูปแบบของเราก็มีเนื้อหา และในเนื้อหาก็คงอยู่ได้ด้วยรูปแบบด้วย (เราที่ว่า ผมหมายถึงเมื่อผมรู้ว่าในโลกนี้ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียว ผมรู้ว่ามีคนอีกหลายคนอยู่ร่วมในโลกกระจกใบนี้) ยิ่งมากวันเข้าการเดินทางของมนุษย์ยิ่งสร้างความลวงเข้าสุมทับกันเป็นปราสาทราชวัง ทำให้เราเฉื่อยชา ต่อความชั่ววูบ ความสบาย ความด่วนได้ และในที่สุดเราจะหวังอะไรได้อีก

เมื่อเราเอาแบบการอ่านตามแบบอย่างที่เคยอ่านกันมา แล้วเราจะอ่านอย่างสดใหม่ เช่นวัยละอ่อนแรกรุ่นได้อย่างไร? เราจะเรียกว่าได้ความรู้หรืออย่างไร? เมื่อมันซ้อนทับกั้นด้วยกระจกสะท้อนอยู่มากมาย แล้วเราจะอ่านด้วยตนเองได้อย่างไร แล้วเราจะเผชิญหน้ากับตัวตนได้อย่างไร เพราะตัวตนของเราถูกปะติดสร้างต่อมาจากคนหลายรุ่นหลายสมัย ดูเหมือนเราไร้เรี่ยวแรงในการอ่านอย่างอิสระเสียแล้ว และเราจะเอาพละกำลัง เอาความหวังอย่างมีอิสระภาพไปสร้างถ้อยคำและศาสนาขึ้นมาเองได้อย่างไร?

ผมหวังของผมคนเดียวว่า สติจะคืนกลับมาให้ผมเห็นกระจกและตัวผมอย่างที่มันเป็นในขณะเดียวกันอยู่เสมอ ผมอ่านหนังสืออย่างที่มันเป็นและมีผมร่วมเขียนขณะอ่านและมีผมร่วมอ่านขณะเขียน ผมจึงเขียนถ้อยคำของผมเอง แต่แฝงด้วยผู้คนและโลกที่สะท้อนอยู่ในหัวรวมอยู่ด้วย
เรื่องนี้จึงแฝงด้วยท่าทีของศรัทธาเป็นอย่างยิ่งในการจะรู้สึกได้ว่า ผมต้องสร้างกระจกของผมขึ้นมาเอง ทว่าผมจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อผมไม่เคยรู้จักมันเลย เพราะมันคือความลวงยิ่งกว่าความลวง ลื่นไหลยิ่งเช่นความดี ความงาม ความจริง ที่เขาว่ากัน แล้วผมจะคงอยู่ได้อย่างไร?

'รัตน์ คำพร : เขียน

วันเบาๆ

สายลมตะวันตกพัดพามาถึงแม่น้ำโขงพร้อมกับเจนนี่...คล้ายสายลมแห่งความเกรี้ยวกราดรีบเร่ง แต่ต้องการความเอื่อยช้ารินไหลเป็นไปได้ว่าเธอต้องการอีกสายลมหนึ่งปลอบประโลมโลกที่หมุนในใจเธอ อาจจะกล่าวว่ามุ่งหน้าสู่ตะวันออก ณ ที่หนึ่งที่ใดที่ผ่อนคลายจักรกลชีวิตให้งอกงามเติบโต เช่นต้นไม้หรือสัตว์ดิบเถื่อนดึกดำบรรพ์ สายน้ำโขงอาจจะกล่าวต้อนรับเธอไปแล้ว หรือเธอน่าจะทักทายสายน้ำด้วยกาแฟอุ่นๆ สักแก้วในร้านริมฝั่งน้ำ แสงแดดสวัสดียามเช้ากับลมหนาวจากตอนเหนือเมื่อเวลาเจ็ดโมงครึ่งเจนนี่จึงออกมาจากห้องนั่งพิงเก้าอี้โบราณหน้าห้อง ใช้ดวงตาสีฟ้าแย้มยิ้มให้สายน้ำและแสงแดด ไกลออกไปอีกฝั่งคืออาณาจักรที่จะเดินทางไปให้ถึง ผีเสื้อปีกเหลืองร่อนล้อกับดอกเสี้ยวม่วงแกมขาวพวงใบจับกิ่งคล้ายปีกผีเสื้อ เจนนี่อาจจะเห็นว่าผีเสื้อปีกเขียวเกาะพราวไปทั่วทั้งต้นแล้วมันก็พร้อมใจกันบินหนีภัยพรึ่บว่อนสู่ฟ้า เช้าที่แทรกแซมด้วยหย่อมเมฆเหนือขุนเขาไกลโพ้น เจนนี่มานั่งที่ร้านกาแฟใต้ต้นเสี้ยวพร้อมกลิ่นสายลมตะวันตก อันที่จริงไม่มีใครแยกสายลมออกจากกันเป็นตะวันออกหรือตะวันตกได้ บางทีมันเป็นเพียงความเงียบงันสุดหยั่งที่เธอจะเข้าใจ บางครั้งคือความสับสนวุ่นวายที่ต้องไล่คว้าในห้วงเวลาของการผ่อนพักอันยาวนาน และการหลีกหนีความหนาวเหน็บเช่นนกอพยพบินมาอาศัยทางตอนใต้ของลุ่มน้ำโขงแสนไกลแต่เหมือนใกล้ ในแต่ละจิบอุ่นขมหวานเดินผ่านเข้าสู่ผีเสื้อหลากสีสีฟ้าเธอเคยชอบแต่ห่างหายไปนาน บางทีเธออาจจะเคยมีความรักต่อสีฟ้าแล้วสีเหลืองที่บินว่อนอยู่นั้นไปไหนราวกับเป็นคำถามรอบถ้วยกาแฟรอบโลกสีขมหม่นเล็กๆ หนุ่มผมยาวเจ้าของร้านละลืมที่จะสังเกตมันเขาน่าจะรู้แต่เพียงว่าใต้พุ่มใบต้นเสี้ยวเริ่มมีความวุ่นวายเล็กๆ และอาจจะเป็นไปได้ว่าต้นเสี้ยวรับรู้เพียงการต่อสู้ของเจ้างูเขียวกับกิ้งก่าสีฟ้าอมม่วง...กอดรัดกัดขบกันจนม้วนตกลงมาสู่กิ่งล่างสุด ชั่วเวลานั้นเป็นไปอย่างธรรมดาที่สุดแสนเรียบง่าย และพอจะเข้าใจได้เขาตอบคำถามถึงสถานที่เที่ยวท่องอย่างสงบ คำต่อคำไม่มากไม่เกินกว่านี้ บางทีเจนนี่อาจจะได้คำตอบมากกว่าการเปิดหนังสือแนะนำการเดินทางหน้าต่อหน้า เกลียวสายกาแฟในแก้วเหือดหายไปแล้ว เจนนี่ได้ยินใบเสี้ยวกล่าวทักด้วยการร่วงลงมาสัมผัสไหล่คล้ายโลกทั้งสองจะเปิดเข้าหากัน เขาจึงชี้ชวนให้เจนนี่ดูงูกำลังโอบรัดกิ้งก่าอาจจะเป็นสัญชาตญาณอาจจะเป็นเช่นสิ่งที่อยากรู้มานานการโอบกอดต่างเผ่าพันธุ์ ุุ๋์เจนนี่รู้สึกคล้ายกับคลื่นจากเรือกระทบฝั่งโผกระแทกครั้งแล้วครั้งเล่าจนสร่างซา มันอาจจะสงบนิ่งอยู่นาน และเมื่อเพียงผีเสื้อกระพือปีกเธอก็ได้กลายเป็นท้องฟ้าที่โอบรัดโลกไปแล้วปลายหางสีเขียวอ่อนแต้มด้วยจุดดำๆ ม้วนรัดกิ่งไม้แข็งแน่นลำตัวกระหวัดรอบเจ้ากิ้งก่าสี่ห้ารอบแล้วผงกหัวชูคออ้าปากกว้างคล้ายจะกลืนกินเหยื่อ กิ้งก่ากล้ำสู้อ้ากรามออกตั้งรับเลือดในตัวมันพุ่งซ่านจนกลายเป็นสีม่วงเข้มไปทั่วหัว เธอว่าเหมือนคนรักโอบกอดกันในวันสุดท้ายก่อนจากพรากเขาว่านี่คือทางรอดและความตาย
เขาจึงลุกขึ้นเดินไปขย่มต้นเสี้ยวผีเสื้อสีเขียวอ่อนบินหนีไปนานนักแล้วคงจะตกใจกลัวการปะทะกันของทั้งสองชีวิตบนต้น ใบแห้งและดอกร่วงหล่นมาพร้อมกับงูเขียวและกิ้งก่า บนพื้นทางเท้างูเขียวคลายอ้อมรัดอันเมามายกิ้งก่าเนื้อตัวสั่นสะท้านด้วยตกใจ มองหน้าทั้งสองด้วยงุนงงอยู่ครู่หนึ่ง ขณะเจ้างูเขียวรีบเลื้อยเลี้ยวลงไปริมฝั่งเขาวิ่งตามงูลงบันไดท่าน้ำ ในทันทีที่ผืนหนังเขียวอ่อนของมันกระทบผืนน้ำพร้อมการเลื้อยลอยแล่นทวนน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง ราวกับขนาดลำตัวของมันแผ่ขยายใหญ่ออกไปจนเต็มลำน้ำแผงเกล็ดเปลี่ยนเป็นสีนิลวับวาว เขาหยุดชะงักราวกับโดนมนุษย์ใต้ดินกระชากเท้าไว้
เขาวิ่งกลับมาใต้ต้นเสี้ยวอีกครั้งหลังจากที่เจนนี่ยืนกุมมือขวาของตนที่มีเลือดไหลอาบนิ้วโป้ง กิ้งก่าหายไปแล้วเธอบอกเขาด้วยสีหน้าหวาดหวั่นว่าเมื่อเธอเอื้อมมือลงไปจะช่วยมัน มันกัดนิ้วแล้วมุดดินหายไป ในทันทีแดดอุ่นโลมไล้มาจนถึงม้านั่งเธอยังปล่อยมือขวาให้เขาดูดเลือดออกจากนิ้วโป้ง ริมผีปากแดงสดราวกับเขาเพิ่งกินหลู้เลือด เธอเผยอริมฝีปากโผล่ปลายลิ้นถูริมปากตนทั้งสองเปิดโลกลึกลับต่างแดนสนทนาแก่กัน เรื่องราวนับพันหลั่งไหลออกมาโอบกอดกันและกันแล้วค่อยๆ เคลื่อนหมุดหมายวันหยุดเบาๆ ไปอีกสู่ราวฟ้าสีฟ้าตรงฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยังรออยู่…
ตอนสายของวันนั้นชายหนุ่มปิดร้านหายไปกับกลิ่นสายลมตะวันตกซึ่งมุ่งหน้าสู่ฝั่งลาว…

เรื่องสั้น : 'รัตน์ คำพร
เรื่องสั้นเรื่องนี้เคยลงพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม : ฝากกันไว้อ่านอีกครั้งหนึ่ง