วันเสาร์, กรกฎาคม ๐๕, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : ในเนื้อนามนั้น


มีเมืองหนึ่งในอดีตอยู่ทางเหนือเวียงเชียงของขึ้นไปตามลำน้ำโขงชื่อว่า “เมืองกาน” สันนิษฐานว่า เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ของเวียงเชียงของในอดีต ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านเมืองกาญจน์” นามบ้านเกี่ยวเนื่องกับตำนานแม่น้ำโขงเรื่องปู่ระหึ่ง ซึ่งเล่ากันว่าเป็นบรรพบุรุษร่างยักษ์ของคนแถบแม่น้ำโขงที่เชียงของ ดอยต่างๆ คือขี้ไถของปู่ระหึ่ง และในวันที่ปู่ระหึ่งแบกไม้คานเอาถ่านไปขายทางเหนือ ไม้คานก็ได้หักลงที่บ้านเมืองกาน (คนยวนออกเสียงคานเป็นกาน) บ้านนี้จึงได้ชื่อตามไม้กาน (คาน) ต่อมาเมื่ออำนาจรัฐสมัยใหม่สามารถเข้ามาจัดระเบียบการปกครองเมืองชายแดนได้จึงเปลี่ยนชื่อเสียเพราะพริ้งให้ใหม่ว่า “เมืองกาญจน์”

ชื่อนามมีส่วนสำคัญในการเชื่อมระหว่างจิตมนุษย์กับวัตถุ หรือพื้นที่ตัวตนในทางวัตถุ การให้ความหมายชื่อนามจึงมีความสำคัญทั้งในระดับการสื่อสารทางสังคมและในระดับของความเชื่อทางวัฒนธรรม ดูชื่อตัวอย่างของวัตถุที่ปลุกเสกขายกันสนั่นเมืองจนข้ามแดนไปประเทศในแหลมมาลายูอย่าง “จตุคามรามเทพ” หรือชื่อที่สลักใต้รูปปั้นในวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมชาติ มีว่า “ขัตุคามรามเทพ” ชื่ออะไรที่แท้จริงและประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ดูจะไม่สำคัญไปกว่ากระบวนการให้ความหมายและการผลิตซ้ำเพื่อการค้า

กระบวนการสร้างความหมายจึงมีความสำคัญ ชื่อบ้านนามเมืองเองก็มีการให้ความหมาย และเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่อยู่สามลักษณะคร่าวๆ คือ 1)การให้ชื่อความหมายตามสภาพกายภาพ ระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในนิเวศนั้นๆ ของคนในพื้นที่ 2)การให้ชื่อความหมายอิงเหตุการณ์ที่เกิดในอดีต ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสัตว์ หรือธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ลัทธิความเชื่อ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ชื่อเมืองใหญ่จะอิงประวัติศาสตร์ของกษัตริย์แห่งเมืองนั้นๆ เช่น นครศรีธรรมราช ได้ชื่อมาจาก พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช 3)การให้ชื่อความหมายโดยนัยการเมืองปัจจุบัน เปลี่ยนคำใหม่เพื่อการจัดการรวบรวมมวลชนให้อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น การเปลี่ยนจากสยามมาเป็นไทย รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อเมืองหลายเมืองในสมัยต่างๆของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น กุดลิง เป็นวานรนิวาส ในจังหวัดสกลนคร รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อบ้านในยุคสงครามเย็น เช่น บ้านที่มีชื่อ ใหม่พัฒนา, สันติสุข, ร่วมใจ, เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ

การตั้งชื่อจากการอิงอยู่กับนิเวศมาสู่วัฒนธรรมความเชื่อและก้าวสู่การอิงอำนาจในการเมืองการพัฒนาคงไม่สำคัญเท่ากับการใช้ประโยชน์และผลผลิตซ้ำๆ ของมันทางสังคม การเปลี่ยนชื่อประเทศไทยกลับสู่ประเทศสยามจึงไม่ใช่แนวทางอย่างสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาประเทศท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน หากไม่รองรับด้วยวัฒนธรรมการใช้ รวมทั้งมีการใช้คำเหล่านี้แตกต่างกันไปในหลายนัยยะ การไม่สัมพันธ์กับความจริงเชิงประจักษ์ต่อพื้นที่ทางนิเวศแล้วชื่อนั้นก็อาจจะไม่ขลังก็ได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแม้จะเขียนและให้ความหมายดีเลิศเช่นไร หากการนำไปใช้จริงไม่เกิด และไม่เข้ากับนิเวศหรือบริบทสังคมวัฒนธรรม มันก็คือของขลังที่อยู่บนหิ้งนั่นแล

มีชื่อประเทศใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ใช่ว่า คนบ้านเมืองกาน (กาญจน์) จะอยู่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงเพราะถ้อยคำนั้น หากไม่ทำให้ชื่อเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่คนบ้านนั้นสามารถมีส่วนในการสร้างแล้วนำไปใช้ในชีวิตส่วนตัว ในแง่นี้ประสบการณ์ตรงของคนที่ใช้วัตถุปลุกเสกชื่อดังจึงดูเป็นจริงและเข้าถึงง่ายกว่าจนบอกเล่ากันปากต่อปาก และมากปากเสียงขึ้นด้วยสื่อการตลาด ต่อมาจากชื่อความหมายเดิมก็หล่นหายไป ในความรู้สึก เหลือเพียงถ้อยพลังของแต่ละรุ่นซึ่งมุ่งเน้นสู่ความร่ำรวย

เพราะในระหว่างการนำชื่อความหมายไปใช้และผลิตซ้ำด้วยศรัทธาการตลาด ระหว่างทางก็มีการหล่นหายไปจากของเดิมและมีการสร้างความหมายใหม่อยู่เรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไรที่เราจะเท่าทันเนื้อในนามนั้นที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเข้าใจเนื้อแท้ในทางวัตถุชิ้นนั้นด้วย
ในแง่หนึ่งปรากฏการณ์เสื้อเหลือง เรื่อยมาจนถึงองค์จตุคามรามเทพ มันขับเน้นให้เห็นพลังทางสังคมที่อยู่ในยุควิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ กับสงครามไม่มีชื่อในภาคใต้ มันอยู่ที่ว่า แล้วจะนำพลังทางสังคมนี้ไปใช้อย่างไร

นี่ล่ะ คือสิ่งที่องค์จตุคามรามเทพเผยให้เห็น คือความหมายทางความเชื่อศรัทธาอันผูกติดกับการตลาด ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราหรือเศรษฐกิจก็ต้องการศรัทธาความเชื่อแบบเดียวกับเทพเจ้าจตุคามรามเทพมาหมุนให้ไหลผลิตซ้ำต่อไปได้ เพราะรากฐานของเงินคือไสยศาตร์ของการให้ค่าความหมายและอำนาจ การโดนแย่งซีนของกษัตริย์จันทรภาณุ, องค์จตุคามรามเทพ, และขุนพันธ์ จากเงินตรา สุดท้ายจะเหลือเพียงปัจเจกชนกับปาฏิหารย์ในความร่ำรวยโดยโดดเดี่ยว และที่สุดแล้วทุกอย่างมาจากดินก็กลับสู่ดิน ส่วนถ้อยคำความหมายยังคงโลดแล่นต่อไปกับมนุษย์และพร้อมจะกลับมาผสมพันธุ์กับความหมายใหม่ ๆ อีกครั้ง คงเป็นวันเดียวเท่านั้นที่ความหมายแห่งนามและพลังอำนาจของคำจะหายไปคือวันที่มนุษย์สูญสิ้นพันธุ์!

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมองเห็นและใช้ถ้อยคำหรือความหมาย/สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของมนุษย์ด้วยกันเองอย่างรู้เท่าทันได้อย่างไร? แล้วมนุษย์จะไม่แพ้ภัยตัวเอง สงสัยข้าพเจ้าต้องย้อนอดีตกลับไปถามปู่ระหึ่ง เผื่อว่าปู่จะมอบพระให้สักรุ่นที่มองเห็นจิตใจตัวเองและมนุษย์ทั้งมวล!


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ไม่มีความคิดเห็น: