วันอังคาร, กรกฎาคม ๐๘, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : พญานาคเท่ากับพระเจ้า



“หากวันนี้ไม่มีพระเจ้า ก็คงถึงเวลาแล้วที่เราจะสร้างพระองค์ขึ้นมาใหม่”

วอลแตร์


ใช่แล้ว เคยมีผู้สื่อข่าวฝรั่งถามข้าพเจ้าว่า พญานาคมีจริงไหม


ข้าพเจ้าจึงถามกลับไปว่า แล้วพระเจ้าของคุณมีจริงไหม ถ้าพระเจ้าของคุณมีจริง พญานาคก็มีจริง เหตุที่ข้าพเจ้าถามกลับและตอบเช่นนี้ เพราะให้ค่าในการอธิบายเรื่องราวเหนือธรรมชาติในนามพระเจ้าและในนามพญานาคาว่าเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจหรือเหนือธรรมชาติการรับรู้แบบปกติของมนุษย์ว่า มันเป็นสิ่งเดียวกัน


คำถามเดียวกันนี้ หากข้าพเจ้าถามฝรั่งซึ่งไม่เชื่อในพระเจ้าล่ะ คำตอบและแง่คำการสนทนาจะแตกต่างออกไป


ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้พบปะกับเพื่อนฝรั่งคนใหม่ เขาเป็นช่างศิลป์แต้มเรือนร่างที่เรียกกันว่า แทตทู ดูภายนอกแล้วเขาเป็นพวกสักลายที่ดูน่ากลัวกระทั่งไม่น่าคบเลย เขาเองบอกข้าพเจ้าขณะกำลังนั่งออกแบบลายสักอยู่ริมระเบียงริมโขงว่า เขาไม่กล้าที่จะเดินทางไปในดินแดนแปลกถิ่นมากนัก เขากังวลต่อผู้คนที่เห็นลายสักทั่วตัวของเขา นี่เป็นครั้งที่สองที่เดินทางมาเมืองไทย หมายถึงครั้งที่สองของเมืองริมโขงแห่งนี้ด้วย สำหรับเขาแล้วลายสักเป็นงานศิลปะ


ข้าพเจ้าบอกว่า ในประเทศลุ่มน้ำโขงมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่สักลายตามต้นขา ต้นแขนก็มี เช่น คนลื้อ คนขมุ แต่เป็นการสักในการแสดงความเชื่อ หรือความขลังของคนสัก แต่การสักของคนรุ่นใหม่เป็นแฟชั่น เขาบอกว่าในทางความเชื่อของทั้งคาทอลิกและคริสเตียนแล้ว การสักเป็นมนต์ตราของคนนอกศาสนา พอดีว่าเขาไม่มีศาสนาจึงสักได้ และในข้อเท็จจริง การสักลวดลายแบบดั้งเดิมมีมานานแล้ว ก่อนความเชื่อแบบคริสต์จะเข้ามาสู่ยุโรป เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบมนุษย์โบราณอายุเกือบห้าพันปีบนยอดเขาน้ำแข็ง และที่สำคัญบนเนื้อหนังของเขามีลายสักด้วย


เขายืนยันว่า นี่คือจิตวิญญาณที่สูญหายไปหลังจากคริสต์ศาสนาเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ คนยุโรปเดิมก็เชื่อในจิตวิญญาณที่มีอยู่ในต้นไม้ ก้อนหิน ในป่า ในแม่น้ำ และเป็นพื้นฐานให้คนเคารพธรรมชาติและอาศัยธรรมชาติอยู่ร่วมเพื่อจะสลายไปรวมกับธรรมชาติอีกครั้ง


สำหรับเพื่อนชาวออสเตรียคนนี้แล้ว เขายืนยันว่าสสารต่างๆ ก็มีมิติของจิตวิญญาณด้วย


ข้าพเจ้าบอกว่า ความเชื่อที่คุณเล่ามา มันตรงกับความเชื่อเรื่องผีของคนในลุ่มแม่น้ำโขงเช่น ความเชื่อต่อพญานาค สะท้อนถึงการเคารพในธรรมชาติต่อแม่น้ำสายนี้ เราตั้งคำถามกันต่อว่า แล้วเหตุใด ความเชื่อแบบคริสต์จึงทำให้ความเคารพในความเชื่ออื่นๆ หายไป เขาบอกว่า คริสต์เป็นความเชื่อแบบเอกเทวนิยม จึงไม่มีพื้นที่ให้ผู้นิยมเทวาอื่นๆ หรือผีอื่นๆ แน่นอนว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เราต้องยำเกรงพระเจ้า เราต้องรักพระเจ้า พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่ง ฉะนั้นผู้คนจึงหลงลืมและถูกกระทำให้รักพระเจ้า จนกระทั่งสรรพสิ่งอื่นๆ ไม่มีคุณค่าควรรัก เพราะมันไม่ใช่พระเจ้า นอกจากนี้เรายังแลกเปลี่ยนกันอีกว่า ทัศนะเรื่องมนุษยนิยมและแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบกลไกในยุคใหม่ยิ่งทำให้พื้นที่วัฒนธรรมเดิมหายไปสิ้น รวมทั้งเป็นต้นธารของการทำลายโลกอย่างขนานใหญ่


พระเจ้าไม่มีความสำคัญอีกต่อไป แม้องค์เดียวกัน รากฐานเดียวกันยังทำให้คนรบรากันได้


พระเจ้าของใครก็ของมันแต่ละคนไป การตีความคัมภีร์ก็แตกแขนงเป็นหลายนิกายแยกย่อยมากมาย ถึงที่สุดหลักเหตุผลต่างๆ ในการตีความหมายต่อคัมภีร์หรือหนังสือเล่มหนึ่งก็เข้าไม่ถึงความจริง เหตุผลมากมายสุมรวมกองกันอย่างซับซ้อน


เราเห็นร่วมกันว่า ความสัมพันธ์ของคนกับโลกธรรมชาติแบบเรียบง่ายหายไป โครงสร้างการปกครองของคนกับคน ทั้งในทางการเมืองและศาสนาเป็นปัญหาร่วมสำคัญ อีกทั้งระบบทุนนิยมยิ่งผลักไสให้ไปสู่ความวิบัติ


แล้วเราจะมีทางออกใหม่? ข้าพเจ้าถามเขา


เขาบอกว่า ปฏิเสธทุกอย่างแล้วเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์ตนเองกับธรรมชาติรอบตัวใหม่ หรือไม่ก็กลับไปหาพญานาคของคุณ บางคนก็อาจจะกลับไปหาพระเจ้าที่ให้ค่าป่าไม้ ภูเขาหิมะและธรรมชาติอื่นๆ ของโลก พร้อมๆ กับที่ให้ค่าของคนเท่ากันด้วย เขาเองจะกลับไปศึกษาลายสักโบราณ ความเชื่อต่างๆ ก่อนคริสต์ศาสนาจะเข้ามา


เขาบอกอย่างดีใจว่า ปีก่อนนักโบราณคดีเพิ่งค้นพบพีรามิดที่บอสเนียซึ่งมีอายุมากกว่าพีรามิดในอียิปต์ มันอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา บางทีเราอาจจะพบ...


ดูเหมือนวันนั้น เราสรุปได้เพียงว่า พญานาคก็เท่ากับพระเจ้า และก็ไม่ควรลืมว่า พระเจ้าไม่ควรรวมศูนย์ความเชื่อเพียงองค์เดียว พญานาคก็เช่นกัน ควรแบ่งปันความหลากหลายให้ทั่วกันในแต่ละความเชื่อ อย่างไรก็ดี ไม่ควรลืมความเป็นคนกับโลกธรรมชาติที่รู้กันอยู่ว่า ใกล้จะระเบิดด้วยความร้อนออกมาแล้วในศตวรรษที่ 21


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

วันเสาร์, กรกฎาคม ๐๕, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : ในเนื้อนามนั้น


มีเมืองหนึ่งในอดีตอยู่ทางเหนือเวียงเชียงของขึ้นไปตามลำน้ำโขงชื่อว่า “เมืองกาน” สันนิษฐานว่า เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ของเวียงเชียงของในอดีต ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านเมืองกาญจน์” นามบ้านเกี่ยวเนื่องกับตำนานแม่น้ำโขงเรื่องปู่ระหึ่ง ซึ่งเล่ากันว่าเป็นบรรพบุรุษร่างยักษ์ของคนแถบแม่น้ำโขงที่เชียงของ ดอยต่างๆ คือขี้ไถของปู่ระหึ่ง และในวันที่ปู่ระหึ่งแบกไม้คานเอาถ่านไปขายทางเหนือ ไม้คานก็ได้หักลงที่บ้านเมืองกาน (คนยวนออกเสียงคานเป็นกาน) บ้านนี้จึงได้ชื่อตามไม้กาน (คาน) ต่อมาเมื่ออำนาจรัฐสมัยใหม่สามารถเข้ามาจัดระเบียบการปกครองเมืองชายแดนได้จึงเปลี่ยนชื่อเสียเพราะพริ้งให้ใหม่ว่า “เมืองกาญจน์”

ชื่อนามมีส่วนสำคัญในการเชื่อมระหว่างจิตมนุษย์กับวัตถุ หรือพื้นที่ตัวตนในทางวัตถุ การให้ความหมายชื่อนามจึงมีความสำคัญทั้งในระดับการสื่อสารทางสังคมและในระดับของความเชื่อทางวัฒนธรรม ดูชื่อตัวอย่างของวัตถุที่ปลุกเสกขายกันสนั่นเมืองจนข้ามแดนไปประเทศในแหลมมาลายูอย่าง “จตุคามรามเทพ” หรือชื่อที่สลักใต้รูปปั้นในวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมชาติ มีว่า “ขัตุคามรามเทพ” ชื่ออะไรที่แท้จริงและประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ดูจะไม่สำคัญไปกว่ากระบวนการให้ความหมายและการผลิตซ้ำเพื่อการค้า

กระบวนการสร้างความหมายจึงมีความสำคัญ ชื่อบ้านนามเมืองเองก็มีการให้ความหมาย และเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่อยู่สามลักษณะคร่าวๆ คือ 1)การให้ชื่อความหมายตามสภาพกายภาพ ระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในนิเวศนั้นๆ ของคนในพื้นที่ 2)การให้ชื่อความหมายอิงเหตุการณ์ที่เกิดในอดีต ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสัตว์ หรือธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ลัทธิความเชื่อ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ชื่อเมืองใหญ่จะอิงประวัติศาสตร์ของกษัตริย์แห่งเมืองนั้นๆ เช่น นครศรีธรรมราช ได้ชื่อมาจาก พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช 3)การให้ชื่อความหมายโดยนัยการเมืองปัจจุบัน เปลี่ยนคำใหม่เพื่อการจัดการรวบรวมมวลชนให้อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น การเปลี่ยนจากสยามมาเป็นไทย รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อเมืองหลายเมืองในสมัยต่างๆของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น กุดลิง เป็นวานรนิวาส ในจังหวัดสกลนคร รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อบ้านในยุคสงครามเย็น เช่น บ้านที่มีชื่อ ใหม่พัฒนา, สันติสุข, ร่วมใจ, เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ

การตั้งชื่อจากการอิงอยู่กับนิเวศมาสู่วัฒนธรรมความเชื่อและก้าวสู่การอิงอำนาจในการเมืองการพัฒนาคงไม่สำคัญเท่ากับการใช้ประโยชน์และผลผลิตซ้ำๆ ของมันทางสังคม การเปลี่ยนชื่อประเทศไทยกลับสู่ประเทศสยามจึงไม่ใช่แนวทางอย่างสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาประเทศท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน หากไม่รองรับด้วยวัฒนธรรมการใช้ รวมทั้งมีการใช้คำเหล่านี้แตกต่างกันไปในหลายนัยยะ การไม่สัมพันธ์กับความจริงเชิงประจักษ์ต่อพื้นที่ทางนิเวศแล้วชื่อนั้นก็อาจจะไม่ขลังก็ได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแม้จะเขียนและให้ความหมายดีเลิศเช่นไร หากการนำไปใช้จริงไม่เกิด และไม่เข้ากับนิเวศหรือบริบทสังคมวัฒนธรรม มันก็คือของขลังที่อยู่บนหิ้งนั่นแล

มีชื่อประเทศใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ใช่ว่า คนบ้านเมืองกาน (กาญจน์) จะอยู่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงเพราะถ้อยคำนั้น หากไม่ทำให้ชื่อเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่คนบ้านนั้นสามารถมีส่วนในการสร้างแล้วนำไปใช้ในชีวิตส่วนตัว ในแง่นี้ประสบการณ์ตรงของคนที่ใช้วัตถุปลุกเสกชื่อดังจึงดูเป็นจริงและเข้าถึงง่ายกว่าจนบอกเล่ากันปากต่อปาก และมากปากเสียงขึ้นด้วยสื่อการตลาด ต่อมาจากชื่อความหมายเดิมก็หล่นหายไป ในความรู้สึก เหลือเพียงถ้อยพลังของแต่ละรุ่นซึ่งมุ่งเน้นสู่ความร่ำรวย

เพราะในระหว่างการนำชื่อความหมายไปใช้และผลิตซ้ำด้วยศรัทธาการตลาด ระหว่างทางก็มีการหล่นหายไปจากของเดิมและมีการสร้างความหมายใหม่อยู่เรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไรที่เราจะเท่าทันเนื้อในนามนั้นที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเข้าใจเนื้อแท้ในทางวัตถุชิ้นนั้นด้วย
ในแง่หนึ่งปรากฏการณ์เสื้อเหลือง เรื่อยมาจนถึงองค์จตุคามรามเทพ มันขับเน้นให้เห็นพลังทางสังคมที่อยู่ในยุควิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ กับสงครามไม่มีชื่อในภาคใต้ มันอยู่ที่ว่า แล้วจะนำพลังทางสังคมนี้ไปใช้อย่างไร

นี่ล่ะ คือสิ่งที่องค์จตุคามรามเทพเผยให้เห็น คือความหมายทางความเชื่อศรัทธาอันผูกติดกับการตลาด ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราหรือเศรษฐกิจก็ต้องการศรัทธาความเชื่อแบบเดียวกับเทพเจ้าจตุคามรามเทพมาหมุนให้ไหลผลิตซ้ำต่อไปได้ เพราะรากฐานของเงินคือไสยศาตร์ของการให้ค่าความหมายและอำนาจ การโดนแย่งซีนของกษัตริย์จันทรภาณุ, องค์จตุคามรามเทพ, และขุนพันธ์ จากเงินตรา สุดท้ายจะเหลือเพียงปัจเจกชนกับปาฏิหารย์ในความร่ำรวยโดยโดดเดี่ยว และที่สุดแล้วทุกอย่างมาจากดินก็กลับสู่ดิน ส่วนถ้อยคำความหมายยังคงโลดแล่นต่อไปกับมนุษย์และพร้อมจะกลับมาผสมพันธุ์กับความหมายใหม่ ๆ อีกครั้ง คงเป็นวันเดียวเท่านั้นที่ความหมายแห่งนามและพลังอำนาจของคำจะหายไปคือวันที่มนุษย์สูญสิ้นพันธุ์!

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมองเห็นและใช้ถ้อยคำหรือความหมาย/สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของมนุษย์ด้วยกันเองอย่างรู้เท่าทันได้อย่างไร? แล้วมนุษย์จะไม่แพ้ภัยตัวเอง สงสัยข้าพเจ้าต้องย้อนอดีตกลับไปถามปู่ระหึ่ง เผื่อว่าปู่จะมอบพระให้สักรุ่นที่มองเห็นจิตใจตัวเองและมนุษย์ทั้งมวล!


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ในแผ่นดินพญานาคา : ทองคำ! โอ้… พญานาคาช่วยด้วย!


สามตอนที่ผ่านมาของการพูดถึงในแผ่นดินพญานาคา มีเสียงพรายกระซิบจากเพื่อนๆ และบรรณาธิการว่า ติดท่าทีของเรื่องเล่าแบบวรรณกรรมมากไป (นี่หมายรวมคอลัมน์ส่วนใหญ่ของสานแสงอรุณในปัจจุบันด้วย) น่าจะอรรถาธิบายแบบท่าทีวิชาการบ้าง (นี่ดีน่ะที่ท่านบรรณาธิการยังให้โอกาสอธิบาย) ว่าในแผ่นดินพญานาคานั้นพูดถึงอะไรกันแน่ มันคือเรื่องผีงมงาย อภินิหาร เรื่องเล่าเชิงคติชน ท่องเที่ยวไปตามลำน้ำโขง หรือว่ามันคืออะหยั่ง แล้วมันเกี่ยวกับดุลยภาพในความงามของชีวิตอย่างไร?
ข้าพเจ้าก็เห็นเช่นนั่นเองแล จึงเริ่มพรรณนาแบบวิชาการในพลันนี้แหล่ะ เอาละน่ะ ข้าพเจ้าจะเริ่มแปลงหินในแม่น้ำโขงให้เป็น "ทองคำ" ณ บัดนี้แล้ว
ฝรั่งเขาว่าไว้ว่า ในทางปรัชญา “ก้อนหิน” สามารถเล่นแร่แปรธาตุเป็นทองคำได้ "ก้อนหินของนักปรัชญา" จึงน่าจะไม่ต่างกับก้อนหินธรรมชาติในลำน้ำโขงแห่งพญานาคา นี่พูดแบบจริงจังแล้วน่ะ เพราะอีกฉายาหนึ่งของแม่น้ำโขงถูกกล่าวขานกันว่า "แม่น้ำทองคำ" และในภูมิศาสตร์กายภาพของแม่น้ำสายนี้แล้วมีการร่อนทองกันหลายพื้นที่มาแต่ครั้งอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ -เชียงแสน เชียงของ บ่อแก้ว จนถึงหลวงพระบาง อีกในความหมายหนึ่งของถ้อยคำนี้คือแม่น้ำที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างมหาศาล มีแร่ธาตุมีค่ามากมาย เช่น ในแขวงบ่อแก้วของลาว ด้วยความมีค่าเช่นทองคำเยี่ยงนี้ทำให้เป็นที่หมายปองของคนต่างถิ่นในการเข้าครอบครองอาณาบริเวณของลุ่มน้ำโขงตลอดมา ตั้งแต่ยุคการคลั่งไคล้แม่น้ำโขงของฝรั่งเศส ส่งนักสำรวจมาผจญภัยขีดแผ่นที่แล้วเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม แม้กระทั่งในยุคการพัฒนาสมัยใหม่ด้วยมุมมองความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับวิทยาศาสตร์กลไกผสมพันธุ์กันจนแพร่กระจายไปทั่วไม่เว้นแต่ในหัวของคนท้องถิ่น เกิดการยื้อแย่งทรัพยากรเพื่อขูดรีดต้นทุนนำสู่กำไรสูงสุดทางการค้า "ก้อนหิน" กลางแม่น้ำโขงถูกมองว่าเป็นหินโสโกรกต้องกำจัดทิ้งเพื่อเปิดทางการค้าการลงทุน ก้อนความคิดต่อหินเช่นนี้ฝังอยู่ในสมองของทั้งนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงทุนนิยมอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสังคมนิยมผู้ตื่นจากหลับมาเปิดตลาดเสรีกึ่งควบคุมเช่นจีน
เหตุใดคนต่างถิ่นและคนยุคใหม่แห่งแม่น้ำโขงจึงมองว่า "ก้อนหิน" เป็นเพียงหินโสโกรกต้องระเบิดทิ้ง แม่น้ำเป็นเพียงเส้นทางการค้าและการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า การสำรวจและการวิจัยส่วนใหญ่มักมุ่งหมายสู่การนับกำไรขาดทุนเป็นตัวเลข มองเห็นเพียงคุณค่าทางเศรษฐศาตร์เพียงอย่างเดียว และเป็นเศรษฐศาสตร์ที่บิดเบือนเสียด้วย แล้วทำไมคนพื้นถิ่นดั้งเดิมอีกทั้งผู้คนที่ยังใกล้ชิดหาอยู่หากินกับแม่น้ำของ(โขง) มองว่า "ก้อนหิน" เป็นบ้านของปลา เป็นวังของพญานาค และแม่น้ำทั้งสายเป็นแม่ (ไม่งั้นจะเรียกว่า "แม่" นำหน้าน้ำไปทำไม?)
เหตุใด อุ้ยเสาร์ ระวังศรี -พรานปลาแห่งคอนผีหลงของเมืองเชียงของ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการหาปลามากว่าครึ่งศตวรรษ จึงกล่าวว่า "หากระเบิดแก่งในแม่น้ำของ(โขง)ออกไปก็มีค่าเท่ากับการที่เราฆ่าแม่ของเราเอง!" ถ้อยคำเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสุนทรพจน์ของหัวหน้าเผ่าอินเดียแดง ในมลรัฐวอชิงตัน ที่ว่า "…โลกคือแม่ของเรา ความวิบัติใดๆที่เกิดขึ้นกับโลก ก็จะเกิดขึ้นกับเราด้วย หากมนุษย์ถ่มน้ำลายรดแผ่นดินก็เท่ากับมนุษย์ถ่มน้ำลายรดตัวเอง…"
ความแตกต่างของรากความคิดเช่นนี้อธิบายได้ว่าอย่างไร? ทางหนึ่งว่าก้อนหินเป็นทองคำแห่งชีวิต ทางหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ข้าพเจ้าจะลองแปลความดูตามสติปัญญาอันน้อยนิด โดยจะเริ่มเล่นแร่แปรธาตุจากเรื่องลึกลับเพราะศาสตร์ชนิดนี้มักถูกมองเป็นไสยศาสตร์เช่นเดียวกับที่หลายผู้คนมองแม่น้ำโขงว่า "ลึกลับ"
มุมมองของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่เชื่อว่า แม่น้ำโขงมีผู้สร้างคือพญานาค รวมตลอดไปทั้งแม่น้ำสาขาก็เชื่อว่า นาคเป็นผู้ขุดควักแม่น้ำขึ้น รวมทั้งเหล่าพลนาคทั้งหลายเป็นผู้ช่วยสร้างบ้านแปงเมือง กล่าวกันในทางมนุษยวิทยาแล้วนาคคือคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีส่วนในการผสมผสานวัฒนธรรมกับผู้มาอพยพมาใหม่ พญานาคในความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงมักอาศัยอยู่ในวังน้ำลึก โดยในทางนิเวศแล้วที่ซึ่งมีวังน้ำลึกวนไหลเชี่ยวจะมีแก่งหินขนาดใหญ่อยู่ด้วย และยังเชื่อกันอีกว่าก้อนหินใหญ่เหล่านั้นคือที่อยู่ของพญานาคด้วย คนลุ่มน้ำโขงจึงมีประเพณีการไหว้ผีน้ำ เพื่อระลึกคุณของน้ำและธรรมชาติ ผีน้ำหรือนาคนั้นกล่าวได้ว่าเป็นความเชื่อของชาวน้ำหรือในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ ก็มีพวกที่เรียกว่า นาควารี ความเชื่อต่อน้ำหรือนาคนี้เป็นความเชื่อส่วนใหญ่ของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในอุษาคเนย์ก็ว่าได้ (บางแห่งว่าพญานาคาเป้นเทพเจ้าแห่งฟ้า)
กล่าวโดยสรุปแล้วพญานาคมักมีสถานภาพในการอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา เป็นผู้เชื่อมระหว่างโลกและจักรวาลผ่านบันไดสายรุ้ง เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ของแผ่นดินเช่นงูใหญ่ (ในความเชื่อของอินเดีย กรีก อียิปต์และทางวิทยาศาสตร์มักสันนิฐานว่า เป็นงูใหญ่) ในทางพุทธศาสนาแล้วนาคเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพระพุทธศาสนา แต่โดยพื้นฐานแล้ว นาคคืองู หรือเงือก หรือผีเงือกของคนเมืองเหนือ(โยน) มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับนาค นาคเกี่ยวเนื่องกับการสร้างและการทำลายด้วย เป็นภาวะที่เหนือธรรมชาติ แม้จะโดยพื้นฐานแล้วน่าจะเริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องงู
คำอธิบายถึงพญานาคมีส่วนคล้ายและเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของน้ำ ด้วยน้ำในทางสสารแล้ว (ในทางวิทยาศาสตร์คือ H2O ไม่มีจิตวิญญาณ แต่ในทางการเล่นแร่แปรธาตุแล้ว สสารมีจิตวิญญาณด้วย) มีอยู่หลายสถานะ และข้าพเจ้าเห็นว่าน้ำเป็นแบบอย่างรูปธรรมของความคิดวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม คือได้พูดถึงจิตวิญญาณและจินตนาการไปพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปรของสสาร ปฏิบัติการของน้ำมีอยู่ทั้งของเหลว ไอ ของแข็ง มีทั้งการส่งผ่านจากสิ่งที่มองเห็นไปสู่สิ่งที่มองไม่เห็น จากหยาบไปสู่ละเอียดอ่อนและจากละเอียดอ่อนกลายเป็นสสารที่หยาบ กล่าวได้ว่า การมองน้ำเป็นนาคคือการพูดถึงองค์รวมของชีวิตธรรมชาติจักรวาลในฐานะองค์ระบบขนาดมหึมา เป็นการพูดถึงน้ำในฐานะสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับนาค ก้อนหิน และธรรมชาติ
การมองธรรมชาติ โลกและจักรวาลของคนลุ่มน้ำโขงเดิมจึงไม่ใช่การมองว่า โลก ธรรมชาติเป็นกลไก แยกย่อยแบ่งซอยแบบวิทยาศาสตร์กลไกที่ตายแล้ว แต่มองเห็นถึงเอกภาพในความหลากหลายของโลกผ่านความเชื่อเรื่องนาค กล่าวคือ “ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวคือทั้งหมด (All is One and One is All)” และนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายผ่านกระบวนการของถ้อยคำที่ว่า “ก้อนหิน” มาประกอบสร้างเป็นทั้งหมด เป็นทองคำในทางปรัชญา เป็นชีวิตดั่งแม่น้ำโขงของอุ้ยเสาร์ เป็นโลก เป็นธรรมชาติ และเป็นจักรวาลของเรื่องเล่าชิ้นนี้หรือชิ้นหนึ่งใดก่อนหน้า...
เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องถามข้าพเจ้าอีกหรอกว่า พญานาคมีจริงหรือไม่? ข้าพเจ้าเพียงแค่จะบอกว่า การพูดถึงในแผ่นดินพญานาคาเป็นการพูดถึงระบบทั้งหมดของโลก แผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ และจักรวาลอันมหึมา ในฐานะสิ่งมีชีวิต กายภาพ จิตวิญญาณ เช่นเดียวกับมนุษย์ ข้าพเจ้าเพียงอยากมองเห็นดุลยภาพของเม็ดทรายเล็กๆ ก้อนหนึ่ง ใบหญ้าเขียวสดใบหนึ่ง พร้อมกับที่มองเห็นป่าทั้งป่าและโลกทั้งโลกในพร้อมกัน! ทันทีทันใด! และต่อเนื่อง...
โอ้… พญานาคช่วยด้วย! ข้าพเจ้าหวังมากไปหรือเปล่า?


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

อ้างอิง
ส. พลายน้อย. 2539. พญานาค. กรุงเทพฯ : น้ำฝน. สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2546. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มติชน
Peter Marshall. 2001. Philosopher's Stone The Wedding of Alchemy and Ecology (“Resurgence”July-August 2001). สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง. ก้อนหินของนักปรัชญา : การแต่งงานของนิเวศวิทยากับการเล่นแร่แปรธาตุ. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม ๐๓, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : รอยยิ้มของพญานาค

เดือนเพ็ญลอยเด่นแทรกอยู่ระหว่างหมู่เมฆยามเย็น ละอองฝนปลายฤดูยังไม่ขาดสาย ลมหนาวมาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านริมฝั่งโขงช้ากว่าปีกลาย เสียงน้ำไหลถะถั่งแรงจนดูราวกับว่าจะพัดเอาเงาจันทร์กลืนจมหายไปใต้บาดาล คุณรู้ว่า หากมองให้ลึกจากแผ่นจันทร์บนผิวน้ำสู่ห้วงลึกอันสุดหยั่งถึงในฤดูกาลนี้ ตั้งใจสดับฟังเสียงน้ำและเสียงผู้คนกับธรรมชาติโดยรอบ คุณอาจจะได้ยินเหล่าพญานาคเริ่มขึ้นมารับเครื่องบูชาในคืน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑…
ภาพและเสียงเช่นนี้มีน้อยคนในปัจจุบันที่จะสัมผัสรู้ ถูกมองว่าเป็นเรื่องเก่าคร่ำครึ แทบจะหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เลย หากจะอธิบายในทางเรื่องเล่า มันก็เป็นได้แค่บุคลาธิษฐานหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกมากมายที่ชักชวนครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ไปนั่งดูแม่น้ำโขงในเขตโพนพิสัย จ।หนองคาย ทุกวันเพ็ญเดือน ๑๑
คุณว่าเขาจะเห็นภาพเหล่านี้ไหม หรือว่าเขาไปดูอะไรกัน?

คุณนั่งอยู่ตรงบันไดท่าน้ำใต้พุ่มต้นเสี้ยว ในขณะที่ความงามแสนประหลาดเหลือจะกล่าวของพริ้วแผ่นน้ำกระทบแสงจันทร์ คุณเห็นนกปีกขาวไม่ทราบสัญชาติบินตัดลำโขงจากฟากฝั่งหนึ่งมาสู่อีกฟากหนึ่ง แทบจะเป็นวินาทีเดียวกันกับที่ปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายตัดลำน้ำซึ่งไหลเชี่ยวมาสู่ฝั่งที่คุณนั่งอยู่ แน่นอน คุณไม่สามารถระบุสัญชาติของปลาตัวนั้นได้…

ในห้วงยามเดียวกันนี้ บ้านห้วยลึกซึ่งอยู่ริมฝั่งโขง ในเขตอ।เวียงแก่น จ.เชียงรายก็ได้เริ่มพิธีจุดเรือไฟบก(จิเฮือไฟบก) เพื่อบูชาคุณบิดามารดา เสียงเพลงรำฟ้อนดังมาจากเครื่องขยายเสียง บั้งไฟดอกถูกจุดปะทุเป็นยวงไฟสู่ฟ้ามืดแล้วตกลงมาสลายลงดิน เด็กหนุ่มรำฟ้อนรอบดอกไฟนั้น… ผู้คนสองฟากฝั่งมาร่วมแข่งเรือและจุดเรือไฟบกร่วมกัน มันเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานหลายสิบร้อยปีแล้ว ที่สองฝั่งไม่เคยถูกแยกออกจากกัน

คืนพรุ่งนี้คือพิธีจุดเรือไฟน้ำ (จิเฮือไฟน้ำ) ลูกหลานที่ห่างบ้านไปนานได้กลับมาพร้อมหน้า คนต่างถิ่นก็ได้เข้ามาร่วมงานด้วย ชายเฒ่าผู้อาวุโสคนหนึ่งเล่าว่า มีเจ้าพญาแห่งกาเผือกคู่ผัวเมียทำรังอยู่บนต้นมะเดื่อริมฝั่งน้ำฟักไข่อยู่ ๕ ฟอง ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด ไข่แต่ละฟองก็ได้ไหลออกจากรังจนหมด ฟองที่หนึ่งมาตกยังท่าน้ำของพญาแห่งไก่ชื่อ กุกุสันโท แล้วได้เก็บไข่ไปฟักแทน ไข่ฟองที่สองไหลมายังท่าน้ำของพญานาคชื่อโกนาคะมะโน ได้ฟักแทนเช่นกัน ฟองที่สามไหลมาจนพญาแห่งเต่าชื่อกัดสะโปได้เก็บไปฟักแทน ฟองที่สี่ได้พญาแห่งวัวชื่อโคตะโมฟักแทน ส่วนฟองที่ห้าไหลมายังท่าน้ำของพญาสิงห์ชื่อราชสีห์ ท่านจึงนำไปฟักเช่นกัน จากนั้นไข่ทั้งห้าฟองได้ฟักออกมาเป็นมนุษย์ จนออกบวชเป็นพระฤาษีธรรมโพธิสัตว์ แล้วทั้งห้ารูปก็ได้ออกตามหาบิดามารดา แล้วได้มาเจอกันพร้อมหน้า สนทนากันโดยเหตุบังเอิญ ทำให้บิดามารดาผู้อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต้องลงมาเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง

ก่อนจะกลับสู่สรวงสวรรค์ ลูกทั้งห้าจึงได้ขอให้พญากาเผือกประทับรอยเท้าบนหินเพื่อไว้เคารพบูชาในยามระลึกถึง พญากาเผือกจึงได้สั่งลูกว่า เมื่อยามวันเพ็ญเดือน ๑๑ ของทุกปีให้จุดไฟใส่ถ้วยหรือจานวางลงบนเรือไม้ที่แกะสลัก แล้วไหลไปตามลำน้ำ กล่าวจบจึงหายตัวไป…

เรื่องเล่าถึงประเพณีไหลเรือไฟมีแตกต่างกันแต่ละพื้นถิ่นของคนลาวหรือคนสองฟากฝั่งลำน้ำโขง บางความเห็นกล่าวว่า เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพญาพรหม บวงสรวงพระธาตุจุฬามณี ตลอดถึงการระลึกคุณแม่น้ำ และการบูชาพระพุทธเจ้า เรื่องราวเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนการคลุกเคล้ากันทางความเชื่อระหว่างผี ฮินดูและพุทธ ทว่าโดยพื้นฐานแล้วคือการเคารพธรรมชาติซึ่งไม่ได้แยกระหว่างผีหรือพุทธ

เสียงสายน้ำที่ไหลกราดเกรี้ยวเชี่ยวแรง จนขอนไม้ใหญ่เมื่อได้พลัดหลงลงไปกลางน้ำโขงแล้วดูเลื่อนลอยไร้เรี่ยวแรง ดูเหมือนว่า สายน้ำไม่น่าจะทนุถนอมฟองไข่แห่งชีวิตให้ผ่านพ้นขวบวัยสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ได้ ทว่าวิถีแห่งการแบ่งปัน เอื้ออาทร (แม้กระทั่งเด็กกำพร้าก็สามารถดำรงอยู่ได้) ในความหลากแรงของสายน้ำก็ยังความอุดมสมบูรณ์ตามมาด้วย คุณพอจะรู้ใช่ไหม ว่าเรากำลังกล่าวถึงอะไรที่มากกว่าการไหลเรือไฟ หรือการชมบั้งไฟพญานาค หรือมันเป็นอะไรที่มากกว่าปลาหรือนกปีกขาวตัวนั้น…

ก่อนลาจากท่าน้ำริมฝั่งโขง ในคืนพระจันทร์เต็มดวง แม้บางส่วนเสี้ยวจะค่อยๆ ถูกเมฆกลืนหายไป จนราวกับว่าอีกไม่นานดวงแสงจันทร์จะหลบหายไปหลังม่านเมฆ ในขณะที่ฝนกำลังโปรยสายลงมาอีกครั้ง ฤดูฝนแสนยาวนานของปีนี้ทำท่าว่าจะทำให้บ้านเมืองทันสมัยในทางใต้จมอยู่หลายวัน ทว่าสำหรับชาวประมงแล้วพวกเขารู้ว่าหลังจากน้ำลดลงในฤดูหนาวที่จะมาถึงนั้น ย่อมมีฝูงปลาจำนวนมากมายให้เลี้ยงดูชีวิต เพราะแม่น้ำที่คุณมองเห็นนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงร่องแผ่นดินที่มีแม่น้ำไหลผ่านสองฝั่ง ทว่าแม่น้ำมีความหมายมากกว่านั้น…

คุณมองลงไปยังผืนน้ำกว้าง ที่ซึ่งไม่มีดอกไฟโผล่ขึ้นมาจากใต้บาดาล แล้วยกมือพนมขึ้นกล่าวคำขมาและระลึกคุณแม่น้ำเบื้องหน้าซึ่งดูราวกับว่าพญานาคเผยยิ้มรับคุณ!
นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ในแผ่นดินพญานาคา : ผีเงือกของเด็กๆ



ทุก ๆ สิ้นเดือนหรือกลางเดือนจะมีเรื่องราวแปลกพิลึก ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และทีวีอยู่เสมอ ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมก็มีเรื่องพญานาคมาโผล่ที่สมุทรปราการ ในรูปของยอดมะพร้าวมีลักษณะใบและเรือนยอดคล้ายพญานาค แน่นอน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวสำคัญของหนังสือพิมพ์หัวสี และที่แน่ยิ่งกว่านั้นคือมันถูกตีค่าความหมายเป็นตัวเลขหวย!

ผมเดินทางไปหลวงพระบางอีกครั้งเมื่อปลายหน้าร้อนปีนี้ ได้ฟังเรื่องราวพญานาคจากปากของเด็กๆ แห่งบ้านเชียงแมน คนหลวงพระบางและคนลุ่มน้ำโขงบางแห่งเรียกพญานาคในชื่อว่า ‘ผีเงือก’ ฟังดูแล้วมันก็มีเหตุผลที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

ผมกับเพื่อนข้ามจากฝั่งหลวงพระบางไปยังฝั่งเชียงแมนในเวลาบ่ายแล้ว คนลาวบางคนเรียกว่า ฝั่งไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2484 ยุคสงครามอินโดจีนไทยได้เข้ามายึดพื้นที่นี้คืนจากฝรั่งเศสและตั้งให้เป็นจังหวัดล้านช้าง เราขึ้นฝั่งแล้วสับสนกับทางเดินเก่าที่ไปยังพระธาตุจอมเพชรเล็กน้อย เพราะมีการปรับปรุงถนนและคูน้ำใหม่ เดินผ่านชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ทำเกษตรริมฝั่งและหาปลาส่งไปขายฝั่งหลวงพระบางมาจนถึงเชิงบันไดก่อนขึ้นภู โต๊ะขายปี้หรือบัตรรอเราอยู่แล้ว บัตรนี้ออกโดยนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านและจะนำเงินไปบำรุงพระธาตุกับชุมชน เด็กสามคนเสนอขายดอกไม้เพื่อการไหว้พระธาตุหลังจากซื้อบัตรแล้ว เมื่อเราปฏิเสธพวกเด็กๆก็ยังเดินตามขึ้นมา พระธาตุจอมเพชรตั้งอยู่บนไหล่ภูนางซึ่งมีบันไดทางขึ้นน้อยกว่าบันไดขึ้นพระธาตุจอมพูสี แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตกได้พอควรหากบวกรวมกับแดดบ่ายที่ตั้งดวงตะวันอยู่เหนือภู

เมื่อเลยบันไดขั้นสุดท้าย ผมมองเห็นวิหารเก่าเพียงแวบหนึ่งแล้วหันกลับมามองหลวงพระบาง ในมุมจากอีกฟากฝั่ง แสงบ่ายขับเน้นให้เห็นพระธาตุจอมพูสีงามเด่นอยู่มุมขวา ปากน้ำคานอยู่ซ้ายมือ กลางภาพคือบ้านเรือนของคนหลวงพระบาง มีดอกซอมพอหรือหางนกยูงเหลืองแดงแต้มสลับกับต้นมะพร้าวอยู่ริมฝั่ง เรือข้ามฟากตัดข้ามแผ่นน้ำเป็นร่องคลื่นดูคล้ายงูกำลังว่ายอยู่กลางลำโขง

“อ้าย… ดอกไม้บ่..” เด็กชายที่ตามเรามาถามผม ผมหันกลับไปถามพวกเราอีกต่อหนึ่งก็ไม่เห็นใครสนใจจึงนิ่งเงียบ แต่พวกเขาก็ยังไม่ละ ผมเห็นหญิงชราสองคนเดินออกมาจากวิหารจึงเข้าไปทักทาย เพื่อเปลี่ยนจุดสนใจ แม่ใหญ่ทั้งสองบอกว่า มานมัสการธาตุนี้ทุกสัปดาห์ แกเป็นคนฟากหลวงพระบาง ผมถามว่า ทำไมมาไกลถึงฝั่งเชียงแมน แกบอกว่า มันสงบดี วัดล่องคูนที่อยู่ข้างล่างก็มีที่ให้นั่งสมาธิ เงียบไม่ค่อยมีคนมารบกวน ผมคิดเอาเองว่า คนที่มารบกวนน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวเช่นผมนี้แหละ คุยกันสักพักแกก็ขอตัวกลับ

หลังจากนั้น เด็กชายก็เข้ามาคะยั้นคะยอผมอีกครั้ง ผมจึงซื้อดอกไม้หนึ่งกรวย แล้วชวนพวกเขาคุย ผมถามโน้นถามนี้สารพัด พวกเขาก็ตอบแบบประหยัดคำอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อผมถามว่า ที่หลวงพระบางมีผีเงือกไหม เด็กหญิงคนหนึ่งที่ดูเหนียมอายที่สุดได้แย่งเด็กชายคนนั้นว่า ผีเงือกมีจริงและชอบกินคน โดยเฉพาะเด็กๆ ผมอดอมยิ้มไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ยิ้มหัวเรื่องผีเงือก แต่ยิ้มรับเรื่องผีเงือกที่ปลิวร่วงมาจากปากเด็กเหล่านั้น และดูสีหน้าพวกเด็กๆ จริงจังกับเรื่องนี้มาก

พวกเด็กๆ บอกว่า ผีเงือกอยู่ที่ปากน้ำคานแต่ถูกปราบไปแล้ว เดี๋ยวนี้มีที่ปากน้ำอูและลึกลงไปข้างใน ผีเงือกมาจากจีนตามน้ำอูและน้ำโขง เด็กๆ เวลาเล่นน้ำต้องระมัดระวัง ผีเงือกจะเอาไปอยู่เมืองของมัน… เมื่อผมถามว่า รู้ได้อย่างไร พวกเขาบอกว่า พ่อแม่เล่าให้ฟัง

“มีจริงหรือ?” ผมลองถามดู

“จริงแน่ๆ คนที่ไปหาปลาในน้ำของ เคยพบกันเสมอ…” พวกเด็กๆยืนยัน

หลังจากนั้นผมจึงชวนเด็กๆ และพวกเราไปชมวัดล่องคูนและเที่ยวถ้ำสักรินซึ่งลงจากไหล่ภูไปไม่ไกลนัก เด็กชายก็มาสะกิดผมว่า ไม่ไปไหวพระหรือ? ผมบอกว่า ใช่สิ เราไปไหว้ด้วยกันไหม เด็กชายยื่นดอกไม้ที่ขายแล้วให้ผม ผมไม่รับบอกว่าให้เธอไปไหว้พระด้วยกันกับผม เผื่อว่าเราจะได้เจอกันอีก เด็กชายไม่ยอม ผมจึงเข้าไปคนเดียวโดยไม่ได้นำดอกไม้มาด้วย แล้วรีบเดินตามคนอื่นๆ ซึ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว

พวกเด็กๆ นำทางเราไปชมวัดและเที่ยวถ้ำอันฉ่ำเย็น ซึ่งมีพระถูกขโมยไปแล้วบางส่วนจึงทำให้ถ้ำต้องมีประตูเหล็กและมีคนดูแลกุญแจ แน่นอน ก่อนเข้าเราต้องจ่ายค่าบัตรอีกเหมือนเก่า เด็กๆ แย่งกันร้องเพลงสมัยใหม่ของไทยและเล่าเรื่องถ้ำ ความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องผีเงือกที่เล่าแล้วเล่าอีกให้ฟัง แม้ในตอนที่ผมปวดท้องเข้าห้องน้ำเด็กชายก็ยังเป็นคนนำทางที่ดีมาส่งผมถึงห้องปลดทุกข์ เมื่อเราออกจากถ้ำมาแล้ว ผมเพิ่งสังเกตเห็นหญิงฝรั่งนั่งสมาธิอยู่ในวิหารปากทางเข้าถ้ำจึงไม่กล้าเข้าไปในวิหาร กลัวจะไปรบกวนสมาธิของผู้แสวงหาจึงเลี่ยงมาด้านนอก แล้วชวนเด็กคุยเรื่องชื่อวัด ชื่อถ้ำ และแน่นอน ผมถามตำแหน่งที่อยู่ของผีเงือกหรือพญานาคอีกครั้ง

“อ้าย… เงินยี่สิบบาทค่าไกด์” เด็กชายยื่นมือมาหาผม พร้อมถามเรื่องเงินค่านำทาง ผมตกใจมากว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกไปว่า เงินอยู่ในกระเป๋านั่นแหละ ดอกไม้นั้นก็เอาไปขายใหม่ได้น่ะ เด็กๆ พร้อมใจกันบอกว่า จะไม่เล่าเรื่องผีเงือกหรือเรื่องอะไรให้ฟังอีก อย่างนี้ไปกับฝรั่งดีกว่า…

เมื่อผมข้ามมาฝั่งหลวงพระบาง นั่งชมพระอาทิตย์ตกดินจากบนพูสีแล้วกลับมานอนนึกย้อนถึงเด็กทั้งสามคน ตื่นเช้ามาหนึ่งในกลุ่มของพวกเราตั้งใจไปตักบาตร แต่ลืมเตรียมของไปจากตลาดเช้าซึ่งก็เป็นความสะเพร่าของผมที่ลืมเตือนก่อนว่า น่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้า เมื่อไปถึงบริเวณหน้าวัดที่ตักบาตรก็โดนแม่ค้าขายข้าวเหนียวและข้าวของสำหรับตักบาตรรุมแย่งกันขายของ คนนี้ว่าอย่าง คนนั้นดึงให้ไปอีกอย่าง คนเฒ่าคนแก่ที่กำลังนั่งรอขบวนพระก็ส่งเสียงมาบอกว่า ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องตักหรอก ซึ่งมันตรงกับใจของพวกเราพอดีเลยว่า หากมากเกินกว่านี้ก็ไม่ได้บุญจึงไม่ต้องตักบาตร…

เมื่อมานึกใคร่ครวญดูดีๆ แล้ว ในหลายๆ ครั้งคนเราทำบุญหรือเซ่นไหว้อะไรสักอย่างก็เพื่อผลตอบแทนบางอย่าง ไม่หวังเป็นตัวเงินก็หวังสุขภายในใจ แท้ที่จริงแล้วพื้นที่ความเชื่อภายในตัวเราต่างถูกอธิบายด้วยชุดเหตุผลอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่า สิ่งนั้นมันจะมีเหตุผล หรือเหนือเหตุผลหรือไม่ ผีเงือกของเด็กๆ อาจจะมีค่าเท่ากับเงินเช่นเดียวกับพญานาคของชาวบ้านที่สมุทรปราการ ทว่าเงินต่างๆ เหล่านั้นก็มีค่าเท่ากับบุญซึ่งในที่สุดแล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน มันขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อในพระ ในผีเงือก ในพญานาคอย่างไรและเพื่ออะไรอีกทีหนึ่ง

นี้คือคำอธิบายที่ผมคิดได้ในตอนนี้ว่า เงินกับผีนั้นมีค่าไม่ต่างกัน และผมกับเด็กๆ เหล่านั้นก็ไม่ต่างกัน เราต่างเป็นมนุษย์บนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกันกับคุณทุกคน…


*[1] น้ำของหรือแม่น้ำโขง

นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ทักทายกันอีกครั้ง

ก่อนอื่นต้องทักทายกันด้วยคำว่า สวัสดีทุกๆ คน
หายไปนานมาก ต้องขอโทษด้วย ว่างเว้นจากภาระอื่นๆ แล้ว
จึงเริ่มบันทึกกันใหม่ มีงานเขียนของ นพรัตน์ ละมุล ซึ่งเคยนำลงในคอลัมน์
"ในแผ่นดินพญานาคา" ในนิตยสารสานแสงอรุณ
เห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาทยอยลงใน blog นี้ ให้ได้ช่วยอ่านกันจ้า
ส่วนเรื่องสารคดีอื่นๆ จะนำลงตามมาเรื่อยๆ
ขอบคุณที่ติดตาม
naga-bookcoffee