วันพฤหัสบดี, ตุลาคม ๑๘, ๒๕๕๐

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน (2)



















สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................


กินปลาริมโขงสีมรกตแล้วเที่ยวชมปราสาทวัดพู

ที่ด่านวังเตา เรามีเจ้าหน้าที่ลาวในโครงการฯ เอารถแวนสี่ประตูขับเคลื่อนสี่ล้อมารอรับเรา น้องพันเป็นคนขับและไกด์ในตัว น้องเมี่ยงเป็นผู้ช่วยบริการ รถสีเลือดหมูรับของและคนขึ้นรถพร้อมแล้วจึงแล่นสู่ทิศตะวันออก สู่ภูมิประเทศที่มิต่างกันเลยกับสภาพพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
ทุ่งนาหน้าแล้งเหลืองแต้มแดงใบไม้ น้ำตาลดำของต้นไม้และพื้นดิน เต็งรังสลับทุ่งนาและบ้านเรือน ออกห่างจากด่านวังเตา บ้านยิ่งบางตาและมาหนาแน่นอีกครั้งบริเวณแอ่งที่ลุ่ม คาดว่าเมืองปลายทางค้างแรมคืนนี้คือเมืองโขง ว่ากันว่า เมืองนี้เป็นดงปลา มีวังปลามากมาย ดอนในแม่น้ำโขงอีกหลายจนเรียกขานกันว่า
สี่พันดอน
ทว่ายามนี้เที่ยงคลายไปจนบ่ายแล้ว เราขอแวะกินข้าวเที่ยงริมโขงและไปชมปราสาทวัดพูเสียก่อน เราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งญีปุ่นเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการสร้าง มองจากบนสะพานเห็นแม่น้ำสีเขียวมรกตราวกับน้ำทะเล แต้มด้วยดอนทรายสีเหลืองนวลที่ดูคล้ายชายทะเลแถบอันดามัน ทำให้พวกเรา-คนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า นี่แม่นแม่น้ำของบ่?
เท่าที่ผมเดินทางล่องเหนือใต้ตามลำน้ำโขงมา หากใช้สีสันบอกวรรคตอนของความยาวแม่น้ำโขง 4,909 กม. พอจะให้แสงสีได้ว่า แม่น้ำโขงในธิเบตมาจนถึงจีน-ยูนนานมีสีขาวจากการละลายของหิมาลัย จากเมืองหลินซาง-ยูนนานถึงเชียงรุ่งมีสีขุ่นเหลืองจาง และจากเชี่ยงรุ่งเข้าพรมแดนพม่า-ลาว และเขตไทย-ลาว ที่เชียงของถึงหลวงพระบาง แม่น้ำโขงมีสีกาแฟจาง เรื่อยมาจนถึงแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นแดนไทยอีสาน-ลาว มีสีปูน และมามีสีเขียวมรกตในเขตลาวใต้
จุดเริ่มต้นน่าจะบริเวณก่อนแม่น้ำจะเข้าสู่เขตสี่พันดอนนี่แหล่ะ เขียวมรกตดังน้ำทะเล แล้วไปสู่กัมพูชา เวียตนามนั้นคือสีน้ำเงินทะเล นี่ขนาดสีสันพื้นผิวในฤดูกาลหน้าแล้งเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอจะกล่าวได้ว่า แม่น้ำโขงมีสีหลากหลาย แล้วจะไม่ให้เราแปลกใจได้อย่างไร?
เราหยุดรถที่ตลาดดาวเรืองในเมืองปากเซ เมืองใหญ่ในแขวงจำปาศักดิ์ และน่าจะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตลาวใต้ สำรวจตลาดและตระเตรียมถ่านแบตเตอรี่ถ่ายรูป รวมทั้งมองหาหนังสือกับแผนที่ของลาวใต้ ทว่าเราได้เพียงถ่านแบตเตอรี่ แผนที่และหนังสือไม่มีให้เห็นแม้จะเป็นภาคภาษาลาวหรืออังกฤษ
อากาศร้อนระเหิดเกาะอยู่ทั่วมวลอากาศ แขวงจำปาศักดิ์ –ลาวใต้จัดว่าอยู่ในเขตร้อนกว่าลาวเหนือที่มีอากาศบนดอยเย็นสบายตลอดปี แต่ก็มีพื้นที่ดอยสูงในลาวใต้เหมือนกัน เช่น ปากซองที่หนาวเย็นหมดปี จนสามารถปลูกกาแฟอาราบีก้าได้รสอร่อยขึ้นชื่อไปไกล
น้องพันบอกเราว่าจะไปกินข้าวกันที่แคมโขงตรงบั๊คบรรทุกรถและคนข้ามฟาก รถออกจากปากเซแล้วจึงแล่นลงใต้ ไปยังจำปาศักดิ์ รถจอดนิ่งริมตลิ่งใกล้บั๊คแล้วตามน้องพันไปเรือนแพริมโขง น้ำสีเขียวมรกตพลิ้วโชยลมเย็นมาเหนือผลึกเหลว ทำให้คลายร้อนจากการเบียดแน่นมาในรถทั้งคนและข้าวของได้
เรือนแพโยกโยนเบาๆตามความแรงของเครื่องยนต์บั๊ครับส่งคนและยนต์ไปอีกฟาก กลางโขงมีดอนใหญ่เขียวสด ไกลออกไปแก่งหินผาอยู่ทางทิศเหนือ เบื้องบนไกลมองเห็นภูเกล้าอยู่สูงสุดตระหง่าน เด่นราวกับแม่หญิงสูงศักดิ์เกล้าผม นี่แหล่ะ ที่บางคนเรียกเทือกเขาเบื้องตะวันตกนี้ว่า “ลึงคะบรรพต”
รายการอาหารที่เราสั่งมีปลาทั้งหมด มาเมืองหลวงของปลาแล้วไม่กินปลาก็ดูเหมือนยังเดินทางมาไม่ถึง ปลาทอด ลาบ ก้อย ปั้นข้าวเหนียวและแกล้มด้วยส้มตำปลาแดกครบขวบปี อีกทั้งมีแอ็บขี้ปลามาตบท้าย ใครบางคนว่า แม้อากาศภายนอกจะร้อน แต่เรือนอาหารบนน้ำเย็นสบาย หากได้เหล้าดีของจำปาศักดิ์อีกสักจิบก็ทำให้อาหารรสแซ่บขึ้นเยอะ แล้วก็มีหญิงสาวชาวปากเซซึ่งนำลูกทัวร์มาเที่ยวเล่นกินข้าวในร้านเดียวกัน ได้เข้ามานำเสนอเหล้าพูเกล้ามีรูปตราพูเกล้าอยู่ที่ขวดขนาดเล็ก เธอบอกว่า เหล้าพูเกล้าได้ผสมสมุนไพรอายุวัฒนะจากยอดพูเกล้ากันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งน้ำที่ใช้ในการกลั่นเหล้าข้าเหนียวนี้ได้มาจากบ่อน้ำศักดิ์บนยอดพูเกล้าเช่นกัน ดื่มแล้วแก้เจ็บเอว แก้ปวดเมื่อยจากการนั่งรถมานานได้ดีเลยแหล่ะ
เราซื้อดื่มที่โต๊ะอาหารหนึ่งขวดแล้วซื้อติดเป้ไว้อีกขวด เพราะเป็นเหล้าท้องถิ่นสมชื่อ ส่วนเธอก็ไม่ใช่ว่าจะได้อะไรจากการแนะนำ เพียงแต่เห็นเราเป็นคนต่างถิ่นและอยากให้เราได้รู้จักเมืองมรดกโลกแห่งจำปาสัก มีอะไรดีๆ หลายอย่าง บอกตามตรง ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่า ปราสาทหินวัดพูที่เรากำลังจะข้ามฟากไปชมนี้ถูกตีตราเป็นมรดกโลกไปแล้ว
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร ทำให้ทัศนียภาพการมองภาพข้ามโขงไปสู่ภูใหญ่นั้นเปลี่ยนไป
พี่ตุ่นบอกว่า กลุ่มปราสาทหินที่นี้มีอายุมากกว่าอังกอร์วัดของกัมพูชาเสียอีก ผมไม่ค่อยเชื่อนักในวินาทีแรก ผมจึงท้วงไปว่า มันขึ้นอยู่กับมุมมองและทฤษฎีที่ใช้อธิบายและพิสูจน์หลักฐาน อย่างไรก็ตาม ผมว่าการมีอายุมากน้อยกว่ากันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญสำหรับผมคือคนท้องถิ่นในอาณาบริเวณนี้คิดเห็นหรือมองปราสาทหินแห่งนี้อย่างไร รวมทั้งเขาได้เรียนรู้ปัญญาอะไรจากปราสาทหินที่จะเดินทางต่อไปในอนาคต?
ผมกับพี่ตุ่นถกประวัติศาสตร์กันพอเป็นพลังหล่อลื่นให้อยากไปชม ผมจึงตัดบทก่อนอิ่มหนำจากอาหารปลาว่า เราไปดูกันเลยจะดีกว่า
เราข้ามฝั่งด้วยบั๊คหรือแพติดยนต์ไปอีกฟาก แล้วผ่านบ้านโพนแพงที่มีบ้านเรือนไม้ยกพื้นสูงสวยงาม สลับกับตึกรูปทรงฝรั่งครั้งอาณานิคม รอบรั้วบ้านมีหมากไม้ร่มรื่น มะม่วง กล้วย สลับกับแปลงผัก แคมโขงริมน้ำปลูกข้าวโพดแลผักกาด เสียดายไม่ได้หยุดชม ว่ากันถึงที่สุดหากได้เดินชมหรือมาอยู่แล้วน่าจะรู้อะไรมากกว่านี้ บางทีอาจจะพบปริศนากลุ่มปราสาทหินเชิงภูใกล้หมู่บ้านนี้ก็ได้
แม่หญิงผู้บรรยายในพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นเล่าว่า กลุ่มเทวะสถานวัดพูแม่นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดูของชาวขอม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพูเกล้า มีโขดหินธรรมชาติอยู่ยอดสุดที่เราเห็นจากไกลๆ เหมือนรูปเกล้าผมมวยไว้นสุด หรือที่ทางล้านนาเรียกว่าจิกและชาวฮินดูให้การสักการะว่าเป็นศิวะลึงคะอันเป็นเทพเจ้าสูงสุด และคำว่า “ลึงคะบรรพตหรือลึงคะปาระวะตะ” ก็น่าจะมาจากรูปทรงของภูเขาแห่งนี้
ผมเพิ่งทราบบัดนั้นเองว่า ตรงบริเวณที่เราเลียบน้ำโขงและอยากจะแวะพักลงสำรวจคือเมืองโบราณที่อยู่มาคู่กับเทวะสถานโบราณแห่งนี้ ว่ากันว่ามีอายุการสร้างก่อนนครวัดของกัมพูชา ซึ่งมีของเก่าโบราณถูกค้นพบมากมายแม้หลายอย่างจะสูญหายไปกับสายน้ำโขงบ้างแล้ว และนับจากปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาได้มีโครงการค้นคว้าวัตถุโบราณของลาวร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานฝรั่งเศส ได้สำรวจทางพื้นดิน และภาพถ่ายทางอากาศ สร้างแผนที่เมืองโบราณได้ชัดเจนที่สุด
ดูเธอจะบรรยายด้วยความเร็วที่มากกว่าลักษณะปกติของหญิงลาวทั่วไปที่จะค่อยย่างเยื้องเว้าชัดไม่รีบเร่ง แต่อาจเป็นได้ว่ามีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นรออยู่จึงทำให้เธอต้องรีบเร่งเล่าหลักฐานต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้สัดส่วนกับเวลาอายุของเมืองโบราณที่ว่า น่าจะสร้างตั้งแต่ท้ายคริตศตวรรษที่ 5 หรือพุทธศตวรรษที่ 10 ตัวเมืองมีเนื้อที่ 2 X 1.8 ก.ม. อ้อมล้อมด้วยคูกำแพงดินสองชั้น ในศิลาจารึกของกษัตริย์ชื่อ เทวะมิกะ พบที่บ้านพระนอนเหนือในปัจุบัน กล่าวว่า ท้ายพุทธศตวรรษที่ 11
ดินแดนแห่งนี้ได้เป็นนครหลวงของพระเจ้ามเหนทระวระมัน ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปปกครองเขตซำบรไปรกุก ห่างจากเมืองโบราณนี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 240 ก.ม. โดยมีเส้นทางโบราณจากปราสาทวัดพูไปทางนั้นจนถึงเขตกัมพูชาในปัจจุบัน นักวิชาการและนักค้นคว้าหลายท่านสันนิษฐานว่า เมืองโบราณที่ปราสาทวัดพูนี้น่าจะคือนครเศรษฐาปุระ(เสดถาปุระ)
พอออกมาจากพิพิธภัณฑ์อากาศร้อนก็เข้ามาจู่โจมในพลัน น้องพันและน้องเมี่ยงบอกผมว่า จำปาศักดิ์น่าจะมาเยี่ยมยามในช่วงเดือนมกราคมคือช่วงปลายหนาว นอกจากอากาศเย็นสบายแล้วยังมีงานประเพณีอื่นๆ ด้วย
เมื่อเราไปถึงประตูทางเข้าใกล้สระน้ำหรือบารายก็สะดุดตากับโครงหน้าของคุณยายที่ขายดอกไม้และธูปเทียนบูชาในร้านมุงคาเป็นอย่างมาก มีลักษณะค่อนไปทางขอม หรือไม่ก็ชวา มาลายูเป็นอย่างมาก เราแวะซื้อน้ำและดอกไม้บูชาแล้วเดินไปตามทางเดินสู่ปราสาทประธาน
ผมแอบถามชาวบ้านว่า สระน้ำด้านหน้าชื่อว่าอะไร พวกเขาบอกว่า หนองสระ ไว้อาบน้ำชำระกายก่อนขึ้นไปบูชาพระ
เราเดินมุ่งสู่ทิศตะวันตก ปราสาทหินวัดพูหันหน้าไปทางทิศตะวันออกราวกับสร้างเป็นเทวะสถานให้พระศิวะไว้ชมแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก แน่นอนว่า ตามธรรมเนียมของขอม-ฮินดูแล้ว การสร้างปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกก็เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าสูงสุดไว้บนพื้นพิภพ หากหันไปทางทิศตะวันตกก็น่าจะมีอยู่ไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นคือปราสาทนครวัด บ้างว่าพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 สร้างขึ้นด้วยการจำลองภูมิจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร และเพื่อเป็นที่ประทับหลังความตายของพระองค์ เพราะพระองค์คือส่วนหนึ่งขององค์วิษณุหรือพระนารายณ์ (นี่คือการตีความของฝรั่ง แต่เขาพระสุเมรุน่าจะเป็นที่อยู่ของพระอินทร์)
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเดินเลยโรงท้าวและโรงนางซึ่งเป็นปราสาทที่พักก่อนเข้าไปบูชาศิวะแล้วเดินขึ้นบันไดไปจนถึงตัวระเบียงชั้นแรก ด้านซ้ายเป็นเส้นทางโบราณและโรงวัวอุสุพะลาด ด้วยทางเดินยังไม่บูรณะ ยังมีส่วนที่ดูเหมือนกำลังจะทรุดและส่วนที่บันไดขึ้นต่อไม่ได้ ต้องอ้อมซ้ายขวาไปทางใหม่ที่น่าจะตัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว
เมื่อหันกลับมาดูแม่น้ำโขงจากใต้ต้นจำปาลาวที่เบ่งบานขาวนวลและตกร่วงลงส่งกลิ่นหอมเกลื่อนกล่น ผมรู้สึกว่าพอจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์ระหว่างปราสาทกับแม่น้ำโขง หรือระหว่างภูเขาสูงสุดกับแม่น้ำ...
ตอนนี้ตอบได้อย่างไม่เต็มคำว่า คนนั่นแหล่ะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภูเขากับแม่น้ำ จากศิลาจารึกเมื่อศตวรรษที่ 5 และ 6 กับที่พี่ตุ่น เคยเล่าให้ผมฟังว่า ภูหินแห่งนี้เคยมีการสร้างปราสาทไว้ก่อนแล้วและร่วมสมัยกับเมืองโบราณ ทว่าพุพังและหายสาปสูญไปแล้ว จนต่อมาได้สร้างปราสาทครอบทับของเก่าจนได้ชื่อปราสาทหินวัดพูในปัจจุบันนี้ คาดว่าเริ่มสร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อเติมบางส่วนในศตวรรษที่ 16 และ 17
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวว่า ปราสาทหินวัดพูแห่งนี้หรือลึงคบรรพตเป็นแม่ของปราสาทเขาพระวิหาร และเป็นท่านยายของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน ปัจจุบันปราสาทหินวัดพูได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ขององค์กรยูเนสโก ในวันที่ 25 ธ.ค. 25525 เป็นมรดกโลกแห่งที่สองของลาว นำก้นหลวงพระบางมาติดๆ
ไม่แน่ใจว่า ยูเนสโกนี้เป็นเครือญาติฝ่ายไหนของปราสาทจึงสามารถจดทะเบียนอะไรต่อมิอะไรว่าเป็นมรดกของโลกหรือของใครได้เสมอ หรืออาจจะเป็นญาติทางการท่องเที่ยวในกระแสหมู่บ้านโลกสมัยใหม่
ผมเดินตกหลังสุดของคณะเพราะมัวแต่มองนั้นพิจนี้ รวมทั้งการเก็บภาพสังเกตสังกาหน้าตาหินโบราณและหน้าตาของยายขายดอกไม้บูชาบางคน มันทำให้ผมหวนคิดถึงการเดินขึ้นบูโรพุทโธ ในชวา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมค่อยๆขึ้นสู่ระเบียงปราสาทประธาน แล้วมองกลับลงมาเบื้องล่างผ่านกิ่งก้านและดอกจำปาสู่มหาขรนที –แม่น้ำของ
ในวาบหนึ่ง ผมมองได้เห็นเสี้ยวจักรวาลความคิดของผู้สร้างปราสาทย้อนมาในปัจจุบัน ปราสาทวัดพูและพูเกล้าเปรียบได้เขาพระสุเมรุในทิศตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำโขงในทิศตะวันออกเปรียบดั่งนทีสีทันดรมหาสมุทร ซึ่งก็ตรงกับชื่อที่น่าจะเพี้ยนมาแล้วในปัจจุบัน ทว่าตรงกับลักษณะทางภูมิศาตร์ของถิ่นนี้มากกว่า คือสี่พันดอน (จึงติดปากชาวบ้านมากกว่า) หรือสีทันดร โดยไม่ต้องขุดคูน้ำล้อมรอบอีก
นี่คือโครงความคิดของคนขอมในอดีตโดยการนำเรื่องเล่าของเทพเจ้าฮินดูจากอินเดียมาปรับใช้ในสภาพภูมิศาสตร์ของคนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ครูตี๋หนึ่งในผู้รู้เรื่องแม่น้ำโขงและได้เดินทางไปลาวด้วยกันครั้งนี้ กล่าวว่า ลักษณะที่ตั้งของเมืองโบราณในเขตริมฝั่งแม่น้ำโขงมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้อยู่หลายที่ เช่น เวียงเก่าเชียงแสน, เชียงของ, เชียงทอง-หลวงพระบาง, และปราสาทหินวัดพู คือหากมองจากอีกฟากฝั่งจะมีเมืองอยู่บนที่ราบเชิงภู เบื้องหลังเมืองโอบอ้อมทั้งซ้ายขวาด้วยภูใหญ่หรือน้อย หรือจะเป็นภูเดียวโดดๆ
ผมคิดต่ออีกว่า ส่วนใหญ่บนภูสูงจะเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในน้ำจะเป็นที่อยู่ของผีเงือกหรือนาค กลางๆ คือคนผู้ทำมาหากินกับป่าภูและแม่น้ำ ผมว่าการสร้างปราสาทหินวัดพูหรือนครวัด นครธม ไม่น่าจะอยู่ๆแล้วสร้างขึ้นมาลอยๆ เอาตอนชุดความเชื่อหรือเรื่องเล่าแบบฮินดูเข้ามาในลุ่มน้ำโขง
นี่หมายความว่าคงจะไม่ใช่อารยธรรมอินเดียเข้ามาแล้วคนจึงคิดสร้างตามโคตรเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น รามายณะ ทว่าน่าจะมีการรวมกันเป็นชุมชนหาอยู่หากินกันในบริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารในป่าภูแลแม่น้ำมาหลายช่วงชีวิตคน แล้วพัฒนามาเป็นรัฐเล็กๆ หรือนครรัฐที่ดูแลกันเองและติดต่อกับคนภายนอก มีการเคารพผีบนภูสูง เช่น คนลัวะ ละว้า หรือมิละกุ ตำมิละ และเคารพผีเงือกผีน้ำมาก่อน
หลังจากนั้นเรื่องเล่าของผีป่าภูและผีน้ำถูกครอบทับผสมผสานกับจักรวาลความคิดแบบฮินดู แล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้นและบางสิ่งก็สลายตัวไปตามกาล... ไม่รู้ทำไมพอเข้าใกล้เขตปราสาทประธานผมจึงยิ่งคิดในท่าทีขรึมเคร่ง หรือว่าภาวะภายในนำพาไปให้เข้ากับศาสนะสถาน แต่เมื่อเห็นนางอัปสรและนายทวารยืนอยู่ตรงทางเข้าปราสาท ผมจึงอดยิ้มและหัวเราะอยู่ในใจไม่ได้ เพราะนางอัปสรโดนช่างแกะสลักไม่ยอมใส่เสื้อทรงให้ บางทีสาวสายเดี่ยวยุคใหม่ก็น่าจะมากลายเป็นนางอัปสรได้เช่นกัน หรือว่าการเปลือยเป็นวัฒนธรรมล้ำสมัยไม่ตกยุคอย่างยิ่ง
ในที่สุด ผมก็มาถึงปราสาทประธานปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก่อจากดินกี่สามองค์ ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาเป็นพุทธศาสนะสถาน รูปหน้าขององค์พระดูคล้ายใบหน้าของคนลาวทั่วไป ส่วนด้านหลังของสิมหรือปราสาทประธานนี้มีการแกะสลักรูปพระศิวะอยู่กลาง พระพรหมอยู่ขวา ด้านซ้ายพระวิษณุ ไว้กับผาหิน ส่วนเหนือขึ้นไปทางด้านหลังซ้ายเป็นบ่อน้ำทรง ซึ่งว่ากันว่าน้ำศักดิ์สิทธ์จะไหลจากบ่อนี้ลงสู่รางรินแล้วไหลสู่ศิวะลึงคะในองค์ปราสาทประธานแล้วไหลลงสู่เบื้องล่างปราสาท และที่เราเห็นรูผาหินมากมาย สันนิษฐานว่า จะเป็นน้ำทรงอันศักดิ์สิทธิ์ไหลไปจนสุดปราสาทเบื้องล่าง บางทีอาจจะไหลต่อไปจนถึงบาราย และในที่สุดอาจจะเป็นแม่น้ำโขง...
'รัตน์ คำพร :เขียน

ไม่มีความคิดเห็น: