วันเสาร์, กรกฎาคม ๐๕, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : ทองคำ! โอ้… พญานาคาช่วยด้วย!


สามตอนที่ผ่านมาของการพูดถึงในแผ่นดินพญานาคา มีเสียงพรายกระซิบจากเพื่อนๆ และบรรณาธิการว่า ติดท่าทีของเรื่องเล่าแบบวรรณกรรมมากไป (นี่หมายรวมคอลัมน์ส่วนใหญ่ของสานแสงอรุณในปัจจุบันด้วย) น่าจะอรรถาธิบายแบบท่าทีวิชาการบ้าง (นี่ดีน่ะที่ท่านบรรณาธิการยังให้โอกาสอธิบาย) ว่าในแผ่นดินพญานาคานั้นพูดถึงอะไรกันแน่ มันคือเรื่องผีงมงาย อภินิหาร เรื่องเล่าเชิงคติชน ท่องเที่ยวไปตามลำน้ำโขง หรือว่ามันคืออะหยั่ง แล้วมันเกี่ยวกับดุลยภาพในความงามของชีวิตอย่างไร?
ข้าพเจ้าก็เห็นเช่นนั่นเองแล จึงเริ่มพรรณนาแบบวิชาการในพลันนี้แหล่ะ เอาละน่ะ ข้าพเจ้าจะเริ่มแปลงหินในแม่น้ำโขงให้เป็น "ทองคำ" ณ บัดนี้แล้ว
ฝรั่งเขาว่าไว้ว่า ในทางปรัชญา “ก้อนหิน” สามารถเล่นแร่แปรธาตุเป็นทองคำได้ "ก้อนหินของนักปรัชญา" จึงน่าจะไม่ต่างกับก้อนหินธรรมชาติในลำน้ำโขงแห่งพญานาคา นี่พูดแบบจริงจังแล้วน่ะ เพราะอีกฉายาหนึ่งของแม่น้ำโขงถูกกล่าวขานกันว่า "แม่น้ำทองคำ" และในภูมิศาสตร์กายภาพของแม่น้ำสายนี้แล้วมีการร่อนทองกันหลายพื้นที่มาแต่ครั้งอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ -เชียงแสน เชียงของ บ่อแก้ว จนถึงหลวงพระบาง อีกในความหมายหนึ่งของถ้อยคำนี้คือแม่น้ำที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างมหาศาล มีแร่ธาตุมีค่ามากมาย เช่น ในแขวงบ่อแก้วของลาว ด้วยความมีค่าเช่นทองคำเยี่ยงนี้ทำให้เป็นที่หมายปองของคนต่างถิ่นในการเข้าครอบครองอาณาบริเวณของลุ่มน้ำโขงตลอดมา ตั้งแต่ยุคการคลั่งไคล้แม่น้ำโขงของฝรั่งเศส ส่งนักสำรวจมาผจญภัยขีดแผ่นที่แล้วเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม แม้กระทั่งในยุคการพัฒนาสมัยใหม่ด้วยมุมมองความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับวิทยาศาสตร์กลไกผสมพันธุ์กันจนแพร่กระจายไปทั่วไม่เว้นแต่ในหัวของคนท้องถิ่น เกิดการยื้อแย่งทรัพยากรเพื่อขูดรีดต้นทุนนำสู่กำไรสูงสุดทางการค้า "ก้อนหิน" กลางแม่น้ำโขงถูกมองว่าเป็นหินโสโกรกต้องกำจัดทิ้งเพื่อเปิดทางการค้าการลงทุน ก้อนความคิดต่อหินเช่นนี้ฝังอยู่ในสมองของทั้งนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงทุนนิยมอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสังคมนิยมผู้ตื่นจากหลับมาเปิดตลาดเสรีกึ่งควบคุมเช่นจีน
เหตุใดคนต่างถิ่นและคนยุคใหม่แห่งแม่น้ำโขงจึงมองว่า "ก้อนหิน" เป็นเพียงหินโสโกรกต้องระเบิดทิ้ง แม่น้ำเป็นเพียงเส้นทางการค้าและการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า การสำรวจและการวิจัยส่วนใหญ่มักมุ่งหมายสู่การนับกำไรขาดทุนเป็นตัวเลข มองเห็นเพียงคุณค่าทางเศรษฐศาตร์เพียงอย่างเดียว และเป็นเศรษฐศาสตร์ที่บิดเบือนเสียด้วย แล้วทำไมคนพื้นถิ่นดั้งเดิมอีกทั้งผู้คนที่ยังใกล้ชิดหาอยู่หากินกับแม่น้ำของ(โขง) มองว่า "ก้อนหิน" เป็นบ้านของปลา เป็นวังของพญานาค และแม่น้ำทั้งสายเป็นแม่ (ไม่งั้นจะเรียกว่า "แม่" นำหน้าน้ำไปทำไม?)
เหตุใด อุ้ยเสาร์ ระวังศรี -พรานปลาแห่งคอนผีหลงของเมืองเชียงของ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการหาปลามากว่าครึ่งศตวรรษ จึงกล่าวว่า "หากระเบิดแก่งในแม่น้ำของ(โขง)ออกไปก็มีค่าเท่ากับการที่เราฆ่าแม่ของเราเอง!" ถ้อยคำเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสุนทรพจน์ของหัวหน้าเผ่าอินเดียแดง ในมลรัฐวอชิงตัน ที่ว่า "…โลกคือแม่ของเรา ความวิบัติใดๆที่เกิดขึ้นกับโลก ก็จะเกิดขึ้นกับเราด้วย หากมนุษย์ถ่มน้ำลายรดแผ่นดินก็เท่ากับมนุษย์ถ่มน้ำลายรดตัวเอง…"
ความแตกต่างของรากความคิดเช่นนี้อธิบายได้ว่าอย่างไร? ทางหนึ่งว่าก้อนหินเป็นทองคำแห่งชีวิต ทางหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ข้าพเจ้าจะลองแปลความดูตามสติปัญญาอันน้อยนิด โดยจะเริ่มเล่นแร่แปรธาตุจากเรื่องลึกลับเพราะศาสตร์ชนิดนี้มักถูกมองเป็นไสยศาสตร์เช่นเดียวกับที่หลายผู้คนมองแม่น้ำโขงว่า "ลึกลับ"
มุมมองของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่เชื่อว่า แม่น้ำโขงมีผู้สร้างคือพญานาค รวมตลอดไปทั้งแม่น้ำสาขาก็เชื่อว่า นาคเป็นผู้ขุดควักแม่น้ำขึ้น รวมทั้งเหล่าพลนาคทั้งหลายเป็นผู้ช่วยสร้างบ้านแปงเมือง กล่าวกันในทางมนุษยวิทยาแล้วนาคคือคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีส่วนในการผสมผสานวัฒนธรรมกับผู้มาอพยพมาใหม่ พญานาคในความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงมักอาศัยอยู่ในวังน้ำลึก โดยในทางนิเวศแล้วที่ซึ่งมีวังน้ำลึกวนไหลเชี่ยวจะมีแก่งหินขนาดใหญ่อยู่ด้วย และยังเชื่อกันอีกว่าก้อนหินใหญ่เหล่านั้นคือที่อยู่ของพญานาคด้วย คนลุ่มน้ำโขงจึงมีประเพณีการไหว้ผีน้ำ เพื่อระลึกคุณของน้ำและธรรมชาติ ผีน้ำหรือนาคนั้นกล่าวได้ว่าเป็นความเชื่อของชาวน้ำหรือในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ ก็มีพวกที่เรียกว่า นาควารี ความเชื่อต่อน้ำหรือนาคนี้เป็นความเชื่อส่วนใหญ่ของคนท้องถิ่นดั้งเดิมในอุษาคเนย์ก็ว่าได้ (บางแห่งว่าพญานาคาเป้นเทพเจ้าแห่งฟ้า)
กล่าวโดยสรุปแล้วพญานาคมักมีสถานภาพในการอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา เป็นผู้เชื่อมระหว่างโลกและจักรวาลผ่านบันไดสายรุ้ง เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ของแผ่นดินเช่นงูใหญ่ (ในความเชื่อของอินเดีย กรีก อียิปต์และทางวิทยาศาสตร์มักสันนิฐานว่า เป็นงูใหญ่) ในทางพุทธศาสนาแล้วนาคเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพระพุทธศาสนา แต่โดยพื้นฐานแล้ว นาคคืองู หรือเงือก หรือผีเงือกของคนเมืองเหนือ(โยน) มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับนาค นาคเกี่ยวเนื่องกับการสร้างและการทำลายด้วย เป็นภาวะที่เหนือธรรมชาติ แม้จะโดยพื้นฐานแล้วน่าจะเริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องงู
คำอธิบายถึงพญานาคมีส่วนคล้ายและเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของน้ำ ด้วยน้ำในทางสสารแล้ว (ในทางวิทยาศาสตร์คือ H2O ไม่มีจิตวิญญาณ แต่ในทางการเล่นแร่แปรธาตุแล้ว สสารมีจิตวิญญาณด้วย) มีอยู่หลายสถานะ และข้าพเจ้าเห็นว่าน้ำเป็นแบบอย่างรูปธรรมของความคิดวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม คือได้พูดถึงจิตวิญญาณและจินตนาการไปพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปรของสสาร ปฏิบัติการของน้ำมีอยู่ทั้งของเหลว ไอ ของแข็ง มีทั้งการส่งผ่านจากสิ่งที่มองเห็นไปสู่สิ่งที่มองไม่เห็น จากหยาบไปสู่ละเอียดอ่อนและจากละเอียดอ่อนกลายเป็นสสารที่หยาบ กล่าวได้ว่า การมองน้ำเป็นนาคคือการพูดถึงองค์รวมของชีวิตธรรมชาติจักรวาลในฐานะองค์ระบบขนาดมหึมา เป็นการพูดถึงน้ำในฐานะสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับนาค ก้อนหิน และธรรมชาติ
การมองธรรมชาติ โลกและจักรวาลของคนลุ่มน้ำโขงเดิมจึงไม่ใช่การมองว่า โลก ธรรมชาติเป็นกลไก แยกย่อยแบ่งซอยแบบวิทยาศาสตร์กลไกที่ตายแล้ว แต่มองเห็นถึงเอกภาพในความหลากหลายของโลกผ่านความเชื่อเรื่องนาค กล่าวคือ “ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวคือทั้งหมด (All is One and One is All)” และนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายผ่านกระบวนการของถ้อยคำที่ว่า “ก้อนหิน” มาประกอบสร้างเป็นทั้งหมด เป็นทองคำในทางปรัชญา เป็นชีวิตดั่งแม่น้ำโขงของอุ้ยเสาร์ เป็นโลก เป็นธรรมชาติ และเป็นจักรวาลของเรื่องเล่าชิ้นนี้หรือชิ้นหนึ่งใดก่อนหน้า...
เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องถามข้าพเจ้าอีกหรอกว่า พญานาคมีจริงหรือไม่? ข้าพเจ้าเพียงแค่จะบอกว่า การพูดถึงในแผ่นดินพญานาคาเป็นการพูดถึงระบบทั้งหมดของโลก แผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ และจักรวาลอันมหึมา ในฐานะสิ่งมีชีวิต กายภาพ จิตวิญญาณ เช่นเดียวกับมนุษย์ ข้าพเจ้าเพียงอยากมองเห็นดุลยภาพของเม็ดทรายเล็กๆ ก้อนหนึ่ง ใบหญ้าเขียวสดใบหนึ่ง พร้อมกับที่มองเห็นป่าทั้งป่าและโลกทั้งโลกในพร้อมกัน! ทันทีทันใด! และต่อเนื่อง...
โอ้… พญานาคช่วยด้วย! ข้าพเจ้าหวังมากไปหรือเปล่า?


นพรัตน์ ละมุล : เขียน

อ้างอิง
ส. พลายน้อย. 2539. พญานาค. กรุงเทพฯ : น้ำฝน. สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2546. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มติชน
Peter Marshall. 2001. Philosopher's Stone The Wedding of Alchemy and Ecology (“Resurgence”July-August 2001). สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง. ก้อนหินของนักปรัชญา : การแต่งงานของนิเวศวิทยากับการเล่นแร่แปรธาตุ. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ไม่มีความคิดเห็น: