วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม ๐๓, ๒๕๕๑

ในแผ่นดินพญานาคา : ผีเงือกของเด็กๆ



ทุก ๆ สิ้นเดือนหรือกลางเดือนจะมีเรื่องราวแปลกพิลึก ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และทีวีอยู่เสมอ ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมก็มีเรื่องพญานาคมาโผล่ที่สมุทรปราการ ในรูปของยอดมะพร้าวมีลักษณะใบและเรือนยอดคล้ายพญานาค แน่นอน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวสำคัญของหนังสือพิมพ์หัวสี และที่แน่ยิ่งกว่านั้นคือมันถูกตีค่าความหมายเป็นตัวเลขหวย!

ผมเดินทางไปหลวงพระบางอีกครั้งเมื่อปลายหน้าร้อนปีนี้ ได้ฟังเรื่องราวพญานาคจากปากของเด็กๆ แห่งบ้านเชียงแมน คนหลวงพระบางและคนลุ่มน้ำโขงบางแห่งเรียกพญานาคในชื่อว่า ‘ผีเงือก’ ฟังดูแล้วมันก็มีเหตุผลที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

ผมกับเพื่อนข้ามจากฝั่งหลวงพระบางไปยังฝั่งเชียงแมนในเวลาบ่ายแล้ว คนลาวบางคนเรียกว่า ฝั่งไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2484 ยุคสงครามอินโดจีนไทยได้เข้ามายึดพื้นที่นี้คืนจากฝรั่งเศสและตั้งให้เป็นจังหวัดล้านช้าง เราขึ้นฝั่งแล้วสับสนกับทางเดินเก่าที่ไปยังพระธาตุจอมเพชรเล็กน้อย เพราะมีการปรับปรุงถนนและคูน้ำใหม่ เดินผ่านชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ทำเกษตรริมฝั่งและหาปลาส่งไปขายฝั่งหลวงพระบางมาจนถึงเชิงบันไดก่อนขึ้นภู โต๊ะขายปี้หรือบัตรรอเราอยู่แล้ว บัตรนี้ออกโดยนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านและจะนำเงินไปบำรุงพระธาตุกับชุมชน เด็กสามคนเสนอขายดอกไม้เพื่อการไหว้พระธาตุหลังจากซื้อบัตรแล้ว เมื่อเราปฏิเสธพวกเด็กๆก็ยังเดินตามขึ้นมา พระธาตุจอมเพชรตั้งอยู่บนไหล่ภูนางซึ่งมีบันไดทางขึ้นน้อยกว่าบันไดขึ้นพระธาตุจอมพูสี แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตกได้พอควรหากบวกรวมกับแดดบ่ายที่ตั้งดวงตะวันอยู่เหนือภู

เมื่อเลยบันไดขั้นสุดท้าย ผมมองเห็นวิหารเก่าเพียงแวบหนึ่งแล้วหันกลับมามองหลวงพระบาง ในมุมจากอีกฟากฝั่ง แสงบ่ายขับเน้นให้เห็นพระธาตุจอมพูสีงามเด่นอยู่มุมขวา ปากน้ำคานอยู่ซ้ายมือ กลางภาพคือบ้านเรือนของคนหลวงพระบาง มีดอกซอมพอหรือหางนกยูงเหลืองแดงแต้มสลับกับต้นมะพร้าวอยู่ริมฝั่ง เรือข้ามฟากตัดข้ามแผ่นน้ำเป็นร่องคลื่นดูคล้ายงูกำลังว่ายอยู่กลางลำโขง

“อ้าย… ดอกไม้บ่..” เด็กชายที่ตามเรามาถามผม ผมหันกลับไปถามพวกเราอีกต่อหนึ่งก็ไม่เห็นใครสนใจจึงนิ่งเงียบ แต่พวกเขาก็ยังไม่ละ ผมเห็นหญิงชราสองคนเดินออกมาจากวิหารจึงเข้าไปทักทาย เพื่อเปลี่ยนจุดสนใจ แม่ใหญ่ทั้งสองบอกว่า มานมัสการธาตุนี้ทุกสัปดาห์ แกเป็นคนฟากหลวงพระบาง ผมถามว่า ทำไมมาไกลถึงฝั่งเชียงแมน แกบอกว่า มันสงบดี วัดล่องคูนที่อยู่ข้างล่างก็มีที่ให้นั่งสมาธิ เงียบไม่ค่อยมีคนมารบกวน ผมคิดเอาเองว่า คนที่มารบกวนน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวเช่นผมนี้แหละ คุยกันสักพักแกก็ขอตัวกลับ

หลังจากนั้น เด็กชายก็เข้ามาคะยั้นคะยอผมอีกครั้ง ผมจึงซื้อดอกไม้หนึ่งกรวย แล้วชวนพวกเขาคุย ผมถามโน้นถามนี้สารพัด พวกเขาก็ตอบแบบประหยัดคำอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อผมถามว่า ที่หลวงพระบางมีผีเงือกไหม เด็กหญิงคนหนึ่งที่ดูเหนียมอายที่สุดได้แย่งเด็กชายคนนั้นว่า ผีเงือกมีจริงและชอบกินคน โดยเฉพาะเด็กๆ ผมอดอมยิ้มไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ยิ้มหัวเรื่องผีเงือก แต่ยิ้มรับเรื่องผีเงือกที่ปลิวร่วงมาจากปากเด็กเหล่านั้น และดูสีหน้าพวกเด็กๆ จริงจังกับเรื่องนี้มาก

พวกเด็กๆ บอกว่า ผีเงือกอยู่ที่ปากน้ำคานแต่ถูกปราบไปแล้ว เดี๋ยวนี้มีที่ปากน้ำอูและลึกลงไปข้างใน ผีเงือกมาจากจีนตามน้ำอูและน้ำโขง เด็กๆ เวลาเล่นน้ำต้องระมัดระวัง ผีเงือกจะเอาไปอยู่เมืองของมัน… เมื่อผมถามว่า รู้ได้อย่างไร พวกเขาบอกว่า พ่อแม่เล่าให้ฟัง

“มีจริงหรือ?” ผมลองถามดู

“จริงแน่ๆ คนที่ไปหาปลาในน้ำของ เคยพบกันเสมอ…” พวกเด็กๆยืนยัน

หลังจากนั้นผมจึงชวนเด็กๆ และพวกเราไปชมวัดล่องคูนและเที่ยวถ้ำสักรินซึ่งลงจากไหล่ภูไปไม่ไกลนัก เด็กชายก็มาสะกิดผมว่า ไม่ไปไหวพระหรือ? ผมบอกว่า ใช่สิ เราไปไหว้ด้วยกันไหม เด็กชายยื่นดอกไม้ที่ขายแล้วให้ผม ผมไม่รับบอกว่าให้เธอไปไหว้พระด้วยกันกับผม เผื่อว่าเราจะได้เจอกันอีก เด็กชายไม่ยอม ผมจึงเข้าไปคนเดียวโดยไม่ได้นำดอกไม้มาด้วย แล้วรีบเดินตามคนอื่นๆ ซึ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว

พวกเด็กๆ นำทางเราไปชมวัดและเที่ยวถ้ำอันฉ่ำเย็น ซึ่งมีพระถูกขโมยไปแล้วบางส่วนจึงทำให้ถ้ำต้องมีประตูเหล็กและมีคนดูแลกุญแจ แน่นอน ก่อนเข้าเราต้องจ่ายค่าบัตรอีกเหมือนเก่า เด็กๆ แย่งกันร้องเพลงสมัยใหม่ของไทยและเล่าเรื่องถ้ำ ความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องผีเงือกที่เล่าแล้วเล่าอีกให้ฟัง แม้ในตอนที่ผมปวดท้องเข้าห้องน้ำเด็กชายก็ยังเป็นคนนำทางที่ดีมาส่งผมถึงห้องปลดทุกข์ เมื่อเราออกจากถ้ำมาแล้ว ผมเพิ่งสังเกตเห็นหญิงฝรั่งนั่งสมาธิอยู่ในวิหารปากทางเข้าถ้ำจึงไม่กล้าเข้าไปในวิหาร กลัวจะไปรบกวนสมาธิของผู้แสวงหาจึงเลี่ยงมาด้านนอก แล้วชวนเด็กคุยเรื่องชื่อวัด ชื่อถ้ำ และแน่นอน ผมถามตำแหน่งที่อยู่ของผีเงือกหรือพญานาคอีกครั้ง

“อ้าย… เงินยี่สิบบาทค่าไกด์” เด็กชายยื่นมือมาหาผม พร้อมถามเรื่องเงินค่านำทาง ผมตกใจมากว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกไปว่า เงินอยู่ในกระเป๋านั่นแหละ ดอกไม้นั้นก็เอาไปขายใหม่ได้น่ะ เด็กๆ พร้อมใจกันบอกว่า จะไม่เล่าเรื่องผีเงือกหรือเรื่องอะไรให้ฟังอีก อย่างนี้ไปกับฝรั่งดีกว่า…

เมื่อผมข้ามมาฝั่งหลวงพระบาง นั่งชมพระอาทิตย์ตกดินจากบนพูสีแล้วกลับมานอนนึกย้อนถึงเด็กทั้งสามคน ตื่นเช้ามาหนึ่งในกลุ่มของพวกเราตั้งใจไปตักบาตร แต่ลืมเตรียมของไปจากตลาดเช้าซึ่งก็เป็นความสะเพร่าของผมที่ลืมเตือนก่อนว่า น่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้า เมื่อไปถึงบริเวณหน้าวัดที่ตักบาตรก็โดนแม่ค้าขายข้าวเหนียวและข้าวของสำหรับตักบาตรรุมแย่งกันขายของ คนนี้ว่าอย่าง คนนั้นดึงให้ไปอีกอย่าง คนเฒ่าคนแก่ที่กำลังนั่งรอขบวนพระก็ส่งเสียงมาบอกว่า ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องตักหรอก ซึ่งมันตรงกับใจของพวกเราพอดีเลยว่า หากมากเกินกว่านี้ก็ไม่ได้บุญจึงไม่ต้องตักบาตร…

เมื่อมานึกใคร่ครวญดูดีๆ แล้ว ในหลายๆ ครั้งคนเราทำบุญหรือเซ่นไหว้อะไรสักอย่างก็เพื่อผลตอบแทนบางอย่าง ไม่หวังเป็นตัวเงินก็หวังสุขภายในใจ แท้ที่จริงแล้วพื้นที่ความเชื่อภายในตัวเราต่างถูกอธิบายด้วยชุดเหตุผลอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่า สิ่งนั้นมันจะมีเหตุผล หรือเหนือเหตุผลหรือไม่ ผีเงือกของเด็กๆ อาจจะมีค่าเท่ากับเงินเช่นเดียวกับพญานาคของชาวบ้านที่สมุทรปราการ ทว่าเงินต่างๆ เหล่านั้นก็มีค่าเท่ากับบุญซึ่งในที่สุดแล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน มันขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อในพระ ในผีเงือก ในพญานาคอย่างไรและเพื่ออะไรอีกทีหนึ่ง

นี้คือคำอธิบายที่ผมคิดได้ในตอนนี้ว่า เงินกับผีนั้นมีค่าไม่ต่างกัน และผมกับเด็กๆ เหล่านั้นก็ไม่ต่างกัน เราต่างเป็นมนุษย์บนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกันกับคุณทุกคน…


*[1] น้ำของหรือแม่น้ำโขง

นพรัตน์ ละมุล : เขียน

ไม่มีความคิดเห็น: