วันพฤหัสบดี, ตุลาคม ๑๘, ๒๕๕๐

ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน




สารคดีชุดนำลาวไปเที่ยวลาว
เรื่องราวตอนแรกของการเดินทางไปเยี่ยมยามลาวใต้
ตามก้นคนลาวอีสานและคนยวนหรือที่ว่านำก้นไปกับเขา
จาก "ลึงคะปาระวะตะและหลี่ผี-สี่พันดอน" ตอนแรก
แล้วจะทยอยปล่อยของจากเมืองลาวมาอ่านกันม่วนซื่นกันเด้อ...
......................................................................................

“ลาวใต้น่าจะร้อนน่ะ ในช่วงต้นแล้งนี้ คงไม่ต้องเตรียมเสื้อผ้าหนาๆ ไปหรอก”
ใครคนหนึ่งในบ้านบอกผม
“ไม่แน่น่ะ อยู่ใกล้แม่น้ำโขง และต้องนอนบนเกาะดอน
เตรียมแขนยาวสักตัวก็ดี เผื่อยามเช้าอาจจะเย็น”
ผมคาดเดาตามพื้นฐานทางภูมิศาสตร์
เมื่อลมร้อนเริ่มมาเยือนเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ใกล้ลาวเหนือ
เราจึงออกเดินทางด้วยรถยนต์ตรงไปยังด่านช่องแม็ก-อุบลราชธานี
จากชายแดนเมืองเหนือสู่ชายแดนอีสานกว่าพันกิโลเมตร
ในช่วงสี่ห้าปีมานี้
ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวเล่นเมืองลาวอยู่ทุกปี บางปีไปเยี่ยมเยือนถึงสองสามครั้ง
อย่างน้อยที่สุดก็ปีละครั้งที่ได้ไปพัวพัน
ไม่ด้วยการงานหรือก็ด้วยมิตรภาพของอ้ายน้องผองเพื่อน ทั้งเชื้อเชิญและคิดฮอดจึงไปหา
อาจเป็นด้วยว่า ผมได้ย้ายตัวเองมาอาศัยอยู่เมืองเชียงของชายแดนลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง
นั่งจิบกาแฟทอดสายตาข้ามแม่น้ำก็เห็นอยู่ใกล้กันเหลือเกินกว่าจะรู้สึกว่ามันคือคนละประเทศ
จะให้นั่งมองซื่อๆก็กระไรอยู่ เพราะแม่น้ำโขงไม่เคยบอกผมเลยว่า
เป็นเส้นพรมแดนขวางกั้น
ฉะนั้นจึงไหลไปหากัน

จะอย่างไรก็แล้วแต่ อาจด้วยตำแหน่งของเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
อยู่ใกล้กับแขวงบ่อแก้ว หรือลาวตอนเหนือ ผมจึงได้ไปเยี่ยมยามลาวเหนือเสียส่วนใหญ่
ทว่าไม่เคยเลยสักครั้งที่ได้ไปเยือนลาวใต้
นอกเสียจากเมื่อเจ็ดปีก่อนได้ข้ามแดนชั่วคราวด่านช่องแม็ก-วังเตาไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
จำได้ว่า มีกล้วยไม้ป่า และของป่าที่ชาวบ้านนำมาขายมากหลาย นอกจากนั้น
ผมไม่เหลืออะไรไว้ในความทรงจำเลย

น่าจะเป็นการดี หากการเดินทางไม่มีภาพประทับฝังรากไว้ในนามอคติหรืออื่นใด
เพราะเราจะได้เติมเต็มภาพบันดาลใจใหม่ๆ ลงไป
และเป็นการง่ายดีที่จะได้รู้จักในสิ่งที่ใหม่ยิ่งขึ้น การไม่จำบางครั้งก็งาม...
แต่ในบางบทตอนของชีวิตอาจจะทำให้เราสะดุดผาความผิดซ้ำซาก
การเดินทางของผมจึงมีทั้งเลือกรับและปฏิเสธอยู่ภายใน
ผมไปไหนต่อไหนเพื่อจัดการภาวะภายในเป็นเบื้องต้น

มีเรื่องที่ทั้งอยากจำและอยากลืมอยู่ในท่าทีเดียวกันเสมอมาเมื่อประสบกับนายด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว
แม้ไทย-ลาวและสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะปลอดการทำวีซ่ามาแล้วเป็นปี
แต่ค่าประทับตราเข้า-ออกประเทศยังต้องจ่ายอยู่ดี ในอัตราที่ไม่แน่นอน
บ้างว่าเป็นค่าล่วงเวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่บางครั้งวันธรรมดาในบางด่านก็ต้องจ่าย
และก็มีอีกเหมือนกัน บางทีก็ไม่มีการเก็บเงินค่าประทับตรา เราจึงคำนวณไม่ได้ว่า
จะต้องจ่ายเท่าไรไว้ล่วงหน้า
เช่นเดียวกันกับตารางเวลาการเดินรถหรือการนัดหมาย
อาจขึ้นอยู่กับจำนวนคนและสภาพภูมิประเทศทำให้บางคนอาจหงุดหงิดง่ายหากติดอารมณ์นักบริหารจัดการแบบเส้นตรง

เราจ่ายคนละสิบบาท รวมสี่คนก็เป็นสี่สิบบาทในคราแรก ทว่าหูของเราคงเพี้ยน
เจ้าหน้าที่ย้ำอีกครั้งว่า คนละห้าสิบบาท กลายเป็นสองร้อยบาท
อันที่จริงแล้วผมไม่ติดใจอะไรหรอก
ทว่าทำให้หวนคิดถึงครั้งหนึ่งที่เคยนั่งเรือจากเชียงของไปหลวงพระบาง
ระหว่างแขวงบ่อแก้วเข้าเขตแขวงอุดมไซ
นักท่องเที่ยวผ่านไปโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านแดนของแขวงภายในลาว
แต่คนลาวต้องจ่ายค่าผ่านแดนเพิ่มจากค่าเรือ หากจะผ่านแดนไปยังอีกแขวง แน่นอนว่า
นี้คือภาพจำลองของการปะทะกันของโลกภายนอกที่เสรีกับโลกภายในของคนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ติดที่
ทว่าในแง่หนึ่งก็ทำให้คนท้องถิ่นได้อยู่สืบสานรากฐานของเมืองไว้ได้
แต่คำถามสำคัญที่น่าสนใจว่า
แล้วคนลาวท้องถิ่นจะอยู่ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ปีหน้าลาวก็จะเปิดการค้าเสรีกับองค์การการค้าโลก
(WTO)

ไม่ต้องคิดมากหรอก มันเป็นคำถามที่คนไทยท้องถิ่นต่างๆ
เองก็ยังปรับสู้กันอยู่อย่างเหนื่อยอ่อน อีกอย่างที่ผมหวนคิดแทนคนลาว
เพราะว่าในกลุ่มของเราครานี้ มีคนลาวร่วมทางอยู่ด้วย สองในนั้นชัดเจนว่า
เป็นคนยวนหรือลาวเฉียง (ล้านนา) อีกหนึ่งเป็นลาวอีสาน-อุบลราชธานี
คำเว้าจาก็คือกันกับลาวใต้
ส่วนอีกหนึ่งคือผู้เชื้อเชิญเราและสนับสนุนเราในการเดินทางคือผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมศักยภาพแม่หญิงและชุมชน(กลุ่มท้อนเงิน)
พี่ตุ่น-มณฑา อัจริยกุล ซึ่งโครงการความร่วมมือกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
(องค์การมหาชน)ของรัฐบาลไทยกับสหพันธ์แม่หญิงลาวในเรื่องการออมเงินมาหลายปี
พี่ตุ่นน่าจะเรียกว่าเป็นคนลาวไปแล้วเหมือนกัน
ส่วนผมนั้น
ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นใคร ระบุได้เพียงว่า
เป็นผู้มาอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงและเกิดบนแผ่นดินใหญ่แห่งอุษาคเนย์ตรงตอนกลางของแหลมมาลายู
ผมจึงนำก้น (ตาม) ลาว (เขา) ไปเที่ยวเมืองลาวเด้อ...

ไม่มีความคิดเห็น: